จุดอ่อนในระบบการศึกษาไทย

การประเมิน PISA 2015 มีวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลัก และรายงานผลเป็นคะแนนมาตรฐานซึ่งมีค่าเฉลี่ย OECD ที่ 493 คะแนน (Score points) ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนวิทยาศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรก (Top ten) ได้แก่ สิงคโปร์ (556) ญี่ปุ่น (538) เอสโตเนีย (534) จีนไทเป (532) ฟินแลนด์ (531) มาเก๊า-จีน (529) แคนาดา (528) เวียดนาม (525) ฮ่องกง-จีน (523) และจีน-4 มณฑล[1] (515) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบรรดากลุ่มสิบอันดับแรกนี้เป็นประเทศในเอเชียถึง 7 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจด้วยกัน ประเทศในเอเชียรวมทั้งเวียดนามซึ่งเพิ่งเข้าสอบสองครั้ง มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ยกเว้นไทยและอินโดนีเซีย และเมื่อเรียงตามคะแนนเฉลี่ยเพียงอย่างเดียวโดยไม่ดูข้อมูลอื่นประกอบ ประเทศไทยจะอยู่ในตำแหน่งประมาณที่ 54 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับมอลโดวา แอลเบเนีย ตุรกี ตรินิแดดและโตเบโก คอสตาริกา กาตาร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก ทั้งนี้ประเทศในเอเชียที่มีคะแนนต่ำกว่าไทย คือ อินโดนีเซีย (ทั้งนี้มาเลเซียเข้าร่วมสอบ PISA 2015 ด้วย แต่มีจำนวนโรงเรียนที่ตอบรับเป็นกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงเกณฑ์ที่ OECD กำหนด จึงไม่มีผลในรายงาน)


[1] ประเทศจีนเข้าร่วมการประเมิน PISA ใน 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง

นอกจากนี้ PISA ยังขยายภาพให้ข้อมูลที่ละเอียดเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อระบบจะได้ใช้ปรับปรุงแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น โดยรายงานเป็นระดับการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ 6 ระดับ เริ่มจากระดับต่ำสุด (ระดับ1) จนถึงระดับสูงสุด (ระดับ 6) หรืออาจบอกคุณภาพเป็นกลุ่มรวม เช่น ที่ระดับ 5 และ 6 จัดว่าเป็นระดับสูง ระดับ 3 และ 4 จัดเป็นระดับปานกลาง และระดับ 2 เป็นระดับพื้นฐานต่ำสุด ที่นักเรียนเริ่มแสดงว่ารู้และสามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ในชีวิตจริงได้ในระดับต่ำ (Minimum requirement) แต่ถ้าต่ำกว่าระดับ 2 ลงไป แสดงว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นักเรียนแสดงว่า มีความสามารถไม่ถึงระดับพื้นฐานและไม่สามารถใช้วิทยาศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตจริงได้

สัดส่วนของจำนวนนักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับพื้นฐานเป็นตัวเลขที่ระบบการศึกษาของทุกประเทศให้ความสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่ชี้นัยถึงความไม่พร้อมของประเทศในการเตรียมต้นทุนมนุษย์สำหรับการแข่งขันในอนาคต ดังนั้น ถ้าจะจำแนกประเทศในเอเชียเป็นประเทศกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำ ตามสัดส่วนของนักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับพื้นฐานเป็นเกณฑ์จะจำแนกได้เป็นกลุ่มสูง มีนักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับพื้นฐานน้อย (เวียดนาม ฮ่องกง-จีน มาเก๊า-จีน สิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน-4 มณฑล) และกลุ่มต่ำ มีนักเรียนไม่ถึงระดับพื้นฐานมาก (ไทยและอินโดนีเซีย) ไทยมีนักเรียนเกือบครึ่งที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน (46%) และมีนักเรียนที่รู้วิทยาศาสตร์สูงกว่าระดับพื้นฐานประมาณหนึ่งในห้า (21%) ส่วนประเทศที่มีรายได้สูงมักมีนักเรียนที่มีผลการประเมินสูงกว่าระดับพื้นฐานมากกว่า 80% เช่น แคนาดา ฟินแลนด์ และประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง-จีน ญี่ปุ่น มาเก๊า-จีน ส่วนประเทศรายได้ต่ำส่วนมากมีนักเรียนที่มีผลการประเมินสูงกว่าระดับพื้นฐานประมาณ 20% หรือต่ำกว่า

จาก PISA 2006 ถึง PISA 2015

จาก PISA 2006 ที่มีวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลักครั้งแรก จนถึง PISA 2015 ซึ่งมีวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลักอีกครั้ง ในช่วงเวลานี้ นักเรียนไทยไม่มีสัญญานความก้าวหน้าแต่อย่างใด (ทั้ง PISA 2006 และ PISA 2015 มีคะแนน 421 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เทียบเท่ากับเวลาที่เรียนในโรงเรียนที่ต่างกันถึงสองปีครึ่ง และยังมีสัญญาณที่ไม่พึงประสงค์ คือ สัดส่วนนักเรียนที่มีผลการประเมินไม่ถึงระดับ 1 เพิ่มขึ้น และสัดส่วนนักเรียนที่ระดับ 2 และระดับ 3 ลดลง แม้จะเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรให้เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีนักเรียนไทยถึง 13% ที่มีผลการประเมินต่ำจนไม่สามารถจัดระดับได้ (ค่าเฉลี่ย OECD มี 5.5%) ขณะที่ประเทศในเอเชียกลุ่มคะแนนสูงเกือบไม่มีนักเรียนกลุ่มนี้ ลองมาดูกันว่าตัวแปรใดที่ส่งผลกระทบให้นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยต่ำ

ความเท่าเทียมทางการศึกษา

ความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมทางการศึกษา (Equity in Education) เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพ การเรียนรู้ของนักเรียนทั้งระบบ การศึกษาทุกระบบมีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเฉพาะโอกาสการเข้าถึงโรงเรียนเท่านั้น หากแต่หมายถึงความเท่าเทียมในคุณภาพการศึกษาที่นักเรียนพึงได้รับด้วย แต่สำหรับระบบการศึกษาไทย นักเรียนต่างกลุ่มโรงเรียนมีผลการประเมินที่แตกต่างกันในช่องว่างกว้างมาก พิสัยของคะแนนเฉลี่ยจากกลุ่มสูงสุดถึงต่ำสุดมีช่องว่างเทียบเท่ากับเวลาที่เรียนในโรงเรียนที่ต่างกันมากกว่า 6 ปี ทั้งนี้ คะแนนเฉลี่ย OECD สำหรับวิทยาศาสตร์ คือ 493 คะแนน นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งมีคะแนนสูงที่สุด และกลุ่มโรงเรียนสาธิตเท่านั้นที่มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD นอกนั้นทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งหมด สำหรับกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดเป็นกลุ่มโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน

ถ้ามองในแง่มุมของลักษณะของโรงเรียนที่แตกต่างกันมากมาประกอบการพิจารณา กรณีที่โรงเรียนมีความแตกต่างกันมาก การเปรียบเทียบตรง ๆ อาจให้ข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ ดังนั้น ถ้าตัดกลุ่มโรงเรียนที่มีคะแนนสูงสุดกับต่ำสุดออกไปจากการวิเคราะห์ เช่น โรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะของโรงเรียน การสนับสนุน ทรัพยากร และที่สำคัญคือเงินอุดหนุนนักเรียนต่อหัวที่ต่างจากโรงเรียนทั่วไปนับสิบเท่าตัว และคุณภาพของครูที่ไม่อาจเทียบกับโรงเรียนทั่วไปได้ จึงไม่ควรนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน และตัดกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาที่คะแนนต่ำสุดออกไป เหลือการวิเคราะห์ระหว่างกลุ่มโรงเรียนสาธิตกับโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไป กลุ่มสูงก็ยังมีคะแนนห่างจากกลุ่มต่ำ ในช่องว่างที่ห่างกันมาก เทียบเท่ากับเวลาที่เรียนในโรงเรียนมากกว่าสี่ปี ถ้าคิดในเงื่อนไขทำนองเดียวกันโดยกลุ่มโรงเรียนสาธิตก็มีลักษณะของโรงเรียน ครู ทรัพยากร และเงื่อนไขที่แตกต่างจากโรงเรียนมัธยมศึกษาทั่วไปมาก แล้ววิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะโรงเรียนมัธยมศึกษาปกติด้วยกัน พบว่า กลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำที่เหลือก็ยังคงต่างกันเท่ากับเวลาที่เรียนในโรงเรียนที่ต่างกันประมาณสองปี ข้อมูลจึงยืนยันถึงความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาที่เด่นชัดมากในระบบโรงเรียนไทย

แนวปฏิบัติระบบโรงเรียนที่ไม่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้

นอกจากความไม่เท่าเทียมกันด้านการจัดสรรทรัพยากร ครู และเงินอุดหนุนที่มาจากระดับนโยบายแล้ว ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับระบบโรงเรียนที่พบว่าไม่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ ซึ่ง PISA ได้สำรวจและวิเคราะห์วิธีปฏิบัติของระบบโรงเรียน ทำให้ทราบถึงข้อมูลระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการจัดการของระบบโรงเรียน วิธีการ หรือแนวปฏิบัติ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางการเรียน สาระที่พบทำให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่าการจัดการในระบบโรงเรียนไทยยังมีหลายประเด็นที่ไม่ส่งผลทางบวกต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนหลายประเด็นด้วยกัน เป็นต้นว่า

การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยการแข่งขันทางวิชาการ ทำให้โรงเรียนดีและมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสามารถดึงดูดนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับเดียวกันได้หมด แต่นักเรียนอ่อนและนักเรียนยากจนต้องไปรวมกันอยู่ในโรงเรียนที่มีสถานะในระดับเดียวกัน จึงทำให้ตัวแปรทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลกระทบมากขึ้น ผลการเรียนรู้ของนักเรียนจึงเป็นผลจากตัวแปรนั้นมากกว่าจะมาจากการเรียนการสอนโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนที่ด้อยกว่าก็มีโอกาสที่จะมีครูและทรัพยากรการเรียนที่ดีน้อยกว่า ผลกระทบทางลบยิ่งมีมากขึ้น ประเทศคะแนนสูงหลายประเทศไม่มีการสอบคัดเลือกนักเรียน เช่น ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในเอเชีย

การแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ การแยกชั้นเรียนถาวร การแบ่งกลุ่มนักเรียนเก่ง-อ่อน การแยกนักเรียนอ่อนไปรวมไว้ด้วยกัน เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลทางลบเพราะนักเรียนอ่อนได้แต่รวมกลุ่มกันเอง จึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการเรียนของนักเรียนที่เรียนดี ใน PISA 2015 ค่าเฉลี่ย OECD ได้ชี้ว่า การแยกกลุ่มนักเรียนส่งผลให้คะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำลง 4 คะแนน ก่อนอธิบายด้วยตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและนักเรียน และหลังจากอธิบายด้วยตัวแปรนี้แล้วคะแนนก็ยังต่ำลง 3 คะแนน

ตัวแปรทางวัฒนธรรม นักเรียนไทยยังอ่อนในด้านวัฒนธรรมการให้ความสำคัญแก่การศึกษาเล่าเรียน ความขยันและการทำงานหนัก ต่างจากนักเรียนเกาหลี ญี่ปุ่น และแม้แต่เวียดนามที่มีนักเรียนขยันเรียน ทำงาน (เรียน) อย่างหนักและมีวินัยสูง โรงเรียนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับด้านนี้ ไม่ได้เน้นวินัย ดัชนีระเบียบวินัยของนักเรียนจึงต่ำ เมื่อเทียบกับนักเรียนในเอเชียอื่น ๆ แต่โรงเรียนไทยกลับเน้นความเป็นระเบียบภายนอก เช่น ผมสั้น กระโปรงยาว ถ้าผิดจากนั้นต้องมีการลงโทษซึ่งบางครั้งน่าจะทำให้นักเรียนขาดความมั่นใจที่จะอยู่ในโรงเรียน ดังนั้น นโยบายที่เน้นย้ำให้นักเรียนเก่ง ดี มีความสุข น่าจะเกิดได้ยาก

การใช้เวลาเรียนในโรงเรียนไทย นักเรียนใช้เวลาเรียนมาก เพราะมีวิชาเรียนมาก แต่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของการให้เวลาเรียนดังที่มีการอ้างถึงกัน ประเทศอื่นที่นักเรียนใช้เวลาเรียนน้อยกว่านักเรียนไทย เช่น ฮ่องกง-จีนใช้เวลาเรียน 700 ชม./ปี ในขณะที่ไทยใช้เวลาเรียน 1,200 ชม./ปี อย่างไรก็ตาม การใช้เวลาเรียนต้องดูประกอบกับจำนวนวิชาที่เรียนและการให้ลำดับความสำคัญแก่วิชาด้วย จากการสำรวจของ PISA ฮ่องกง-จีนมีเวลาเรียนตามตารางปกติ 697 ชม./ปี แต่ให้เวลาเรียนคณิตศาสตร์ 267.6 นาที/สัปดาห์ ขณะที่ไทยมีเวลาเรียน 1,200 ชม./ปี แต่ให้เวลาเรียนคณิตศาสตร์ 205.9 นาที/สัปดาห์ แสดงว่านักเรียนไทยใช้เวลาทางด้านอื่น ๆ มากกว่าทำให้เรียนวิชาหลักได้น้อย

เวลาที่นักเรียนใช้ทำการบ้าน โรงเรียนไทยยังให้นักเรียนทำการบ้านมาก หรือมอบหมายงานให้ทำเกินเวลาที่นักเรียนจะสามารถทำได้ การใช้เวลาทำการบ้านมากไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้แต่กลับส่งผลทางลบ จากผลการสำรวจของ PISA 2015 ค่าเฉลี่ย OECD ชี้ว่า เวลาทำการบ้านที่เพิ่มขึ้นหนึ่งชั่วโมงส่งผลให้คะแนนวิทยาศาสตร์ลดลง 1.5 คะแนน นักเรียนไทยใช้เวลาทำการบ้าน (เฉลี่ย 5.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD (3.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ยิ่งไปกว่านั้น พ่อ-แม่ และตัวนักเรียนเอง ยังนิยมการเรียนพิเศษนอกเวลา นักเรียนจึงไม่มีเวลาจะย่อยทำความเข้าใจหรือทบทวนสิ่งที่เรียนมาจากโรงเรียน ข้อมูลจาก PISA ชี้ว่า การใช้เวลาทำการบ้านมากและการเรียนพิเศษนอกเวลาส่งผลกระทบทางลบต่อการเรียนรู้ แม้ว่าเวียดนามจะให้ลำดับความสำคัญแก่การศึกษามากที่สุด (World Bank, 2016) แต่เรื่องการกวดวิชานี้ กระทรวงศึกษาธิการของเวียดนามมีการออกกฎระเบียบควบคุมอย่างเข้มงวด (VeitNamNet Bridge, 2013) เวียดนามยอมให้มีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และภาษาญี่ปุ่น เท่านั้น (Ko H., 2016) เพราะถือว่าเป็นความต้องการของชาติ นอกจากนี้ ในเกาหลีใต้บางจังหวัด (มณฑล) ก็เริ่มทำให้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และหลายจังหวัดใช้กฎหมายบังคับเวลาปิด-เปิดโรงเรียน ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องเลิกกิจการไปเอง และปัจจุบันการกวดวิชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเกาหลี (Betchay, 2008)

ครูคือตัวแปรสำคัญที่สุด จากการวิจัยของ OECD ร่วมกับ Pearson’s Education ชี้แนะว่าในระบบการศึกษา ไม่มีอะไรที่ทดแทนครูดีได้ ครูดีไม่เพียงแต่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการเรียนรู้ของนักเรียนเท่านั้น แต่ยังทำให้นักเรียนมีการงานที่ดี รายได้สูงในอนาคต และมีนัยทางสังคมที่นักเรียนจะไม่ก่อปัญหาทางสังคม ไม่ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จมีองค์ประกอบที่เหมือนกันคือ สร้างวิถีทางวัฒนธรรมที่สามารถดึงดูดคนดีคนเก่งมาเป็นครู จัดให้มีการอบรมต่อเนื่อง ให้สถานะเท่าเทียมกับวิชาชีพอื่นที่ได้รับการยกย่องสูงในสังคม (Briggs, 2013) ทั้งนี้ ระบบฯ ควรจริงจังกับการส่งเสริมความเข้มแข็งทางวิชาชีพให้ครูไทย แทนการแสดงออกถึงความไม่เชื่อมั่นว่าครูมีความรู้พอที่จะสอนนักเรียน ซึ่งเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของครู

ผลการประเมินวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อสิบปีที่แล้วยังคงมีคะแนนต่ำและคงที่ ผลการวิจัยชี้ถึงหลายตัวแปรทางระบบโรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อคะแนนที่ต่ำ เป็นต้นว่า (1) ความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมทางการศึกษา เป็นตัวแปรสำคัญที่มีต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งระบบ ระบบที่นักเรียนมีคะแนนสูงมักมีความเท่าเทียมทางการศึกษาสูง (2) ในระบบโรงเรียนไทยมีแนวปฏิบัติที่มีความสัมพันธ์เชิงลบกับผลการเรียนรู้ (3) เวลาเรียนวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคะแนน แต่เวลาเรียนพิเศษนอกเวลามีความสัมพันธ์เชิงลบกับคะแนน นอกจากนั้นข้อมูลยังชี้ด้วยว่า เวลาที่ใช้ทำการบ้านมาก ๆ ไม่เป็นผลดีกับการเรียน (4) ครูดีคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ไม่มีอะไรที่ทดแทนครูดีได้ ดังนั้น ระบบจึงจำเป็นต้องหาทางดึงดูดคนดี คนเก่งเข้ามาสู่อาชีพครู และต้องรักษาครูดีไว้ในระบบ

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 387KB)