โรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมืองแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

  • ในระบบโรงเรียนไทย นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองอยู่ 63 คะแนน หรือเท่ากับการเรียนที่แตกต่างกันสองปี ในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองอยู่ 31 คะแนน หรือเท่ากับการเรียนที่แตกต่างกันหนึ่งปี ความแตกต่างนี้อธิบายได้ด้วยความแตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน
  • โดยเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทเพียง 30% ที่คาดหวังว่า จะเรียนจบการศึกษาอย่างน้อยในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่มีนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองถึง 50% ที่คาดหวังเช่นนั้น ส่วนไทยมีนักเรียนจากโรงเรียนในชนบท 50% และนักเรียนจากโรงเรียนในเมือง 80% ที่คาดหวังว่า จะเรียนจบการศึกษาอย่างน้อยในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งความแตกต่างของนักเรียนสองกลุ่มนี้จะลดลงหลังจากอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม
  • โดยเฉลี่ย นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทเสียเปรียบในด้านทรัพยากรการเรียน ครู และมีกิจกรรมนอกหลักสูตรให้

โดยทั่วไปโรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมืองยังมีความแตกต่างกันมาก แม้ในประเทศสมาชิก OECD โรงเรียนในชนบทยังคงมีภูมิทัศน์ทางการศึกษาแตกต่างกันซึ่งหลายโรงเรียนยังเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนหลายระดับชั้นอยู่ในห้องเรียนเดียวกันมีครูคนเดียวสอนซึ่งดูแลนักเรียนที่มีหลายวัยและหลายความสามารถ ไปจนถึงโรงเรียนที่มีหลายระดับชั้น มีหลายห้องเรียนต่อระดับชั้น มีครูหลายคน และมีโอกาสทางการเรียนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า ความแตกต่างเหล่านี้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการหรือไม่ นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทยังศึกษาต่อในระดับสูงน้อยกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วมีสิ่งใดบ้างที่ทำให้โรงเรียนในชนบทต่างจากโรงเรียนในเมือง

ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่แตกต่าง

จากการวิเคราะห์ข้อมูล PISA 2015 การสำรวจการจัดการเรียนรู้ของครูระดับนานาชาติ (TALIS) ของ OECD ในปี 2013 และการสำรวจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนด้านทรัพยากรของ OECD ที่ต้องการความชัดเจนในประเด็นนี้ PISA 2015 ให้นิยามของโรงเรียนในชนบทว่า “โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหรือในชนบทที่มีประชากรน้อยกว่า 3,000 คน” และให้นิยามของโรงเรียนในเมืองว่า “โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน” ซึ่งตามนิยามได้ข้อมูลว่า นักเรียนอายุ 15 ปี ที่เรียนอยู่ในโรงเรียนในเมืองมีคะแนนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยสูงกว่านักเรียนจากโรงเรียนในชนบท 31 คะแนน ประมาณเท่ากับการเรียนที่ต่างกันหนึ่งปี โดยช่องว่างของคะแนนมีความกว้างมากในบัลแกเรีย จีนสี่มณฑล(ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง) ฮังการี โปรตุเกส สาธารณรัฐสโลวัก และตุรกี ในขณะที่มีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีคะแนนสูงกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมือง ได้แก่ เบลเยียม สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา สำหรับในระบบโรงเรียนไทย นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองอยู่ 63 คะแนน หรือเท่ากับการเรียนที่แตกต่างกันสองปี

ความด้อยเปรียบด้านวิชาการของโรงเรียนในชนบทอาจมีเหตุผลหลัก ๆ มาจากความด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนจากโรงเรียนในชนบท ข้อมูลจาก PISA 2015 โดยเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD ช่องว่างของคะแนนวิทยาศาสตร์ระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบทจะแคบลงเมื่ออธิบายด้วยภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน ในหลายประเทศรวมทั้งเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ สเปน และสหรัฐอเมริกา เมื่อวิเคราะห์เฉพาะนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่คล้ายคลึงกันปรากฏว่า นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมือง


รูป 1 ความแตกต่างของคะแนนวิทยาศาสตร์ระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทและนักเรียนจากโรงเรียนในเมือง

สัญลักษณ์ที่มีสีเข้มกว่า หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา: OECD, 2019


สำหรับระบบโรงเรียนไทย พบว่า นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทมีคะแนนต่ำกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองอยู่ 63 คะแนน เมื่ออธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนแล้ว พบว่า ความแตกต่างลดลงเหลือประมาณ 10 คะแนน นั่นแสดงว่า ภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนเป็นตัวแปรสำคัญที่มีบทบาทต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไทยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อนักเรียนจากโรงเรียนในชนบททำให้มีการเรียนรู้ที่ต่ำกว่า เช่น ครู และทรัพยากรการเรียน เป็นต้น

คาดหวังทางการศึกษา

เมื่อดูความคาดหวังทางการศึกษาจะยิ่งพบความแตกต่างระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทกับนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองมากขึ้น โดยเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทเพียง 30% ที่คาดหวังว่า จะเรียนจบการศึกษาอย่างน้อยในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่มีนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองประมาณ 50% ที่คาดหวังเช่นนั้น ช่องว่างของความคาดหวังนี้ยิ่งกว้างมากในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น จีนสี่มณฑล(ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง) บัลแกเรีย ฮังการี อิตาลี และตุรกี แม้แต่นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่มีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมืองก็ยังไม่ค่อยคาดหวังที่จะเรียนจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD ช่องว่างของความคาดหวังทางการศึกษาระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทกับในเมืองจะแคบลงหลังจากอธิบายด้วยภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เหมือนกับผลการประเมินของนักเรียนที่ช่องว่างของคะแนนลดลงไม่มากนัก เนื่องจากยังมีผลกระทบจากตัวแปรของความเป็นชนบทอื่น ๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการที่ต่ำกว่า สภาพภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล และในหมู่บ้านยังการขาดแคลนต้นแบบทางอาชีพและการทำงานที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงที่จะเป็นตัวอย่างให้กับนักเรียนที่อาศัยอยู่ในชนบท แม้ว่าในที่สุดนักเรียนเหล่านี้มีความพร้อมที่จะศึกษาต่อ แต่นักเรียนในชนบทก็จะต้องเดินทางไปและกลับเป็นระยะทางไกลหรืออาจต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองที่ใหญ่กว่าเพื่อมาศึกษาต่อ โดยที่สาขาวิชาที่ศึกษาต่อนั้นอาจจะหางานทำไม่ได้ในบ้านเกิด สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่ทำให้นักเรียนที่อยู่ในชนบทจำนวนน้อยอยากจะศึกษาต่อ


รูป 2 ความแตกต่างของความคาดหวังในการศึกษาต่อระหว่างนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทและนักเรียนจากโรงเรียนในเมือง

สัญลักษณ์ที่มีสีเข้มกว่า หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา: OECD, 2019


สำหรับไทย พบว่า มีนักเรียนจากโรงเรียนในชนบทประมาณ 50% และนักเรียนจากโรงเรียนในเมืองประมาณ 83% ที่คาดหวังว่า จะเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย ในขณะที่นักเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความแตกต่างมากที่สุด (ในเมือง 87% และในชนบท 19%) ส่วนนักเรียนในภาคเหนือตอนบนมีความแตกต่างน้อยที่สุด (ในเมือง 73% และในชนบท 72%)

การเรียนในโรงเรียนในชนบทอาจท้าทายแต่ให้ผลคุ้มค่า

โรงเรียนในชนบทมักถูกมองในเชิงลบจากความห่างไกลทางภูมิศาสตร์ โรงเรียนมีขนาดเล็ก และองค์ประกอบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยยิ่งทำให้เสียเปรียบในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ขาดครูดีครูเก่ง และทางเลือกทางการศึกษาที่มีอย่างจำกัด ผลจาก PISA 2015 ยืนยันว่า ทรัพยากรวัตถุและทางเลือกทางการศึกษาของโรงเรียนในชนบทมีจำกัด ครูใหญ่ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ปานกลางรายงานว่า โรงเรียนในเมืองมีทรัพยากรวัตถุและบุคลากรดีกว่าโรงเรียนในชนบทมาก ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกโรงเรียนกับบุตรหลานในชนบทก็มีจำนวนโรงเรียนจำกัด การเรียนก่อนวัยเรียนก็มีเวลาสั้นกว่าและกิจกรรมพิเศษก็มีน้อยกว่าโรงเรียนในเมือง ประเทศสมาชิก OECD มีครอบครัวในชนบท 38% รายงานว่า มีโรงเรียนอื่นให้เลือกอย่างน้อยหนึ่งแห่งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงเรียนปัจจุบันของลูกในขณะที่ครอบครัวในเมืองมีถึง 71% ที่มีทางเลือกเช่นนั้น นอกจากนี้ นักเรียนจากโรงเรียนในชนบทยังมีกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรน้อยกว่านักเรียนจากโรงเรียนในเมือง อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น ครูใหญ่ในอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รายงานว่า มีปัญหาในเรื่องการหาครูให้พอเพียงทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

ครูใหญ่ของไทยรายงานว่า มีความขาดแคลนครูทั้งโรงเรียนในเมืองและในชนบท โดยโรงเรียนในชนบทของภาคกลางมีความขาดแคลนครู (ดัชนีการขาดครูมีค่าถึง 1.50 ) รองลงมาคือ โรงเรียนในชนบทของเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ดัชนีการขาดครูมีค่า 1.16) นอกจากนี้ โรงเรียนไทยยังมีความจำกัดในเรื่องทรัพยากรวัตถุเช่นเดียวกัน จากรายงานของครูใหญ่ทำให้ได้ข้อมูลค่าดัชนีการขาดแคลนทรัพยากรการเรียนของโรงเรียนในชนบทที่สูงกว่าโรงเรียนในเมืองถึง 0.58 หน่วยดัชนี

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของการศึกษาในชนบทก็มีข้อดีบางอย่างเป็นต้นว่า อัตราครูต่อนักเรียนต่ำทำให้นักเรียนมีโอกาสดีกว่าที่จะได้รับการเอาใจใส่จากครู

ถึงจะเล็กแต่ก็ดีได้

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในชนบทก็ยังมีขนาดโรงเรียนและขนาดชั้นเรียนเล็กกว่าโรงเรียนในเมือง และอัตราส่วนของนักเรียนต่อครูก็น้อยกว่า เป็นต้นว่า ค่าเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในชนบทมีนักเรียนในชั้นเรียนน้อยกว่าโรงเรียนในเมืองอยู่ 5 คนโดยเฉลี่ย และมีอัตราส่วนนักเรียนต่อครูต่ำกว่าโรงเรียนในเมือง 2 คนใน PISA 2015 ชั้นเรียนของโรงเรียนไทยในชนบทมีนักเรียนน้อยกว่าโรงเรียนในเมืองโดยเฉลี่ย 10 คนต่อห้อง และอัตราส่วนนักเรียนต่อครูต่ำกว่าโรงเรียนในเมือง 4 คน

การที่โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนน้อยทำให้มีโอกาสดีกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ เช่น นักเรียนอาจจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนที่ดีกว่าจากครู ครูอาจจะปรับวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนได้มากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนที่ด้อยเปรียบ นักเรียนที่ต้องการการศึกษาพิเศษหรือนักเรียนที่เรียนช้า ข้อมูลจาก PISA 2015 ที่ได้จากรายงานของนักเรียน เปิดเผยว่า ครูวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนขนาดเล็กมักจะปรับบทเรียนให้เหมาะสมกับความจำเป็นหรือความรู้ของนักเรียน อีกทั้งครูสามารถให้การสนับสนุนทางวิชาการมากกว่าครูวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังพบว่า ในโรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนนักเรียนขาดเรียนน้อยกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่

จากรูป 3 พบว่า มีเพียงสามประเทศได้แก่ เอสโตเนีย เบลเยียม และเดนมาร์ก ที่โรงเรียนในชนบทมีกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรมากกว่าโรงเรียนในเมือง นอกนั้นโรงเรียนในเมืองจัดกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรมากกว่าโรงเรียนในชนบททั้งสิ้น สำหรับประเทศไทย โรงเรียนในเมืองมีกิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรมากกว่าโรงเรียนในชนบท และความแตกต่างมีค่าสูงอยู่ในลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว


รูป 3 กิจกรรมพิเศษนอกหลักสูตรที่โรงเรียน จำแนกตามโรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมือง

สัญลักษณ์ที่มีสีเข้มกว่า หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา: OECD, 2019


ความท้าทายอย่างหนึ่งของรัฐคือการประกันว่า จะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันไม่ว่าโรงเรียนจะอยู่พื้นที่ใดในประเทศ เนื่องจากโรงเรียนในชนบทมีความห่างไกลและมีขนาดเล็กซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาวิชาชีพครูและการจัดการศึกษาที่หลากหลายสำหรับนักเรียนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อได้เปรียบที่อัตรานักเรียนต่อครูต่ำ ก็อาจเปิดโอกาสให้โรงเรียนในชนบทสร้างนวัตกรรมการเรียนได้ง่ายกว่า เช่น การใช้ครูจากบุคลากรในท้องถิ่น การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในโรงเรียนชนบทด้วยกัน หรือการนำเทคโนโลยีสื่อสารทางไกลมาใช้ในการเรียนการสอน การรวมพลังท้องถิ่นที่สร้างสมรรถนะและทรัพยากรเหล่านี้เป็นหนทางให้สามารถลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบทลงได้

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2019), Does attending a rural school make a difference in how and what you learn?, PISA in Focus, No. 94, OECD Publishing, Paris, (Online), https://doi.org/10.1787/d076ecc3-en, Retrieved April 11, 2019.

 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)