โลกรู้อะไรจากผลการประเมิน PISA

PISA เปรียบเหมือน X-ray ในระบบการศึกษาของชาติ แม้จะไม่สามารถแสดงภาพได้หมดทั้งระบบแต่ก็สามารถบอกจุดที่เจ็บป่วยได้ แต่น่าเศร้าที่ระดับนโยบายบางประเทศหลบเลี่ยงที่จะมองจุดที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย แต่กลับพยายามกลบเกลื่อนหรือสร้างภาพขึ้นปิดบังจุดที่เจ็บป่วยนั้นแทนที่จะให้การเยียวยารักษา การวิจัยนานาชาตินี้ไม่ได้ให้ผลเฉพาะคะแนนแต่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่างที่ชี้แนะถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่ยังถูกเพิกเฉยจากระดับนโยบายทางการศึกษาหลายระบบ

PISA มองตะวันออก

เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ได้เห็นตัวอย่างจากระบบการศึกษาที่มีความคล้ายคลึงกับไทยในแง่ของประชากร และจำนวนนักเรียนและโรงเรียน เช่น เกาหลี และเวียดนาม ว่าประเทศเหล่านั้นมีปัจจัยใดนำไปสู่ความสำเร็จ แต่ในประเด็นเรื่องครู Andreas Schleicher แห่ง OECD ได้ให้ข้อสังเกตในประเด็นเกี่ยวกับครูว่า สิงคโปร์ได้สร้างแนวทางไว้ดีที่มีการเน้นเรื่องของแรงจูงใจให้ครูสร้างผลงานระดับคุณภาพสูงมากกว่าจะหยิบยกเรื่องคุณภาพต่ำมาเป็นประเด็น และระบบการประเมินครูนั้นเห็นว่า เป็นการส่งเสริมให้ครูพัฒนาวิชาชีพของตนอย่างแท้จริงทั้งระบบของสิงคโปร์และเซี่ยงไฮ้เหมาะที่จะเป็นสิ่งท้าทายสำหรับการพัฒนาของระบบอื่นในอนาคต

เบื้องหลังความสำเร็จใน PISA ของบางประเทศ

ฟินแลนด์กับเกาหลีใต้มีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกัน คือ การให้ความเคารพครูและวิชาชีพของครู การคัดเลือกคนเข้าสู่อาชีพครูเป็นไปอย่างเข้มข้น และมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่านั้นที่ทำหน้าที่ผลิตครู แต่สิ่งที่สองระบบตรงข้ามกัน คือ ลักษณะการเรียน โมเดลเกาหลีใต้ คือ ความอดทนและการเรียนหนักมากของนักเรียน ในขณะที่นักเรียนฟินแลนด์เรียนสบาย ๆ และยืดหยุ่นได้ มีเวลาเรียนสั้น ๆ และมีกิจกรรมเสริมมากมายจากสังคม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าฟินแลนด์เป็นตัวแทนของระบบการศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ คงใช้เป็นต้นแบบได้ยาก

ครูในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร

ทุกประเทศไม่เน้นแต่การเพิ่มจำนวนครู แต่ต้องดูคุณสมบัติ ประสบการณ์ และประสิทธิผลของครู ความพยายามในการส่งเสริมนักเรียนด้อยโอกาสจะสำเร็จได้ต้องเพิ่มครูดี-ครูเก่งให้มากกว่าการเพิ่มจำนวนครู โรงเรียนด้อยโอกาสควรได้รับการจัดสรรครูคุณภาพสูง และรัฐต้องมีมาตรการชดเชยครูคุณภาพสูงที่สอนในโรงเรียนด้อยโอกาส ครูดี-ครูเก่ง คือ ครูที่สามารถสอนนักเรียนให้มีผลการเรียนพลิกความคาดหมายได้ ไม่ใช่ครูที่สอนในโรงเรียนที่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนที่เก่งอยู่แล้วเข้ามาในโรงเรียน เพราะนักเรียนเหล่านั้นเก่งได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับครูมากนัก

เทคโนโลยีอาจมีผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างผลการเรียนรู้กับการให้นักเรียนใช้แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แต่การให้ครูใช้สิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์มากกว่า การใช้เทคโนโลยีจะให้ผลดีต่อเมื่อใช้ไม่มากเกินไปและใช้อย่างมีจุดประสงค์ และผสมผสานสอดคล้องกับหลักสูตร
คอมพิวเตอร์ไม่อาจใช้แทนครูได้ เพราะครูคือผู้สอนที่แท้จริง

การใช้อินเทอร์เน็ตและผลกระทบต่อคะแนนวิทยาศาสตร์

นักเรียนทั่วโลกต่างสนใจและใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกทีทั้งในและนอกโรงเรียน และนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเป็นอัตราแบบยกกำลัง ซึ่งเรื่องนี้แม้ในทศวรรษที่แล้วคิดกันในเชิงบวก แต่ ณ เวลานี้เริ่มสับสนเพราะข้อมูลชี้ว่า ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนต่ำลงโดยเฉพาะเมื่อใช้ในวันที่มีเรียน

ตัวแปรด้านโรงเรียนของระบบที่ประสบความสำเร็จ

การที่นักเรียนไทยมีผลการประเมิน PISA ต่ำ ข้อมูลชี้ว่า มีเหตุปัจจัยประกอบหลายอย่าง นอกเหนือจากทางวิชาการแล้วยังมีการจัดการทางการเรียน สิ่งแวดล้อม และบรรยากาศทางระเบียบวินัย ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการและแนวปฏิบัติหลายอย่างที่ไม่ส่งผลทางบวก ถ้าระบบมีการจัดการที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ นักเรียนอาจมีแรงจูงใจในการเรียนเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลให้การเรียนรู้มีคุณภาพขึ้นและมีความยั่งยืนมากกว่า

ประเทศใดสามารถทำให้เด็กด้อยโอกาสประสบความสำเร็จ

นักเรียนด้อยโอกาสด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมักพบอุปสรรคในการเรียนทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่ และความสามารถในการเรียนและการมีส่วนร่วมสร้างสังคมในอนาคตก็จะถูกจำกัดไปด้วย การขจัดอุปสรรคทางการศึกษาเป็นเป้าหมายหนึ่งของทุกระบบการศึกษา โดยการประกันว่า นักเรียนด้อยโอกาสจะได้เรียนในชั้นเรียนที่มีระเบียบวินัยและส่งเสริมการเรียนด้วยตัวแปรอื่น ๆ ที่โรงเรียนสามารถทำได้

การประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์จาก PISA ชี้นัยใดบ้าง

นักเรียนที่ชอบเรียนและประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์มักต้องการศึกษาต่อและประกอบอาชีพการงานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และเทคโนโลยี โรงเรียนจึงมีหน้าที่ทำให้นักเรียนผูกพันกับวิทยาศาสตร์และเรียนได้ดีแทนการกีดกันหรือตัดสิทธิ์ไม่ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในแวดวงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก

นัยทางการศึกษาที่ PISA 2015 ต้องการชี้บอกระดับนโยบาย

สาระทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ PISA 2015 ต้องการจะชี้บอกถึงระดับนโยบายว่า คุณภาพการเรียนรู้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความพยายามที่ได้ผลของการยกระดับการเรียนรู้ คือ การใช้ข้อมูลป้อนกลับจากการศึกษาวิจัยที่ได้ทำมาอย่างละเอียด ครอบคลุม และนี่คือสิ่งที่ข้อมูลชี้บอก

1 2 3 4 6