โรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมืองแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

ความท้าทายอย่างหนึ่งของรัฐคือการประกันว่า จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าโรงเรียนจะอยู่พื้นที่ใดในประเทศ เนื่องจากโรงเรียนในชนบทมีความห่างไกลและมีขนาดเล็กซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาวิชาชีพครูและการจัดการศึกษาที่หลากหลายสำหรับนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อได้เปรียบที่อัตรานักเรียนต่อครูต่ำ ก็อาจเปิดโอกาสให้โรงเรียนในชนบทสร้างนวัตกรรมการเรียนได้ง่ายกว่า เช่น การใช้ครูจากบุคลากรในท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในโรงเรียนชนบทด้วยกัน หรือการนำเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลมาใช้ในการเรียนการสอน การรวมพลังท้องถิ่นที่สร้างสมรรถนะและทรัพยากรเหล่านี้เป็นหนทางให้สามารถลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบทลงได้

ครูในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร

ทุกประเทศไม่เน้นแต่การเพิ่มจำนวนครู แต่ต้องดูคุณสมบัติ ประสบการณ์ และประสิทธิผลของครู ความพยายามในการส่งเสริมนักเรียนด้อยโอกาสจะสำเร็จได้ต้องเพิ่มครูดี-ครูเก่งให้มากกว่าการเพิ่มจำนวนครู โรงเรียนด้อยโอกาสควรได้รับการจัดสรรครูคุณภาพสูง และรัฐต้องมีมาตรการชดเชยครูคุณภาพสูงที่สอนในโรงเรียนด้อยโอกาส ครูดี-ครูเก่ง คือ ครูที่สามารถสอนนักเรียนให้มีผลการเรียนพลิกความคาดหมายได้ ไม่ใช่ครูที่สอนในโรงเรียนที่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนที่เก่งอยู่แล้วเข้ามาในโรงเรียน เพราะนักเรียนเหล่านั้นเก่งได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับครูมากนัก

ตัวแปรด้านโรงเรียนของระบบที่ประสบความสำเร็จ

การที่นักเรียนไทยมีผลการประเมิน PISA ต่ำ ข้อมูลชี้ว่า มีเหตุปัจจัยประกอบหลายอย่าง นอกเหนือจากทางวิชาการแล้วยังมีการจัดการทางการเรียน สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศทางระเบียบวินัย ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการและแนวปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ส่งผลทางบวก ถ้าระบบมีการจัดการที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ นักเรียนอาจมีแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้การเรียนรู้มีคุณภาพขึ้นและมีความยั่งยืนมากกว่า

ประเทศใดสามารถทำให้เด็กด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ

นักเรียนด้อยโอกาสด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมักพบอุปสรรคในการเรียนทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ และความสามารถในการเรียนและการมีส่วนร่วมสร้างสังคมในอนาคตก็จะถูกจำกัดไปด้วย การขจัดอุปสรรคทางการศึกษาเป็นเป้าหมายหนึ่งของทุกระบบการศึกษา โดยการประกันว่า นักเรียนด้อยโอกาสจะได้เรียนในชั้นเรียนที่มีระเบียบวินัยและส่งเสริมการเรียนด้วยตัวแปรอื่น ๆ ที่โรงเรียนสามารถทำได้

การประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์จาก PISA ชี้นัยใดบ้าง

นักเรียนที่ชอบเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์มักต้องการศึกษาต่อและประกอบอาชีพการงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี โรงเรียนจึงมีหน้าที่ทำให้นักเรียนผูกพันกับวิทยาศาสตร์และเรียนได้ดีแทนการกีดกันหรือตัดสิทธิ์ไม่ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก

นัยทางการศึกษาที่ PISA 2015 ต้องการชี้บอกระดับนโยบาย

สาระทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ PISA 2015 ต้องการจะชี้บอกถึงระดับนโยบายว่า คุณภาพการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความพยายามที่ได้ผลของการยกระดับการเรียนรู้ คือ การใช้ข้อมูลป้อนกลับจากการศึกษาวิจัยที่ได้ทำมาอย่างละเอียด ครอบคลุม และนี่คือสิ่งที่ข้อมูลชี้บอก

จุดอ่อนในระบบการศึกษาไทย

ผลการประเมินวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อสิบปีที่แล้วยังคงมีคะแนนต่ำและคงที่ ผลการวิจัยชี้ถึงหลายตัวแปรทางระบบโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อคะแนนที่ต่ำ เป็นต้นว่า ความเท่าเทียมทางการศึกษา แนวปฏิบัติในระบบโรงเรียน เวลาเรียน และ ครู

ประเด็นหลักจากผลการประเมิน PISA 2015

ผลการประเมินวิทยาศาสตร์เฉลี่ยของนักเรียนในประเทศบอกนัยถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งยกระดับ ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ดีมักต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลการประเมินยังชี้ถึงผลกระทบของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอันมาจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำให้ผลกระทบลดหรืออ่อนลงได้โดยการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าด้วยการเสริมทรัพยากรทางการเรียนที่มีคุณภาพต่อการเรียนรู้

ความเป็นธรรมทางการศึกษาเป็นอย่างไร

ข้อมูลจากการวิจัยนานาชาติชี้ว่า ทรัพยากรการเรียนเป็นตัวแปรที่อิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม สามารถลดอิทธิพลของตัวแปรนี้ลงได้ ความเป็นธรรมทางการศึกษา มิได้มีความหมายถึงการให้ทรัพยากรที่เท่ากันหมด เพราะว่าการให้ที่เท่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพราะคนที่มีต้นทุนเดิมมากยังคงมีมากเหนือคนอื่นอยู่ดี และคนที่มีต้นทุนเดิมน้อยก็ยังมีน้อยเหมือนเดิม ระบบที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบ แต่ให้การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม

ประเทศใดได้ชื่อว่ามีระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์จะเป็นที่สนใจของหลายฝ่าย แต่การจะนำระบบของฟินแลนด์มาใช้อาจไม่ง่าย เพราะฟินแลนด์กับไทยมีบริบทที่แตกต่างกันมากทั้งทางด้านประชากรและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมในการให้คุณค่ากับครู แต่ก็มีบางอย่างในระบบของฟินแลนด์ที่อาจเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เช่น การผลิตครูคุณภาพสูง การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมทางการเรียนที่ไม่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนเก่งเข้าโรงเรียนและปล่อยทิ้งนักเรียนอ่อนให้เป็นพวกเหลือทิ้ง ไม่แบ่งแยกนักเรียนเก่ง-นักเรียนอ่อนออกจากกัน เพราะการแบ่งแยกนักเรียน คือ การแบ่งแยกครูไปด้วยในตัว ถ้าระบบโรงเรียนทำได้ การลงทุนทางการศึกษาอาจคุ้มค่าขึ้นมาบ้างก็ได้

1 2