ระบบออนไลน์ข้อสอบ ด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

ระบบออนไลน์ข้อสอบ ด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ เป็นระบบสารสนเทศที่ใช้เผยแพร่ตัวอย่างข้อสอบด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving: CPS) ซึ่งเป็นข้อสอบที่สอดคล้องกับแนวทางการประเมินของ PISA 2015

https://cps.ipst.ac.th

ข้อสอบการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving : CPS)

สมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหาของกลุ่มที่มีตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการแบ่งปันความเข้าใจที่มี และรวบรวมความรู้ ทักษะและความพยายามเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหา

สมรรถนะที่ใช้ในการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ ได้แก่ (1) การสร้างและเก็บรักษาความเข้าใจที่มีร่วมกัน เช่น รู้และเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนที่สัมพันธ์กับงานที่ตนเองและเพื่อนร่วมกลุ่มต้องดำเนินการ (2) การเลือกวิธีดำเนินการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา เช่น เข้าใจปัญหาและรู้แนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และ (3) การสร้างและรักษาระเบียบของกลุ่ม เช่น เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองและเพื่อนร่วมกลุ่ม

ลักษณะข้อสอบการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

  • กำหนดสถานการณ์ของปัญหามาให้ โดยเป็นสถานการณ์ที่เกิดในโรงเรียนหรือเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน และมีคนตั้งแต่สองคนขึ้นไปมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
  • สถานการณ์จะให้รายละเอียดข้อมูล และกำหนดเงื่อนไขของปัญหา รวมถึงระบุบทบาทหน้าที่ของนักเรียน และเพื่อนร่วมกลุ่มซึ่งเป็นตัวละครสมมติจากคอมพิวเตอร์
  • ปัญหาในแต่ละสถานการณ์จะประกอบไปด้วยงานย่อยหลายงาน นักเรียนและเพื่อนร่วมกลุ่มจะต้องร่วมกันทำงานย่อยแต่ละงานให้สำเร็จตามลำดับ โดยต้องใช้การสนทนากันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  • การสนทนาโต้ตอบกับเพื่อนร่วมกลุ่มใช้ลักษณะของการแชท (chat) โดยที่นักเรียนต้องเลือกประโยคสนทนาที่เหมาะสมจากตัวเลือกที่มีให้ ระดับคะแนนที่ได้ขึ้นอยู่กับคำตอบของนักเรียนที่แสดงถึงระดับสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

ในการทำข้อสอบ CPS นักเรียนจะต้องสนทนาโต้ตอบกับเพื่อนร่วมกลุ่ม ซึ่งเป็นตัวละครสมมติจากคอมพิวเตอร์ การโต้ตอบกับเพื่อนนั้นมีลักษณะคล้ายกับการแชท (Chat) ในสังคมออนไลน์ โดยนักเรียนจะต้องเลือกประโยคสนทนาจากตัวเลือกที่มีให้ ซึ่งทางเลือกของการสนทนามีหลากหลายเส้นทาง ถ้านักเรียนเลือกคำตอบที่ไม่ช่วยให้งานดำเนินต่อไปได้ เพื่อนในกลุ่ม (ซึ่งเป็นตัวละครสมมติ) จะช่วยนำทางให้กลุ่มไปสู่ทางที่เหมาะสมกับงานนั้น ๆ และในท้ายที่สุดก็จะประสบความสำเร็จในงานย่อยนั้นได้ ไม่ว่านักเรียนจะเลือกคำตอบเป็นตัวเลือกใดก็ตาม ทั้งนี้ การสนทนาในแต่ละเส้นทางจะมีระดับคะแนนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคำตอบของนักเรียน ซึ่งจะแสดงถึงระดับสมรรถนะของการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของนักเรียนนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

เอกรินทร์ อัชชะกุลวิสุทธิ์. (2557). การประเมินด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ PISA 2015. นิตยสาร สสวท. 43(191): 37-41.

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2558). การแก้ปัญหาแบบร่วมมือ Collaborative Problem Solving : CPS. (แผ่นพับ). ไม่ปรากฏเลขหน้า.