[INFOGRAPHICS] ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย” ตอนที่ 1/7

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 1/7


การประเมินของ PISA ให้ความสำคัญกับความฉลาดรู้ด้านการอ่าน จึงให้การอ่านเป็นด้านหลักในการประเมิน PISA 2000 PISA 2009 และ PISA 2018 เพื่อติดตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงผลการเรียนรู้ด้านการอ่านของนักเรียนในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ จากผลการประเมิน PISA 2018 กลุ่มประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านเท่ากับ 487คะแนน ส่วนนักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านเพียง 393 คะแนน 

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงคะแนนการอ่านตั้งแต่การประเมินรอบแรกใน PISA 2000 จนถึง PISA 2018 พบว่า ผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ PISA ยังรายงานผลในรูปของระดับความสามารถ (Proficiency levels) ที่แบ่งออกเป็น 6 ระดับ โดยความสามารถที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนเริ่มแสดงว่ารู้และสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ได้ในชีวิตจริง

จากผลการประเมิน PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยประมาณ 40% มีความสามารถทางการอ่านตั้งแต่ระดับ2 ขึ้นไป ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนในกลุ่มนี้ถึง 77%

จากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ยังพบว่า ความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นั่นจึงยิ่งสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า สมรรถนะด้านการอ่านคือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ของนักเรียนด้วย

แต่จากผลการประเมิน PISA ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนจึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับระบบการศึกษาไทย

ในการนี้ ทางศูนย์ PISA แห่งชาติ สสวท. จึงได้ร่วมมือกับ กสศ. ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำรายงานเรื่อง “ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย”

เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนการอ่านของนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะนักเรียนไทย ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางในการพัฒนาทักษะและความสามารถทางการอ่านของนักเรียนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทภายในประเทศ

ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยใน PISA 2018 ทั้งในระดับภาพรวมและในเชิงลึกจากการวิเคราะห์เป็นรายข้อคำถาม

พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่านของนักเรียนไทยมากที่สุดห้าอันดับแรก คือ การมีกรอบความคิดแบบเติบโต การมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ความเพลิดเพลินในการอ่าน และการรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อสรุปความ

นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยด้านการช่วยเหลือและสนับสนุนของพ่อแม่ และบทบาทด้านต่าง ๆ ของครูก็มีส่วนช่วยส่งเสริมด้านการอ่านของนักเรียนอย่างมากเช่นกัน

เนื่องจากครอบครัวถือเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมนักเรียนในด้านต่าง ๆ และครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

อีกทั้ง ปัจจัยด้านการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนของนักเรียนด้วย จึงควรมีการลดปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนให้น้อยลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนให้กับนักเรียนซึ่งช่วยสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว ควรมีการส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง

https://www.facebook.com/145276782175385/posts/4495743317128688/