นัยทางการศึกษาที่ PISA 2015 ต้องการชี้บอกระดับนโยบาย

การประเมินการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ของ PISA แตกต่างจากการทดสอบความรู้ตามหัวข้อในประมวลรายวิชาวิทยาศาสตร์ที่เรียนตามหลักสูตรในโรงเรียน เพราะไม่เน้นที่ความรู้ในเนื้อหาวิชาแต่จะเน้นให้ความสำคัญกับความสามารถในการนำความรู้และทักษะไปใช้ได้จริงในชีวิตจริงและการทำงานในอนาคต ทั้งในระดับส่วนตัว ระดับชุมชนหรือสังคม และระดับโลก

สาระจากการประเมินผลครั้งนี้ นอกจากชี้ให้เห็นถึงความรู้และทักษะที่แตกต่างกันของนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีทั้งเศรษฐกิจดีและประเทศที่ยากจน บางประเทศมีนักเรียนที่มีความรู้และทักษะที่สามารถจะแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ระดับสูง ซึ่ง OECD ถือว่า เป็นตัวชี้บอกหนึ่งถึงอำนาจการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและการพัฒนาของชาติในอนาคต บางประเทศมีนักเรียนที่มีความรู้และทักษะเพียงพอแค่จะแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ที่มีความยากระดับปานกลาง บางประเทศก็มีนักเรียนที่มีสมรรถนะที่จะใช้วิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาในชีวิตจริงอยู่ที่ระดับต่ำมากในจำนวนนั้นมีนักเรียนไทยรวมอยู่ด้วย สัดส่วนนักเรียนที่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ในระดับต่ำ เป็นตัวชี้บ่งที่สำคัญถึงความสามารถในการมีส่วนร่วมในสังคมและในตลาดแรงงานของพลเมืองของชาติในอนาคต นักเรียนไทยเกือบ 50% แสดงสมรรถนะทางวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน ข้อมูลจึงชี้ถึงความอ่อนด้อยของระบบการศึกษา และชี้นัยให้เห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของชาติในอนาคต ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยนี้ยังชี้บอกถึงจุดอ่อนที่ปรากฏอยู่ในระบบโรงเรียนที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้และการปฏิบัติในระบบโรงเรียน เมื่อเทียบกับระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจุดอ่อนเหล่านั้นสามารถตัวชี้นัยถึงการแก้ไขปรับปรุงที่ชี้นำไปถึงจุดที่เป็นปัญหาได้ตรงประเด็นกว่าการคาดเดา

ผลการศึกษาชี้ว่า ผลการประเมินของนักเรียนมีความเชื่อมโยงกับความคาดหวังของนักเรียนที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ประเทศไทยได้เน้นย้ำเสมอมาเรื่องการสร้างกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น ระบบโรงเรียนจึงต้องสร้างนักเรียนให้มีความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับโรงเรียน เพราะเป็นวัยที่นักเรียนเริ่มถูกปลูกฝังให้รักและผูกพันกับวิทยาศาสตร์ การที่นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังมีพื้นฐานวิทยาศาสตร์ไม่เข้มแข็ง ความผูกพันที่จะไปต่อทางด้านนี้ในอนาคตจึงอาจคาดเดาได้ยาก และนั่นจะเป็นจุดอ่อนของชาติที่ไม่อาจบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพคนไทยสู่เป้าหมายได้ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการเข้าถึงนวัตกรรมในการผลิตและพัฒนาสินค้าและเทคโนโลยีเองได้ อันเป็นเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติที่ตั้งไว้ และจะตามเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ไม่ทันเพราะ ณ ปัจจุบันเวียดนามก็แสดงศักยภาพเหนือกว่าแล้วอย่างน้อยก็ด้านคุณภาพการศึกษาที่ได้ประจักษ์ต่อสาธารณะในการประเมิน PISA แล้ว

สิ่งแรกที่ระบบควรเข้าไปตรวจสอบ คือ กระบวนการเรียนการสอนว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ เช่น เป้าหมายของการสอนของครูคืออะไร เพื่อสร้างความรู้และทักษะ หรือเพื่อให้นักเรียนทำข้อสอบได้ เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป้าหมายของการเรียนของนักเรียน คือ เพื่อทำข้อสอบ จึงมีโรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นจนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ระบบการศึกษาควรทบทวนเป้าหมายที่ต้องการในการจัดการศึกษาว่าต้องการให้นักเรียนเป็นอย่างไร ตลอดจนต้องชี้นำค่านิยมของสังคมให้เห็นว่านักเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษาที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไร เท่าที่เป็นอยู่จะปรากฏค่อนข้างชัดว่า การสอบผ่าน (เข้าไปศึกษาระดับสูงขึ้น) คือ เป้าหมายหลัก ซึ่งจะประเมินได้จากจำนวน ประเภทของโรงเรียนกวดวิชา และการโฆษณาของโรงเรียนดังกล่าว ถ้านโยบายไม่เห็นว่า เรื่องนี้สำคัญและยังปล่อยให้เป็นไป คุณภาพของนักเรียนไทยก็คงเป็นเช่นนี้ต่อไป

ระบบควรต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ กติกา และเป้าหมายของการสอนของครูให้มีวิธีการสอนที่ทำให้นักเรียนคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความคิดเชิงตรรกะ มีความเข้าใจและให้คุณค่ากับธรรมชาติและที่มาของความรู้ มีความรักและต้องการเกี่ยวข้องผูกพันกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน มากกว่าการสอนเนื้อหาสาระความรู้และการเรียนพิเศษกวดวิชาเพื่อเอาความรู้ไปใช้สำหรับการสอบเท่านั้น (ข่าวสด, 13 พ.ย. 2560) ซึ่งนี่คือจุดอ่อนของการศึกษาไทย (กรุงเทพธุรกิจ, 30 ต.ค. 2558) ที่ถูกระบบมองข้ามเสมอมา

PISA 2015 บอกให้ทราบว่า จำนวนเวลาเรียนวิทยาศาสตร์และวิธีการสอนวิทยาศาสตร์เป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และความคาดหวังที่จะทำงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในอนาคตของนักเรียน สูงกว่าการที่โรงเรียนมีอุปกรณ์คุณภาพสูงและมีครูคุณวุฒิสูงในโรงเรียน สำหรับประเทศไทย กลุ่มโรงเรียนที่คะแนนสูงสุดจะมีเวลาเรียนมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (8.3 ชม./สัปดาห์) และโรงเรียนสาธิต (6.3 ชม./สัปดาห์) โรงเรียนสองกลุ่มนี้ได้เปรียบกว่าโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน ครูมีคุณวุฒิเหมาะสม และโรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรการเรียนที่สูงกว่ามาก คะแนนที่สูงกว่าจึงอาจมาจากตัวแปรอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนการสอน (OECD, 2016b)

PISA สอบถามนักเรียนถึงวิธีการสอนวิทยาศาสตร์ของครูในสี่วิธี ได้แก่ (1) ครูเป็นผู้นำการสอนโดยตรง (Teacher-directed instruction) โดยครูเป็นผู้อธิบายแนวคิดและหลักการทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้การสาธิต (2) การสอนที่ครูให้ข้อมูลป้อนกลับ (3) การสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียน และ (4) การสอนโดยใช้การสืบเสาะเป็นพื้นฐาน จากรายงานของนักเรียน พบว่า ครูใช้ทั้งสี่วิธีผสมกันในการสอนแต่อาจมีการใช้บางวิธีมากกว่า ข้อมูลสำหรับนักเรียนไทย เมื่อเทียบภายในโรงเรียนเดียวกัน ครูในโรงเรียนทุกกลุ่มใช้วิธีครูเป็นผู้นำการสอนโดยตรงสูงกว่าวิธีอื่น นักเรียนไทยรายงานว่าครูใช้วิธีสอนแบบนี้มากที่สุด ส่วนประเทศที่ใช้น้อยที่สุด คือ เกาหลี (OECD, 2016b)

ประเด็นความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันทางการศึกษา ผลการศึกษาชี้ว่า ความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกันในโอกาสทางการศึกษามีความเชื่อมโยงกับผลการเรียนรู้ และประเด็นนี้มักถูกละเลยมองข้ามตลอดมาในระบบโรงเรียนไทย นอกจากไม่สร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาแล้วยังมีการปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเท่าเทียมกัน ซึ่งผลการศึกษาของ PISA ชี้บอกว่าแนวปฏิบัติที่ระบบโรงเรียนไทยถือปฏิบัติอยู่นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความเท่าเทียมกันทางการศึกษาเพราะเป็นการส่งเสริมนักเรียนที่ได้เปรียบหรือมีโอกาสมากกว่าและกีดกันนักเรียนด้อยโอกาส การปฏิบัติดังกล่าว ได้แก่ การรับนักเรียนเข้าโรงเรียนโดยวิธีคัดเลือกแบบเข้มข้นทางวิชาการ นักเรียนด้อยเปรียบมีโอกาสน้อย การแยกสายการเรียนตั้งแต่ยังเล็ก การที่โรงเรียนแบ่งการเรียนการสอนมากมายหลายหลากเพื่อเตรียมสำหรับเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนักเรียนยังไม่มีวุฒิภาวะที่จะตัดสินใจเองได้ การแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถ ซึ่งทำให้นักเรียนอ่อนขาดโอกาสจะได้เรียนรู้จากวิธีการเรียนของเพื่อน และเกือบทุกกรณี นักเรียนกลุ่มอ่อนมักไม่มีโอกาสเรียนกับครูคุณภาพสูง เพราะครูเหล่านั้นมักจะต้องการสอนนักเรียนเก่งเท่านั้น นอกจากนั้น การจัดสรรทรัพยากรในระบบโรงเรียนไทยก็เป็นที่ทราบกันชัดเจนว่าโรงเรียนและนักเรียนด้อยโอกาสก็ยังคงด้อยโอกาสและขาดแคลนต่อไป

ความไม่เท่าเทียมกันในภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (ESCS) เป็นเรื่องปกติในทุกสังคม แต่มีความสำคัญทางการศึกษา เนื่องจากเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นธรรมดาที่นักเรียนที่มีภูมิหลังที่ด้อยเปรียบกว่ามักมีผลการประเมินต่ำ ความเป็นจริงในสังคมไทยเท่าที่ได้จากการสำรวจพบว่าระบบโรงเรียนไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างสูงในโรงเรียนต่างกลุ่ม ตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดจากกรณีโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดกับต่ำสุดของไทย ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนในเมืองใหญ่ (ดัชนี ESCS = 0.66) กับโรงเรียนกลุ่ม สพป. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในชนบท (ดัชนี ESCS = -1.96) ซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันเกือบสามหน่วยดัชนี และเป็นช่องว่างที่กว้างมาก ระบบโรงเรียนจึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องลดอิทธิพลของตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมนี้ ข้อมูลจาก PISA สามารถชี้ว่า โรงเรียนหรือนักเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ถ้าหากได้รับทรัพยากรการเรียนที่เหมาะสมและพอเพียงก็จะสามารถลดอิทธิพลจากตัวแปรนี้ลงได้

แต่ความจริงในระบบโรงเรียนไทยมิได้เป็นเช่นนั้น ข้อมูลทรัพยากรการเรียนของโรงเรียนสองกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นไปในทำนองที่จะลดผลกระทบของตัวแปรดังกล่าว เพราะพบว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบเหล่านั้นยังคงเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรอย่างหนัก เมื่อเทียบดัชนีทรัพยากรการเรียนของกลุ่มสูงสุดกับกลุ่มต่ำสุด เช่น ระหว่างโรงเรียนกลุ่ม สพป. กับกลุ่มโรงเรียนสาธิตก็พบว่า ค่าดัชนีทรัพยากรการเรียนแตกต่างกันมากกกว่า 1 หน่วย แสดงว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่พอเพียง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูแนวโน้มจะเห็นว่ากลุ่มที่มีทรัพยากรต่ำจะยิ่งมีต่ำลงไปอีกตามเวลาที่ผ่านไป ค่าดัชนีทรัพยากรการเรียนที่ต่างกัน 1 หน่วย ส่งผลกระทบให้คะแนนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนไป 10 คะแนน สำหรับประเทศไทย (ค่าเฉลี่ย OECD ทำให้คะแนนเปลี่ยนไป 6 คะแนน)

ถ้าดูระบบโรงเรียนจากประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาที่เป็นเลิศ เช่น เกาหลี ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ แม้ในระบบเหล่านั้นจะมีโรงเรียนและนักเรียนที่แตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ระบบก็ได้จัดสรรทรัพยากรการเรียนให้จนไม่เห็นความแตกต่างหรือบางระบบโรงเรียนที่ยากจนกว่ากลับได้รับการจัดสรรมากกว่า ซึ่งค่าดัชนีทรัพยากรการเรียนจะเป็นตัวชี้บอก เช่น ในฟินแลนด์ (ESCS สูง มีค่าดัชนี 0.03 ส่วน ESCS ต่ำ มีค่าดัชนี 0.09) เกาหลี (ESCS สูง มีค่าดัชนี 0.35 ส่วน ESCS ต่ำ มีค่าดัชนี 0.43) และ สิงคโปร์ (ESCS สูง มีค่าดัชนี -0.85 ส่วน ESCS ต่ำ มีค่าดัชนี -0.62) เป็นต้น ในระบบโรงเรียนเหล่านี้จึงมีความเป็นธรรม (Equity) สูงมาก

เมื่อพูดถึงความเป็นธรรมทางการศึกษามักจะเป็นที่เข้าใจว่า เมื่อจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงเรียนและนักเรียนอย่างเท่ากันหมด เช่น ให้การศึกษาฟรีเหมือนกันหมด ให้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่ากันหมด แม้กระทั่งค่าเสื้อผ้าก็ให้เท่ากัน และถือเอาเองว่านั่นคือความเสมอภาคหรือความเป็นธรรมทางการศึกษา แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการให้ที่เท่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะผู้ที่ได้เปรียบหรือผู้มีต้นทุนสูงอยู่แล้วยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีกในขณะที่ผู้ที่ด้อยเปรียบกว่าก็ยังคงความด้อยเปรียบอยู่อย่างเดิมหรือมากกว่าเดิม การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จึงต้องคำนึงถึงต้นทุนที่โรงเรียน/นักเรียนมีอยู่แล้วด้วย แล้วจึงจัดสรรให้ตามความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างของความแตกต่างให้แคบลงให้มากที่สุด



ที่มา: ปรับจากต้นฉบับของ Craig Froehle (2016, April 15, https://medium.com/@CRA1G/the-evolution-of-an-accidental-meme-ddc4e139e0e4)


ในระบบการศึกษาไทยปัจจุบันยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าความเท่าเทียมกัน เพราะช่องว่างของการมีทรัพยากรกว้างมาก และระบบมักยึดหลัก “ให้เท่ากันหมด” หรือยิ่งไปกว่านั้น ยังมีปรากฏการณ์ที่โรงเรียนที่ดีกว่าได้มากกว่า ผู้ด้อยเปรียบจึงถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ทั้ง ๆ ที่ในระบบที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงไม่ควรมีใครกลุ่มใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

สาระทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากการประเมินผล PISA 2015 และถ้ามีนอกเหนือจากนั้นก็มีแหล่งอ้างอิงเพื่อให้อ่านเพิ่มเติมได้ สาระในเอกสารฉบับนี้จะเป็นแหล่งสำคัญที่น่าจะได้นำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และยกระดับคุณภาพการศึกษา และควรนำไปพิจารณาเพื่อชี้จุดอ่อนของระบบที่ไม่ประสบความสำเร็จ และจุดแข็งของระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงยกระดับการศึกษาให้เข้าใกล้กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน

สาระทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ PISA 2015 ต้องการจะชี้บอกถึงระดับนโยบายว่า คุณภาพการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความพยายามที่ได้ผลของการยกระดับการเรียนรู้ คือ การใช้ข้อมูลป้อนกลับจากการศึกษาวิจัยที่ได้ทำมาอย่างละเอียด ครอบคลุม และนี่คือสิ่งที่ข้อมูลชี้บอก

This is what the data say!

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2016a), PISA 2015 Results (Volume I): Excellence and Equity in Education, PISA, OECD Publishing, Paris.
  • OECD (2016b), PISA 2015 Results (Volume II): Policies and Practices for Successful Schools, PISA, OECD Publishing, Paris.
  • กรุงเทพธุรกิจ (2558, 30 ตุลาคม), ชี้ปัญหาการศึกษาไทย หลักสูตรยังไม่สอดคล้อง, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/672071, วันที่สืบค้น 22 ม.ค. 2561.
  • ข่าวสด (2560, 30 พฤศจิกายน), 9 จุดอ่อนการศึกษาไทย, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=%20TURObFpIVXd%20OREV6TVRFMk1BPT0=&sectionid=TURNeE5RPT0=&day=TWpBeE55MHhNUzB4TXc9PQ==, วันที่สืบค้น 22 ม.ค. 2561.
  • จารึก อะยะวงศ์ (2560), การศึกษาไทย: ปัญหาอยู่ที่ไหนกันแน่?, แหล่งที่มา: https://www.matichon.co.th/news/579300, วันที่สืบค้น 22 ม.ค. 2561.

 ดาวน์โหลด (PDF, 949KB)