เทคโนโลยีอาจมีผลเสียต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนเป็นนโยบายที่ได้รับความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในหลายระบบการศึกษา ซึ่งต่างเชื่อว่าจะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ผลจากการศึกษาวิจัยของ OECD/PISA ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ และอาจทำให้ต้องมีการคิดทบทวนใหม่

จากรายงานที่เปิดเผยใน Students, Computers and Learning: Making the Connection (OECD, 2015) ทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างกว้างขวางทั่วโลกถึงความจริงที่น่าเศร้า นั่นคือ คอมพิวเตอร์ไม่ได้ช่วยในการเรียนรู้ของนักเรียน แม้ว่าระบบการศึกษาเกือบทั่วทั้งโลกไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยได้พยายามนำเทคโนโลยี ICT เข้าไปสู่การเรียนการสอนในโรงเรียนโดยคาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น

ข้อความสั้น ๆ ที่สกัดมาจากบล็อกของ Andreas Schleicher แห่ง OECD “มันแปลกมาก” เพราะภาพที่วาดไว้สำหรับเยาวชนวัย 15 ปี กลับแตกต่างออกไป ในรายงานพบว่า ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยี ICT เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่กับการเรียนรู้ในโรงเรียนกลับให้ผลไม่เป็นตามที่คาดหวัง รายงานชี้ว่าการใช้คอมพิวเตอร์อย่างหนักของนักเรียนมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหลายอย่าง (เช่น ผลการเรียนรู้ต่ำ การขาดเรียนบ่อย)

สื่อมวลชนต่าง ๆ ในยุโรปหลายแหล่งเห็นว่ารายงานของ OECD ไม่ใช่เรื่องแปลก เช่น The Irish Times ในไอร์แลนด์รายงานว่า “นักเรียนไอริชมีการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก OECD แต่นั่นน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนมากกว่า” (O’Brien C., 9 February 2018)

การวิจัยใหม่ของ McKinsey ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษา ได้รายงานผลการค้นพบสำหรับนักเรียนในยุโรปที่วิเคราะห์ข้อมูลจากการประเมินของ PISA 2015 ซึ่งมาจากผลการประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี พบว่า การให้นักเรียนเข้าถึง แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) ในห้องเรียนอาจทำร้ายการเรียนรู้ของนักเรียน แต่การให้เทคโนโลยีนี้แก่ครูได้ผลเชิงบวกดีกว่า รายงานของ McKinsey อาจทำให้ต้องมีการคิดใหม่เรื่องประเด็นการนำเทคโนโลยีเข้าไปในโรงเรียน เช่นเดียวกับประเด็นของระบบการศึกษาที่มีความกระตือรือร้นอยากจะเร่งการทุ่มทรัพยากรเพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ในห้องเรียน

ข้อมูลจากรายงานของ OECD ชี้ว่า ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูง เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง(จีน) หรือเซี่ยงไฮ้(จีน) นักเรียนใช้เทคโนโลยีน้อยกว่านักเรียนจากประเทศอื่น ๆ (ดูค่าดัชนีการใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนในรูป 1) โดยประเทศที่มีดัชนีการใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนต่ำสุดคือเกาหลี


รูป 1* ดัชนีการใช้คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนเฉพาะประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีข้อมูล

* ใน PISA 2012 ประเทศไทยไม่ได้เก็บข้อมูลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียน

ที่มา : OECD, 2015


รายงานยังบอกด้วยว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยนักเรียนได้มากกว่าถ้าการใช้นั้นอยู่นอกห้องเรียน

PISA 2015 วิเคราะห์ข้อมูลการใช้เทคโนโลยีในโรงเรียน พบว่า กลุ่มที่มีปริมาณการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในความถี่ต่ำเป็นกลุ่มที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเพราะเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยกว่า กลุ่มที่ใช้มากเป็นกลุ่มที่ได้เปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ผลการวิจัยกลับพบว่า เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในความถี่ต่ำและใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ แต่ไม่ช่วยการเรียนรู้สำหรับนักเรียนที่ใช้อย่างเข้มข้นในความถี่สูง อย่างไรก็ตาม พบว่าการใช้เทคโนโลยีนอกโรงเรียนในจุดประสงค์ทั่วไปของกลุ่มที่ใช้น้อย (กลุ่มที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม) กลับได้ประโยชน์สูงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และยังพบว่าการใช้ที่โรงเรียนในวัตถุประสงค์ทางการเรียนหรือวัตถุประสงค์ทั่วไปทำให้นักเรียนผู้ใช้น้อย (กลุ่มที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นกลุ่มที่ถูกคาดหวังว่าจะมีผลการเรียนต่ำ) มีโอกาสเป็นนักเรียนกลุ่มผลการเรียนพลิกความคาดหมาย (resilient students) สูง (Margarida R.; Federico B., 2017) จึงสรุปได้ว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ถ้าใช้ในระดับปานกลางและใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ทั้งในและนอกโรงเรียน

แม้ว่าการวิเคราะห์นี้เป็นเพียงการวิเคราะห์จากตัวฮาร์ดแวร์ยังไม่ใช่ด้านซอฟต์แวร์ แต่รายงานก็ได้เตือนผู้นำในยุโรปว่า อย่าด่วนตัดสินว่าผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีจะเป็นบวกหรือไม่มีผลกระทบอย่างใดเสมอไป แต่ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้และความถี่ที่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนกับฮาร์ดแวร์โดยไม่ได้ใส่ใจในคุณภาพของซอฟต์แวร์อย่างเพียงพอ นอกจากไม่ช่วยการเรียนรู้แล้วยังเป็นการทำร้ายนักเรียนและครูอีกด้วย

การเพิ่มเทคโนโลยีให้กับครูจะให้ผลดีมากกว่า

ในบางประเทศ พบว่า การเพิ่มคอมพิวเตอร์ให้กับครูห้องเรียนละหนึ่งเครื่องกลับให้ผลดีกับการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการให้เครื่องคอมพิวเตอร์กับนักเรียนในห้องเรียนนั้นถึงสิบเท่า

จากรายงานของ OECD (2015) ในประเทศที่มีผลการประเมินสูง เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง(จีน) หรือเซี่ยงไฮ้(จีน) นั้นจะเห็นว่า ครูเป็นผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากกว่านักเรียนเป็นผู้ใช้ ดังนั้นระบบจึงควรมั่นใจว่าครูได้รับการพัฒนาส่งเสริมและฝึกฝนการใช้เทคโนโลยีนี้ อีกทั้งโปรแกรม ICT ต้องบูรณาการกับหลักสูตรและการสอนอย่างเหมาะสม


รูป 2 ** ข้อมูลเปรียบเทียบการใช้คอมพิวเตอร์ของครูกับนักเรียนในชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์

** ใน PISA 2012 ประเทศไทยไม่ได้เก็บข้อมูลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียน

ที่มา : OECD, 2015


ผลจากการศึกษาวิจัย พบว่า ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างผลการเรียนรู้กับการให้นักเรียนใช้แทบเล็ต โน้ตบุ๊ค หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แต่การให้ครูใช้สิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์มากกว่า

การใช้เทคโนโลยีจะให้ผลดีต่อเมื่อใช้ไม่มากเกินไปและใช้อย่างมีจุดประสงค์ และผสมผสานสอดคล้องกับหลักสูตร

คอมพิวเตอร์ไม่อาจใช้แทนครูได้ เพราะครูคือผู้สอนที่แท้จริง

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)