[INFOGRAPHICS] การศึกษาเวียดนาม เซี่ยงไฮ้ มีอะไรที่ไทยไม่มี

ผลคะแนน PISA 2015 ชี้ชัดว่าเวียดนามและเซี่ยงไฮ้ (ในที่นี้ ขอเรียกรวมๆ สี่มณฑลจีนว่า เซี่ยงไฮ้) ต้องมีอะไรดีแน่ ๆ ที่ทำให้คะแนน PISA 2015 สูงเป็นอันดับต้น ๆ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม OECD ในขณะที่ประเทศไทยไม่อยู่ในกลุ่มคะแนนสูง แถมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

สร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ความท้าทายที่ต้องดำเนินการ

ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จอาจไม่ใช่ระบบการศึกษาของประเทศที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำก็สามารถมีระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จได้หากมีพลังของความตั้งใจจริง มีระดับนโยบายที่มีเป้าหมายชัดเจนไม่เปลี่ยนทิศทางตามความพอใจ มีกองทัพครูที่มีคุณภาพและเป็นมืออาชีพ ข้อสำคัญที่สุด คือ การทุ่มเทการสอนในห้องเรียนของครู

นักเรียนไทยล้าหลังเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน

ผลการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ PISA 2015 เปิดเผยว่า นักเรียนไทยมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้และแก้ไขให้ขึ้นมาเท่าเทียมกัน ในประเทศเราเอง นักเรียนกลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนมีการเรียนรู้ต่างกันมาก แล้วระบบจะทอดทิ้งเด็กกลุ่มอ่อนเหล่านั้นหรือ ในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นถูกคาดหวังว่าจะเติบโตเป็นกำลังของชาติที่มีคุณภาพในอนาคตแทนที่จะเป็นตัวถ่วงหรือเป็นภาระของชาติ ระบบจึงไม่อาจทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มใดได้

การศึกษาเวียดนาม: ทำไมนักเรียนจึงมีผลการประเมินสูง

ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการยกระดับนั้นมีข้อมูลที่ชี้บอกถึงจุดอ่อนของระบบของชาติ และจุดแข็งของระบบอื่น ๆ ที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ข้อมูลและสาระดี ๆ เหล่านั้นไม่เคยถูกใช้ เพราะระบบไทยมักตัดสินอยู่บนฐานความคิดเห็นและความพอใจมากกว่าบนฐานของข้อมูล