การที่นักเรียนมีผลการเรียนที่ไม่ดีหรือมีคะแนนต่ำเป็นประเด็นที่ดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักเรียนที่เรียนไม่เก่งและทำให้การแก้ไขในประเด็นปัญหานี้มักถูกมองข้ามเพราะคาดว่า เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้นก็คงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ หรือไม่ก็คิดว่าไม่เป็นไรเพราะเป็นเพียงผลการเรียนเฉพาะตัวของนักเรียนเท่านั้น แต่สำหรับ Andreas Schleicher ซึ่งเป็น Director for Education and Skills ของ OECD ได้ชี้ถึงประเด็นนี้ว่า การมีผลการเรียนรู้ต่ำจะส่งผลในระยะยาวและยากที่จะชดเชยได้ในอนาคตทั้งในระดับส่วนตัวของนักเรียนเองและส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
การประเมินใน PISA 2012 มีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนหนึ่งในสี่ที่แสดงความสามารถต่ำกว่าระดับพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งวิชา (วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์) แต่นักเรียนไทยมีถึงครึ่งหนึ่งที่แสดงความสามารถต่ำกว่าระดับพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องใช้ทักษะขั้นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น การประกอบอาชีพการงาน และ/หรือมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจสังคมหรือในฐานะพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมสมัยใหม่ เมื่อประเทศมีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ขาดทักษะขั้นพื้นฐานก็จะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และในความเป็นจริง ผลผลิตทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากนโยบายและแนวปฏิบัติทางการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพทำให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง
ในอีกแง่มุมหนึ่งของการทำนายการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำย่อมขึ้นอยู่กับความรู้และทักษะของเยาวชน นั่นคือ ถ้าเยาวชนอายุ 15 ปี ทุกคนมีทักษะอย่างน้อยในระดับพื้นฐานตามนิยามของ PISA ในอีก 80 ปี ข้างหน้า จะทำให้ประเทศเหล่านี้มี GDP เพิ่มสูงขึ้นถึง 13 เท่าของปัจจุบัน หรือโดยเฉลี่ยจะมีการเติบโตของ GDP สูงขึ้น 28% สำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง โดยทั่วไปแล้ว เยาวชนจะมีผลการเรียนรู้อยู่ในระดับสูงจะมีการเติบโตของ GDP สูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 16% แต่ประเทศเหล่านี้ก็จะได้รับผลพวงจากการขาดทักษะอย่างน้อยในระดับพื้นฐานของเยาวชน เช่น ประเทศออสเตรเลียคาดว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีนักเรียนหนึ่งในห้าที่มีทักษะต่ำกว่าระดับพื้นฐาน หรือมีมูลค่าความสูญเสียประมาณ 2,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย หากพิจารณาถึงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แล้วนำจำนวนเงินดังกล่าวมาให้ครูใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนจะเป็นอย่างไร (Schleicher, A., 2016)
การลดจำนวนนักเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำไม่ได้มีผลดีต่อตัวนักเรียนเองเท่านั้น แต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาในภาพรวมและความเท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจากนักเรียนที่มีผลการเรียนรู้ต่ำมักมาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ การยกระดับนักเรียนที่มีผลการเรียนอ่อนจึงเป็นการยกระดับความเท่าเทียมกันไปด้วยกัน
ปัจจัยสำคัญของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง
ในบริบทของ PISA ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง หมายถึง ระบบการศึกษาที่นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และมีนักเรียนที่มีความรู้และทักษะไม่ถึงระดับพื้นฐานในสัดส่วนที่ต่ำกว่าเฉลี่ย OECD ซึ่งในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างสองระบบการศึกษาว่า ปัจจัยใดที่ส่งผลให้ระบบการศึกษามีคุณภาพ
ระบบการศึกษาและครูในมณฑลเซี่ยงไฮ้
แม้มณฑลเซี่ยงไฮ้จะไม่ใช่ตัวแทนของประเทศจีนหรือไม่ใช่ตัวแทนของลักษณะประชากรของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกก็ตาม แต่ผลการศึกษาของมณฑลเซี่ยงไฮ้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ใน PISA 2012 มณฑลเซี่ยงไฮ้มีคะแนนสูงสุดทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ (ใน PISA 2015 ประเทศจีนยังได้ประเมินเพิ่มอีกสามมณฑลรวมเป็นจีนสี่มณฑล ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เจียงซู และกวางตุ้ง แม้จะมีคะแนนเฉลี่ยลดลงแต่ก็ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศคะแนนสูง) ซึ่งมณฑลเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จเพราะมีระบบการศึกษาที่ดีและครูคุณภาพสูง (Liang, X., Kidwai, H., & Zhang, M., 2016) ระบบการศึกษาของมณฑลเซี่ยงไฮ้ได้ชื่อว่ามีคุณภาพเนื่องจากวิธีการดูแล สนับสนุน และจัดการครู ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน เหตุผลที่วิชาชีพครูได้รับการยกย่องในมณฑลเซี่ยงไฮ้ไม่ใช่เพราะครูได้รับค่าตอบแทนสูงเท่านั้น แต่เป็นเพราะครูมีวิธีการสอนที่ดีและมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ครูได้รับการสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นลักษณะการทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงวิธีการสอน รวมถึงการมีกรอบโครงสร้างมาตรฐานการเรียนรู้ที่ชัดเจน การประเมินผลนักเรียนเป็นประจำ และมีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกัน
ตัวแปรสำคัญที่สุดคือบุคลากรครูชั้นเลิศของมณฑลเซี่ยงไฮ้
ธนาคารโลกได้สำรวจโรงเรียนและวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการปฏิบัติของระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยรวบรวมข้อมูลเชิงลึกและบทเรียนจากความสำเร็จของมณฑลเซี่ยงไฮ้ พบว่า จุดเด่นด้านนโยบายคือการพัฒนาครูให้เป็นบุคลากรชั้นเลิศ และจากการสำรวจการจัดการเรียนการสอนระดับนานาชาติ (The Teaching and Learning International Survey หรือ TALIS) พบว่า โดยเฉลี่ยครูในมณฑลเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาประมาณหนึ่งในสามของเวลาเรียนทั้งหมดในการสอนในชั้นเรียนหรือคิดเป็นประมาณ 14 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (ค่าเฉลี่ย TALIS 19.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และครูในมณฑลเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาเพียง 8% ของเวลาเรียนทั้งหมดในการรักษาความเป็นระเบียบในห้องเรียน (ค่าเฉลี่ย TALIS 12% ของเวลาเรียนทั้งหมด) ทั้งนี้ ระบบการศึกษาของมณฑลเซี่ยงไฮ้ตระหนักถึงความต้องการของครูอย่างชัดเจนในการใช้เวลานอกห้องเรียน สำหรับเวลาที่เหลือของครูเซี่ยงไฮ้จะถูกใช้เพื่อการเตรียมการสอน การแนะแนว การตรวจให้คะแนนการบ้าน การสังเกตและให้คำปรึกษาเพื่อนครู และการพัฒนาวิชาชีพที่เน้นการปรับปรุงการเรียนการสอนเป็นหลัก ซึ่งการพัฒนาวิชาชีพเป็นส่วนสำคัญที่ครูต้องรับผิดชอบ (Liang, X., Kidwai, H. & Zhang, M., 2016)
ความสำเร็จเหนือความคาดหมายของระบบการศึกษาในเวียดนาม
การประเมินผล PISA 2015 ชี้ว่า เวียดนามมีผลการประเมินเหนือกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ทั้ง ๆ ที่เวียดนามเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งมีค่า GDP ไม่ถึงครึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือถ้าเทียบกับไทย ค่า GDP ของเวียดนามก็มีเพียงครึ่งหนึ่งของไทยเท่านั้น เท่าที่ข้อมูลปรากฏไม่มีประเทศที่มีรายได้ต่ำประเทศใดมีผลการศึกษาดีเท่าเวียดนาม เรื่องนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการการศึกษาที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เวียดนาม (Vietnam effect) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจะทำให้การศึกษามีคุณภาพสูงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้แม้จะมีรายได้ต่ำ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการปฏิวัติการศึกษาของประเทศอื่น ๆ ด้วย (Akmal, M., 2018)
รูป 1 แสดงคะแนนคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ใน PISA 2015 กับระดับรายได้ของประเทศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เวียดนามเป็นประเทศมีรายได้ต่ำแต่มีคะแนนสูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีรายได้สูงหลายประเทศ เพราะเหตุใดเวียดนามจึงยกระดับการศึกษาได้สำเร็จแล้วประเทศที่มีรายได้ต่ำอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซียและไทยจะทำเช่นเดียวกับเวียดนามได้หรือไม่
รูป 1 คะแนนคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ใน PISA 2015 กับระดับรายได้ของประเทศ
ที่มา: Dang, H. & Glewwe, P., December 2017 (based on data from PISA and World Bank WDI)
การศึกษาของเวียดนามเป็นที่สนใจและได้รับการจับตามองจากชาวโลกมานานแล้ว เช่น โครงการ Young Lives ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ได้ติดตามนักเรียนในเวียดนามและในอีกหลายประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2556 ได้สรุปว่า “การเรียนของนักเรียนเวียดนามยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง” (McAleavy T., 2018)
ความลับของเวียดนามคืออะไร?
สหราชอาณาจักรให้ความสนใจการศึกษาของเวียดนามอย่างมาก โดยองค์กร The Education Development Trust หรือ EDT ได้ใช้เวลาสองปีสอบถามผู้คนในสี่จังหวัดที่มีความแตกต่างกันของเวียดนาม เพื่อดูว่าระบบโรงเรียนในเวียดนามมีการทำงานกันอย่างไร และได้คำตอบว่า การศึกษาของเวียดนามมีคุณภาพเนื่องจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- พลังแห่งวัฒนธรรมและแรงบันดาลใจ พ่อแม่ชาวเวียดนามให้คำตอบทำนองเดียวกันว่า การมีผลการเรียนดีเป็นวิธีเดียวที่จะหลุดพ้นจากความยากจน และเมื่อถามถึงผลการประเมิน PISA ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษนอกจากเป็นเรื่องของ “วัฒนธรรมการเรียน” ซึ่งชาวเวียดนามมีมุมมองเช่นนี้อยู่แล้ว
นอกจากวัฒนธรรมการเรียนแล้วยังมีแง่มุมของระบบการทำงานภายในของเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่
- ทิศทางของนโยบายการศึกษาไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนโยบายการศึกษาของเวียดนามคงที่มากว่าสองทศวรรษ โดยรัฐบาลได้ลงทุนด้านการศึกษาอย่างมากนับตั้งแต่ปี 1990 และไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางหลัก คือ การเน้นความชัดเจนในเรื่องการเตรียมความพร้อมของเด็กก่อนวัยเรียน การปรับปรุงการฝึกหัดครูก่อนประจำการ การแสวงหาความเท่าเทียมทางการศึกษาโดยลดช่องว่างระหว่างนักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่และกลุ่มเล็ก
- การมีชุมชนการเรียนรู้ของวิชาชีพครู ซึ่งครูต้องแสดงถึงความเป็นมืออาชีพอย่างต่อเนื่องจากการตรวจสอบและให้คำปรึกษาในโรงเรียนโดยการประเมินตนเองและประเมินโดยเพื่อนครู ครูทุกคนต้องเป็นสมาชิก “กลุ่มวิชา” ซึ่งต้องมีการหมุนเวียนกันสังเกตการณ์เพื่อนร่วมงานแล้วให้ข้อมูลป้อนกลับ และมีการสนทนาวิชาชีพด้านการสอนอย่างจริงจัง
- การทุ่มเทการสอนในชั้นเรียนของครู ครูสามารถหาบทเรียนที่เหมาะกับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนได้ จุดเด่นอย่างหนึ่งครูเวียดนาม คือ ความสามารถในการให้ข้อชี้แนะกับนักเรียนเป็นรายบุคคลได้แม้ในชั้นเรียนจะมีนักเรียนมากกว่า 40 คน
- ครูใหญ่ให้ความสนใจการสอนในชั้นเรียน ครูใหญ่จะได้รับการแต่งตั้งจากผลงานการสอนที่เป็นเลิศ ในขณะเป็นครูใหญ่ไม่ได้ทำงานด้านบริหารเพียงอย่างเดียวแต่ยังคงต้องทำการสอนเป็นปกติ และต้องใช้เวลาในการติดตามการสอนของครูเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับและคำแนะนำแก่ครูด้วย
- การมีส่วนร่วมของพ่อแม่กับโรงเรียน นอกจากพ่อแม่ทุ่มเทให้กับการศึกษาของลูกแล้วยังมีความผูกพันและให้การสนับสนุนโรงเรียนเป็นอย่างดี
แม้ว่าเวียดนามจะเป็นประเทศยากจนแต่ก็มีแรงผลักดันสูง จึงเป็นประเทศแห่งแรงบันดาลใจของประเทศที่มีรายได้ต่ำที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศด้วยพลังของการศึกษาที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ ประเทศเกาหลีใต้ก็เคยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ แต่ต่อมารายได้ของเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไปมากและมีคุณภาพการศึกษาที่อยู่ในระดับที่เป็นเลิศ ส่วนไทยเองแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของเวียดนามจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นบ้างแต่คุณภาพการศึกษายังคงต้องได้รับการพัฒนาอย่างจริงจัง
ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่ระบบการศึกษาของประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำก็สามารถมีระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จได้หากมีพลังของความตั้งใจจริง มีระดับนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนไม่เปลี่ยนทิศทางตามความพอใจ มีกองทัพครูที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพ ข้อสำคัญที่สุด คือ การทุ่มเทการสอนในห้องเรียนของครู
อ่านเพิ่มเติม
- Akmal, M., (April 9, 2018), Vietnam’s Exceptional Learning Success: Can We Do That Too?, (Online), Available: https://www.cgdev.org/blog/vietnams-exceptional-learning-success-can-we-do-too, Retrieved May 8, 2019.
- Dang, H. & Glewwe, P. (December 2017), Well Begun, but Aiming Higher: A Review of Vietnam’s Education Trends in the Past 20 Years and Emerging Challenges, (Online), Available: https://www.riseprogramme.org/sites/www.riseprogramme.org/files/publications/RISE_WP-017_Dang%20%26%20Glewwe_0.pdf, Retrieved May 8, 2019.
- Liang, X., Kidwai, H., & Zhang, M., (2016), How Shanghai Does It: Insights and Lessons from the Highest-Ranking Education System in the World, Directions in Development, Washington, DC: World Bank, (Online), Available: https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/24000, Retrieved May 8, 2019.
- McAleavy, T., (2018), The secret to the success of Vietnam’s schools?, (Online), Available: https://www.tes.com/news/secret-success-vietnams-schools, Retrieved May 8, 2019.
- Schleicher, A., (July 19, 2016), Poor educational performance – the challenge for teachers and nations, (Online), Available: https://www.teachermagazine.com.au/columnists/andreas-schleicher/poor-educational-performance-the-challenge-for-teachers-and-nations, Retrieved May 8, 2019.
ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)