[INFOGRAPHICS] การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจากมุมมองของ PISA

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 54 “การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจากมุมมองของ PISA


บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า การบูลลี่ (bullying) ในประเด็นที่น่าสนใจต่อไปนี้

  • การกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ (bullying) หมายถึงอะไร
  • สถานการณ์ของปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นอย่างไร
  • ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของไทยเป็นอย่างไร
  • นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีลักษณะอย่างไร
  • แนวทางการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

การกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ (bullying) หมายถึงอะไร

การกลั่นแกล้ง หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า การบูลลี่ (bullying) เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการกระทำให้บุคคลที่อ่อนแอกว่าได้รับอันตรายทางร่างกายหรือรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจจากการกระทำอย่างซ้ำ ๆ ด้วยความตั้งใจ โดยจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เพศ เชื้อชาติ และรูปลักษณ์ภายนอก
การกลั่นแกล้งหรือการบูลลี่ (bullying) หมายถึงอะไร

ในปัจจุบันการกลั่นแกล้งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางร่างกาย การกลั่นแกล้งทางวาจา การกลั่นแกล้งทางสังคม และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) ซึ่งหากการกลั่นแกล้งนั้นเกิดขึ้นในหมู่เยาวชนจะยิ่งมีผลกระทบทางลบที่รุนแรงทั้งต่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ

สถานการณ์ของปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นอย่างไร

จาก PISA 2018 พบว่า ทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินต่างรายงานว่าพบปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จากค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 23% ที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนและมีนักเรียน 8% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ

สำหรับประเทศไทยพบว่า มีนักเรียน 27% ที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนและมีนักเรียน 13% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ

ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของไทยเป็นอย่างไร

PISA 2018 พบว่า มีการกลั่นแกล้งทางวาจาและทางสังคมมากกว่าการกลั่นแกล้งทางร่างกายในหลายประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า มีนักเรียนประมาณ 9% – 14% ที่รายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งทางวาจาและทางสังคมอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน และมี 7% ที่รายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม พบว่าร้อยละดังกล่าวมีความแตกต่างมากเมื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเกิดจากความแตกต่างของวัฒนธรรมและแบบแผนทางสังคมที่ส่งผลต่อการรับรู้ของนักเรียนต่อความรุนแรงประเภทต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยพบว่า นักเรียนไทยรายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งแต่ละประเภทในสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีลักษณะอย่างไร

การศึกษาลักษณะเฉพาะของนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งอาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป

PISA จึงได้เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างนักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนกับนักเรียนที่รายงานว่าไม่ได้ถูกกลั่นแกล้ง โดยผลการเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละด้านของนักเรียน ได้แก่ เพศ สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ระดับชั้นที่นักเรียนอายุ 15 ปี กำลังศึกษาอยู่ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แสดงดังภาพ

แนวทางการแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

การกลั่นแกล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสภาพจิตใจและสุขภาพทางกายของวัยรุ่น โดยการถูกกลั่นแกล้งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า การรู้สึกวิตกกังวลและโดดเดี่ยว รวมถึงการเคารพตนเองต่ำ

ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก PISA 2018 ที่พบว่า นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำจะรู้สึกเศร้าใจ หวาดกลัว และไม่พึงพอใจกับชีวิตมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ การกลั่นแกล้งจึงมักเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาที่ติดตัวนักเรียนไปในอนาคตหรืออาจนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด

ดังนั้น การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจึงไม่ใช่เพียงปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโรงเรียนและครอบครัว


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/145276782175385/posts/3148838505152516/