การอ่านดิจิทัล: นักเรียนไทยพร้อมหรือยัง?

การประเมิน PISA 2018 จะเป็นการประเมินระบบดิจิทัลทั้งหมด โดยมีการอ่านเป็นการประเมินหลัก แต่คราวนี้ไม่ใช่การอ่านสื่อแบบดั้งเดิม แต่จะเป็นการอ่านจากสื่อดิจิทัล (Digital Reading) ซึ่งเชื่อว่าแม้นักเรียนไทยบางส่วนจะคุ้นเคยอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นชิน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านสื่อแบบดั้งเดิมหรือสื่อดิจิทัลแล้วเราจะเตรียมตัวรับมือกันอย่างไร

เป้าหมายของ PISA คือให้สาระสำคัญถึงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาแก่ประเทศในโครงการทุก ๆ สามปี การประเมินรอบสุดท้ายที่ผ่านมา คือ PISA 2015 ซึ่งชี้ว่า นักเรียนไทยมีผลการประเมินการอ่านต่ำมากและต่ำกว่าทุกครั้งในทุกรอบการประเมินนับตั้งแต่ PISA 2000 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นนาฬิกาปลุกให้ตื่นจากความนิ่งเฉยและลุกขึ้นมาปรับปรุงสมรรถนะการอ่านของนักเรียนซึ่งไม่อาจรีรอได้อีกต่อไป เพราะการประเมินการอ่าน PISA ครั้งต่อไปเป็นการอ่านแบบเปลี่ยนรูปที่นักเรียนไม่คุ้นชิน กำลังเคาะประตูเรียกอยู่ ระบบโรงเรียนจึงควรตระหนักและเตรียมพร้อมสำหรับการอ่านแบบใหม่นี้ให้ทั้งนักเรียนและครู

การที่ PISA ใช้คำว่า การรู้เรื่องการอ่าน (Reading literacy) เพราะมีความหมายมากกว่าการอ่านถูกต้องและรู้ความหมายของคำที่อ่านเหมือนแบบเด็ก ๆ แต่การอ่านในความหมายของ PISA เป็นกระบวนการการใช้ความรู้ ทักษะ และกลยุทธ์ที่สร้างสมตลอดชีวิตซึ่งรวมทั้งการอ่านคล่อง ตีความหมายคำ การเชื่อมโยงระหว่างประโยค สกัดใจความสำคัญโดยอ้างอิงความรู้และประสบการณ์เดิม ทักษะการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลจากข้อมูลสำหรับการอ่านถ้อยความที่ซับซ้อนและมีจุดประสงค์จำเพาะ ความสามารถในการอ่านจึงครอบคลุมไปถึงสมรรถนะการค้นหาสาระ การค้นหาระดับความจริงหรือความถูกต้องของถ้อยความที่อ่าน การเปรียบเทียบความคล้ายหรือความแตกต่างของการอ่านจากหลายแหล่งและการบูรณาการสาระจากหลายแหล่งเหล่านั้นมาเป็นมติของตนเอง เป็นต้น แต่ในที่นี้ขอใช้คำสั้น ๆ ว่า การอ่าน ในความหมายของ Reading literacy

PISA ประเมินอะไร

การประเมินของ PISA ต้องการให้ครอบคลุมภารกิจการอ่านที่กว้างและลึก และให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านที่หลากหลาย เพราะไม่ว่าใครจะมีเป้าหมายชีวิตอย่างไร การอ่านก็มีความสำคัญเป็นอันดับแรกเพราะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้รู้เรื่อง (Literate) ทุกด้านสำหรับทุกคนที่จะสามารถมีส่วนร่วมในสังคม เศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตได้ อย่างมีคุณภาพ นั่นหมายถึงว่าการประเมินต้องให้เชื่อมโยงไปถึงสิ่งที่นักเรียนจะต้องไปเผชิญในชีวิตจริงนอกโรงเรียนในวันหน้า การประเมินการอ่านที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นจึงต้องกำหนดถ้อยความ (Text) ที่ให้อ่านให้มีสถานการณ์ (Situation) หรือบริบท (Context) ซึ่งครอบคลุมในบริบทส่วนตัว บริบทสังคม สาธารณะ การงานอาชีพ และการศึกษา แต่มิใช่ว่าแต่ละบริบทจะแยกกันเด็ดขาด แต่ในถ้อยความจะสร้างให้เกี่ยวข้องหรือทับซ้อนกันหลาย ๆ บริบท PISA 2018 ถือว่าการอ่านเป็น “กระบวนการทางสติปัญญา” ซึ่งผู้อ่านต้องใช้ทั้งทักษะและประสิทธิภาพประกอบกัน

การอ่านดิจิทัล (Digital reading)

เนื่องจากคอมพิวเตอร์ได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในโลกใบนี้ และประมาณได้ว่าประชากรของโลกเกือบครึ่งที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงบ้านแล้ว และยิ่งในระยะหลังมีทั้งไอแพด แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน จากรายงานของ UNESCO ที่สำรวจในประเทศกำลังพัฒนา 5 ประเทศว่า ประชาชนสนใจการอ่านเพิ่มขึ้น เพราะสามารถอ่านได้จากโทรศัพท์ มือถือ (UNESCO, 2014) การอ่านจึงเปลี่ยนจากการอ่านสิ่งพิมพ์เป็นการอ่านจากดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงมีจุดสำคัญคือการนิยามว่าการอ่านเป็นทักษะ เพราะรูปแบบของสื่อที่เปลี่ยนไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยชิน เพื่อให้ได้สาระหรือสามารถสื่อสารได้หลากหลาย ผู้อ่านต้องจดจ่ออ่านสื่อที่แสดงบนหน้าจอที่เล็ก มีเครือข่ายเชื่อมโยงที่ท้าทายความสนใจ และยังสามารถรวมสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์บนหน้าจอ เช่น อีเมล ข้อความสั้น กระดานสนทนา การคุยบนหน้าจอ (Chat) และเครือข่ายสังคม (Social network) การอ่านและการเขียนจึงเข้ามาแทนที่การสื่อสารด้วยวาจา ทั้งนี้หมายความว่า ประชาชนต้องมีความเข้าใจในสื่อการเขียนเป็นฐาน และเมื่อมีสื่อรูปแบบต่าง ๆ กระหน่ำเข้ามาอย่างหลากหลายประชาชนจึงต้องรู้ทันว่าจะเลือกอ่านอะไร เมื่อไรจะต้องอ่านเพิ่มจากแหล่งอื่น ๆ ประเมินความถูกต้องเป็นจริง และสามารถสื่อสารในรูปของการเขียนได้ตามบริบทของสังคมรุ่นใหม่ ดังนั้น เกือบทุกส่วนของโลกปัจจุบัน ทักษะในการใช้สื่อดิจิทัลนับเป็นกุญแจสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ

ผู้อ่านในยุคดิจิทัลจึงต้องมีทักษะใหม่ ๆ อีกหลากหลาย ต้องรู้จักการใช้ ICT เพื่อสามารถใช้เครื่องมือและโปรแกรมได้ สามารถค้นหาและเข้าถึงสาระถ้อยความที่ต้องการจากการใช้เครื่องมือ เมนู การเชื่อมต่อ ฯลฯ และเนื่องจากบนอินเทอร์เน็ตมีทุกอย่างล้นหลามเกินการควบคุม ผู้อ่านต้องรู้และเลือกว่าต้องการอะไร สามารถประเมินคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องเป็นจริง และที่สำคัญในที่สุดผู้อ่านต้องรู้จักค้นหาถ้อยความจากหลายแหล่ง และประเมินว่าแต่ละแหล่งมีอะไรที่แตกต่างหรือขัดแย้งกันแล้วตัดสินออกมาเป็นมติของตนเอง ดังนั้นทักษะการอ่านดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญคนรุ่นใหม่ต้องรู้ นี่คือการอ่านที่ PISA 2018 ปรับกรอบการประเมินการอ่านที่ต้องสัมผัสกับการอ่านจากสื่อดิจิทัลด้วย และนี่คือนาฬิกาปลุกขึ้นมาว่านักเรียนไทยพร้อมหรือไม่ที่จะรับการประเมินการอ่านดิจิทัล

กรอบโครงสร้างของการประเมินการอ่านใน PISA 2018

เพื่อจะชี้วัดว่านักเรียนมีความสามารถในการอ่าน “ที่อยู่นอกเหนือจากห้องเรียน” เพียงใด ดังนั้นการประเมินการอ่านของ PISA จึงเน้นความเข้าใจในสื่อที่ได้อ่าน การสร้างความหมายจากสิ่งที่อ่านโดยใช้ความรู้เดิมผสมผสานกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้รวมถึงการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิมและสื่อดิจิทัล (Digital reading) PISA 2018 จึงปรับกรอบโครงสร้างการประเมินให้ขยายไปครอบคลุมสื่อดิจิทัลด้วย และต่อไปนี้คือโครงสร้างสังเขปว่า PISA 2018 จะประเมินอะไร ทั้งนี้เพื่อเตือนให้ทบทวนว่านักเรียนมีสมรรถนะเหล่านั้นพร้อมมากน้อยเพียงใดและต้องทำอะไรต่อ

การอ่านดิจิทัลไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นใน PISA 2018 แต่ได้เริ่มประเดิมมาบ้างแล้วในการประเมินการอ่านรอบก่อน คือ PISA 2009 และ PISA 2015 เท่าที่พบสำหรับนักเรียนไทยมีจุดอ่อนมากในการอ่านดิจิทัล เพราะนักเรียนส่วนใหญ่จะอ่อนด้อยในการตอบสนองคำสั่งที่ให้ใช้เหตุผลจากถ้อยความ ให้บอกสาระสำคัญที่ถ้อยความที่กำหนดให้สื่อสารออกมา หรือให้โต้แย้งบนพื้นฐานของประจักษ์พยานที่ปรากฏ แต่ส่วนมากนักเรียนไทยจะใช้วิธีคัดลอกถ้อยความมาวาง (copy – paste) เป็นคำตอบที่ทำให้ไม่ได้คะแนน

อย่างไรจึงถือว่าอ่านดิจิทัลเก่ง

PISA 2009 ไม่ได้ประเมินเฉพาะการให้นักเรียนรวบรวมสาระจากการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการประเมินว่านักเรียนอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ดีเพียงใดด้วย และได้ข้อมูลว่าบางประเทศสามารถเตรียมนักเรียนให้รับสื่อดิจิทัลได้ดีกว่าประเทศอื่นที่ทำให้นักเรียนสามารถมีทักษะและสมรรถนะที่จะใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้ดี เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี และนิวซีแลนด์ ซึ่งมากกว่า 17% มีผลการประเมินสูงสุด เป็นต้น ในขณะเดียวกันในอีกหลายประเทศเกือบไม่มีนักเรียนมีผลการประเมินในระดับสูงเลย ผลการประเมินชี้ว่า โดยทั่วไป นักเรียนที่ตามปกติก็อ่านสิ่งพิมพ์ได้เก่งอยู่แล้วมักมีการอ่านดิจิทัลเก่งด้วย แต่นักเรียนจากบางประเทศที่มีการใช้สื่อดิจิทัลสูง เช่น ออสเตรเลีย เกาหลี พบว่า นักเรียนที่อ่านสิ่งพิมพ์ได้ไม่ดีนักกลับอ่านดิจิทัลได้ดีกว่า

เมื่อไม่นานมานี้ เกาหลีได้พัฒนานโยบาย Smart Education โดยพัฒนาหนังสือเรียนและการประเมินผลให้อยู่ในรูปดิจิทัล และใน ค.ศ. 2015 ได้พัฒนาโรงเรียนโดยรวมเอาเทคโนโลยีใหม่เข้าไว้ในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งฝึกอบรมครูให้สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้

อย่างไรจึงได้ชื่อว่ามีทักษะการอ่านดิจิทัลต่ำและสูง

ทักษะการอ่านต่ำทักษะการอ่านสูง
ผู้ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่ำ มีการอ่านไม่ถึงระดับ พื้นฐาน สามารถบอกสาระที่ปรากฏชัดเจนซึ่งเป็นที่คุ้นเคย หรือที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงผู้ที่มีการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์สูง สามารถจัดการกับกรอบการคิดที่ไม่คุ้นเคย สามารถใช้สิ่งนามธรรมในการตีความแปลความได้ สามารถอ้างอิงเปรียบเทียบความคล้ายหรือความแตกต่าง
ผู้ที่มีการอ่านดิจิทัลต่ำ สามารถบอกตำแหน่งของสาระ และตีความของถ้อยความที่ปรากฏชัดเจนและมักเกี่ยวข้องกับบริบทในชีวิต สามารถข้ามไปอ่านเว็บไซต์อื่นได้จำกัดถึงแม้จะมีการชี้บอกอย่างชัดเจนให้แล้วก็ตามผู้ที่มีการอ่านดิจิทัลสูง สามารถหาจุดที่มีสาระหลักว่าสาระอยู่จุดใด จัดรวบรวมสาระต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่มารวมให้ได้เนื้อความ อ้างอิงจุดที่สอดคล้องหรือสนับสนุนการตีความ วิเคราะห์ ประเมินสาระนั้น ๆ ในบริบทที่ไม่คุ้นเคย และที่มีข้อความไม่ชัดเจนตรงไปตรงมา สามารถข้ามไปอ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่มีหลากหลายโดยไม่ต้องชี้บอก และสามารถจัดการกับถ้อยความในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย

(OECD, 2016)

ควรเตรียมนักเรียนอย่างไรสำหรับการประเมินการอ่านในปี 2018

ข้อมูลที่ผ่านมาชี้แนะว่าแม้โดยทั่วไปนักเรียนหญิงมีทักษะการอ่านสูงว่านักเรียนชายจึงมีความกังวลว่าต้องส่งเสริมการอ่านในนักเรียนชายให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการอ่านดิจิทัลแล้วพบว่า นักเรียนชายมีผลการอ่านที่สูงขึ้น และนักเรียนชายที่มีการอ่านต่ำก็มีสัดส่วนลดลง ทำให้ความแตกต่างระหว่างเพศมีช่องว่างน้อยลง แสดงว่านักเรียนชายชอบอ่านสื่อดิจิทัลมากกว่าสื่อปกติ ดังนั้นการส่งเสริมเพื่อยกระดับการอ่านของนักเรียนชายโดยใช้สื่อดิจิทัลน่าจะได้ผลดีกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ในประเทศที่มีการใช้สื่อดิจิทัลมากก็ปรากฏว่า นักเรียนหญิงก็มีผลการประเมินระดับบนสุดสูงกว่าการอ่านสิ่งพิมพ์เช่นกัน จึงอาจชี้นัยว่าเยาวชนสนใจการอ่านดิจิทัลมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย จากผลการประเมินที่ผ่านมาใน PISA 2015 ที่ทดสอบโดยใช้ดิจิทัลทั้งหมด พบว่า นักเรียนยังขาดสมรรถนะการอ่านดิจิทัล แม้กระทั่งทักษะระดับต่ำ เช่น การค้นคืนข้อมูล (Retrieving information) นักเรียนไม่อาจชี้ว่าตรงไหนของถ้อยความที่บอกสาระหลัก อีกทั้งการแปลความ ตีความก็ทำได้ต่ำ แต่ในการตอบคำถามนักเรียนมักใช้การคัดลอกข้อความและนำมาวางเป็นคำตอบ (copy-paste) เป็นหลัก ทั้งนี้สะท้อนถึงการเรียนการสอนที่ใช้สื่อดิจิทัลในโรงเรียนที่นักเรียนมักใช้วิธีนี้ในการทำงานส่งครูและมักได้รับการประเมินสูงจากครู ผลการประเมินของนักเรียนไทยจึงต่ำมาก ซึ่งปกติการอ่านต่ำอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีกสำหรับการอ่านดิจิทัล

PISA 2015 มีการอ่านเป็นการประเมินย่อย แต่สำหรับ PISA 2018 การอ่านเป็นการประเมินหลัก หากต้องการให้ผลการประเมินดูดีขึ้นบนเวทีโลก อย่างน้อยที่สุดนักเรียนควรได้รับการฝึกทักษะ การย้ายตัวชี้ตำแหน่ง (cursor) การหาทางที่จะเข้าไปหาข้อมูลโดยการใช้แถบเมนู (Navigation) ซึ่งโดยทั่วไปพบว่า นักเรียนหญิงมีทักษะค่อนข้างต่ำ และที่สำคัญคือทักษะการค้นคืนข้อมูล (Retrieving information) หาสาระและสื่อสารออกมาให้เป็นที่เข้าใจโดยไม่ใช้ copy-paste และทักษะการอ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ สำหรับบูรณาการ สรุป ประเมินความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง และดูแหล่งที่มา ฯลฯ เพื่อตัดสินใจว่าจะตอบสนองอย่างไร

เมื่อโลกเดินทางมาถึงยุคดิจิทัล นักเรียนควรได้รับการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือได้และดำเนินชีวิตอย่างปกติในโลกยุคใหม่ PISA 2018 ต้องการหาตัวชี้วัดว่านักเรียนในแต่ละระบบการศึกษามีความพร้อมเพียงใดในการรู้เรื่องการอ่านดิจิทัล (Digital reading literacy) โดยทั่วไปพบว่า นักเรียนสนใจและมีความสามารถการอ่านดิจิทัลสูงกว่าการอ่านสิ่งพิมพ์ ข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้ตัดวงจรการอ่านต่ำหรือการไม่สนใจการอ่านของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนชายซึ่งปกติไม่ชอบการอ่านสิ่งพิมพ์ แต่สนใจการอ่านดิจิทัลมากกว่า

การเปรียบเทียบกับนานาชาติชี้ว่า นักเรียนไทยยังมีทักษะการอ่านดิจิทัลต่ำมากทำให้คะแนนใน PISA 2015 อยู่ในกลุ่มต่ำมาก ในการประเมินรอบต่อไปนักเรียนจึงควรได้รับการฝึกให้พร้อมเตรียมรับมือกับการอ่านดิจิทัลที่จะมาถึงใน PISA 2018

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 839KB)