เบื้องหลังความสำเร็จใน PISA ของบางประเทศ

แม้ว่า OECD จะทำโครงการ PISA ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบายของประเทศสมาชิกให้ทราบถึงระดับคุณภาพการศึกษา และวิธีการยกระดับสำหรับประเทศที่ยังด้อยคุณภาพเมื่อเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ แต่ทุกวันนี้ PISA กลับกลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่จะแสดงถึงศักยภาพของระบบการศึกษาของประเทศ ซึ่งแสดงว่า PISA มีความสำคัญทำให้หลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจคิดทบทวนถึงอิทธิพลของ PISA ที่ส่งตรงต่อระบบการศึกษา

การประเมินนี้ OECD มีหลักยึดอยู่ว่า เยาวชนอายุ15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่จบการศึกษาภาคบังคับควรต้องมีพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็งโดยเฉพาะในสามด้านหลัก คือ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม PISA ประเมินความสามารถในการใช้ความรู้ โดยใช้กรอบแนวคิดในชีวิตจริงตามสถานการณ์ที่เยาวชนจะต้องพบเจอในชีวิตประจำวันมากกว่าการประเมินว่า นักเรียนมีความรู้ในแต่ละวิชานั้น ๆ มากหรือน้อยเพียงใด

เนื่องจากข้อมูลของทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินจะถูกนำมาวิเคราะห์บนสเกลเดียวกัน PISA จึงกำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคการดำเนินการ (Technical Standards) ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการสุ่มตัวอย่างทั้งระดับโรงเรียนและระดับนักเรียน การแปลข้อสอบ การตรวจให้รหัสคะแนนข้อสอบ การบันทึกข้อมูล ฯลฯ ที่ทุกประเทศที่เข้าร่วมโครงการต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศใดจะเลือกเฉพาะโรงเรียนดี ๆ เป็นกลุ่มตัวอย่างหรือใช้นักเรียนอายุต่ำกว่าหรือมากกว่า 15 ปี มาสอบ เพราะการทำผิดข้อตกลงจะมีผลทำให้ไม่อาจนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ และประเทศที่มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานข้อตกลง ก็จะไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์
ผลการประเมินในรายงานฉบับนานาชาติ (International Report) เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน

ในการนี้หลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินต่ำได้ถือว่า ผล PISA เป็น Alarm Clock และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยกระดับกันมาตั้งแต่ระยะแรก ๆ และหลายประเทศประสบความสำเร็จ ตัวอย่างหนึ่ง คือ โปแลนด์ได้ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้จากนักเรียนที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ใน PISA 2000 จนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ตั้งแต่ปี 2012 ดังแสดงในรูป 1


รูป 1 การเปลี่ยนแปลงคะแนนวิทยาศาสตร์ของโปแลนด์

ที่มา: Delaney, A. and Kraemer, J., 2018


อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่ผลการประเมินชี้ว่า คุณภาพการเรียนรู้ยังต่ำ แต่ระดับนโยบายที่ยังไม่เข้าใจกับประเด็นปัญหาหรือยังเข้าใจไม่ถูกต้องในขั้นตอนของการประเมิน เช่น การสุ่มตัวอย่าง การแปลข้อสอบ เป็นต้น จึงขอให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านว่า PISA เป็นการวิจัยในระดับนานาชาติที่ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎกติกาของ OECD โดยที่ทุกประเทศต้องดำเนินการตามมาตรฐานด้านเทคนิคการดำเนินการอย่างเคร่งครัด และ OECD มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการสุ่มตัวอย่าง การแปลข้อสอบ ซึ่ง OECD มีคณะผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยทำหน้าที่ตรวจสอบการแปลอย่างเคร่งครัด

ดังนั้น ถ้าระดับนโยบายต้องการยกระดับคุณภาพ ควรพิจารณาข้อมูลจากประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จว่าดำเนินการกันอย่างไร ในที่นี้จะยกตัวอย่างสองระบบการศึกษาเพื่อเป็นแนวทาง ได้แก่ ฟินแลนด์และเกาหลีใต้ที่ได้รับการยกย่องว่าจัดการศึกษาได้ดีที่สุดในโลก

ฟินแลนด์

ฟินแลนด์เป็นโมเดลของระบบการศึกษาขนาดเล็ก ผลการประเมินชี้ว่า ฟินแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงใน PISA และนักเรียนมีผลการประเมินสูงสุดหรืออยู่ในห้าลำดับแรกหรือสิบลำดับแรกเสมอมา

ลักษณะของการศึกษาที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ นอกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เข้มแข็งแล้ว ปัจจัยอื่นที่ช่วยส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จใน PISA มีดังนี้ (Malaty G., 2006 and Näätänen M., 2008)

  1. ความสำเร็จในการผลิตครูก่อนประจำการ (ยึดมั่นในการมีครูคุณสมบัติสูงและการคัดเลือกนักเรียนที่มีแรงบันดาลใจสูงที่จะเป็นครู) ครูในฟินแลนด์ทุกคนต้องจบระดับปริญญาโทเป็นอย่างน้อย ยกเว้นครูอนุบาลก่อนวัยเรียนที่จบระดับปริญญาตรีได้ ครูที่จะสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในชั้นปีที่ 7 – 12 ต้องมีวุฒิปริญญาโททางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์
     
  2. วัฒนธรรมความเชื่อมั่นในวิชาชีพครู ทางด้านวิชาชีพการสอน ครูมีภารกิจหลักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ “การสอน” ความใส่ใจในการเล่าเรียนของศิษย์ และการเชื่อมั่นและไว้วางใจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีต่อครูเป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานของฟินแลนด์
     
  3. ความสำเร็จในการฝึกอบรมครูประจำการ การฝึกอบรมครูประจำการของฟินแลนด์ มีการจัดการที่ดีโดยมีองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ การศึกษาท้องถิ่น สมาคมครู และสมาคมครูวิชาต่าง ๆ เช่น สมาคมครูคณิตศาสตร์ เป็นต้น ทำหน้าที่จัดการอบรมครูแบบต่าง ๆ แต่ละมหาวิทยาลัยมีศูนย์การศึกษาต่อเนื่องต่างจัดการศึกษาแบบต่าง ๆ ซึ่งบางทีศูนย์ต่าง ๆ ก็จัดการอบรมให้ฟรี หรือครูได้เงินสนับสนุนจากโรงเรียน และถ้าเป็นวิชาที่ต้องการครูก็จะออกค่าใช้จ่ายเองเพื่อเข้ารับการอบรมในวิชาที่สนใจ นอกจากนี้ ยังมีความพยายามของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้ก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ
     
  4. สวัสดิการและชีวิตในโรงเรียน ในห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนน้อย (8 -10 คน) ทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง โดยเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียน ครูมีอิสระและมีความรับผิดชอบ อีกทั้งมีบรรยากาศในโรงเรียนที่ดี คือ ไม่มีการตรวจสอบการทำงานของครู ครูสามารถสร้างหลักสูตรเองที่เป็นไปตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรที่กำหนดโดยคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ครูสามารถเลือกหนังสือเรียนได้เอง ชั่วโมงเรียนใช้เวลาเรียน 45 นาที และพัก 15 นาที ซึ่งนักเรียนสามารถออกไปวิ่งเล่นนอกห้องได้โดยมีครูหนึ่งคนหรือมากกว่าหนึ่งคนคอยดูแล นักเรียนจึงมีเวลาย่อยและซึมซับความรู้ที่ครูสอน โดยไม่เครียดจากการถูกยัดเยียดหรือทำการบ้านจำนวนมาก
     
  5. โรงเรียนไม่แตกต่างกัน โรงเรียนในฟินแลนด์เป็นตัวสะท้อนถึงประเพณีความเท่าเทียมกันของฟินแลนด์ โรงเรียนเอกชนมีน้อยมากเพราะประชาชนมีความเชื่อมั่นในโรงเรียนและครูของรัฐ (Näätänen M., 2008) ในฟินแลนด์ ความแตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่มีผลกระทบต่อผลการเรียนของนักเรียนซึ่งไม่เหมือนในประเทศอื่น ๆ ที่ตัวแปรนี้ส่งผลค่อนข้างสูง
     
  6. นักเรียน นักเรียนฟินแลนด์เป็นนักอ่านที่ดี และมีสื่อช่วยส่งเสริมทั้งทางภาพยนตร์และรายการทีวี ที่ส่งเสริมการอ่าน มีห้องสมุดท้องถิ่น ซึ่งทั้งระบบต่างส่งเสริมการอ่านของนักเรียน นอกจากนั้น หนังสือเรียนยังมีคำถามหรือโจทย์ปัญหาในทำนองเดียวกับคำถามของ PISA ทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับวิธีคิดและตอบปัญหาแบบนั้น นักเรียนฟินแลนด์เรียนทั้งแบบที่สร้างความรู้พื้นฐานที่เข้มข้นผสมกับการเรียนแบบยืดหยุ่นที่นักเรียนไม่ต้องเครียดมาก ฟินแลนด์มีเวลาเรียนสั้นในแต่ละวัน แต่มีกิจกรรมพิเศษที่มีผู้สนับสนุนโรงเรียนจัดให้เพราะเชื่อว่า การเรียนรู้เกิดได้นอกโรงเรียน

เกาหลีใต้

กาหลีใต้เป็นอีกระบบหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่มีความแตกต่างจากฟินแลนด์อย่างมาก เป็นต้นว่า ระบบของเกาหลีใต้เป็นระบบขนาดใหญ่จึงมีลักษณะที่แตกต่างกันมาก ในขณะที่เวลาเรียนของเด็กฟินแลนด์มีเวลาพักผ่อนเล่นสนุกอย่างอิสระ 15 นาที ในทุกการเรียน 45 นาที แต่นักเรียนเกาหลีใต้ใช้เวลาเรียนเกือบทั้งวันทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ทั้ง ๆ ที่สองระบบนี้แตกต่างกันอย่างมาก แต่ก็ได้รับการยกย่องว่า จัดการศึกษาได้ดีที่สุดและมีคะแนนอยู่กลุ่มบนสุดของการประเมิน PISA เสมอมา ปัจจัยที่ทำให้ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ คือ

  1. วัฒนธรรม
    ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมการให้คุณค่าแก่การศึกษา เกาหลีใต้มีแรงกระตุ้นและให้ความสำคัญอย่างเข้มข้นแก่การศึกษา นักเรียนเกาหลีใต้มีแรงกดดันสูงมากกับการเรียนและเรียนกันแบบบ้าคลั่งเพราะเชื่อว่า ถ้ายิ่งเรียนหนักมากเท่าไรก็จะเก่งขึ้นเท่านั้น

    วัฒนธรรมในเกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นเรื่องความขยันและการทำงานหนัก คือ ตัวการสำคัญในการยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม วัฒนธรรมนี้ได้ถูกส่งผ่านไปยังนักเรียนในการเล่าเรียน ครอบครัวเกาหลีใต้ให้คุณค่าสูงมากต่อการศึกษา ครอบครัวมีความคาดหวังสูงมาก ซึ่งถือเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่นักเรียนจะต้องประสบความสำเร็จในการศึกษา ดังนั้น จึงไม่มีข้อแก้ตัวใด ๆ ถ้านักเรียนคนหนึ่งจะล้มเหลวในการเรียน พ่อแม่ในเกาหลีใต้จะใช้เงินเฉลี่ยประมาณ 25% ของรายได้ให้แก่การศึกษาของลูกทั้งค่าใช้จ่ายในวัสดุการเรียนและการเรียนกับครูพิเศษ ซึ่งทั้งพ่อแม่และนักเรียนต่างมีแรงจูงในการเรียนไม่ต่างกัน (Yang P., 2016)  

  2. นักเรียน
    นักเรียนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับทุกการสอบหรือการประเมิน ในการประเมินของ PISA นักเรียนจึงมีผลการประเมินที่สูงกว่านักเรียนจากประเทศร่ำรวยและมีค่าการลงทุนทางการศึกษาต่อหัวที่สูงกว่าเกาหลีใต้ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา และสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD อีกด้วย

    รูป 2 คะแนนเฉลี่ยของเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และค่าเฉลี่ย OECD ใน PISA 2015

    นักเรียนเกาหลีใต้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่นสนุกแบบวัยรุ่นทั่วไปนัก ในระบบโรงเรียนของเกาหลีใต้ไม่มีแนวคิดของเรื่องสมดุลระหว่างการเรียน เล่น หรือกิจกรรมเพื่อสุขภาพ เพราะการเป็นนักเรียนคือความรับผิดชอบทางการเรียนให้ดีที่สุดและต้องเรียนเพื่อให้ได้เกรดเฉลี่ยสูง นักเรียนจึงมีความกดดันเรื่องการเรียน การสอบปลายปี และการผ่านเข้าไปเรียนในระดับวิทยาลัย
     
  3. ครู
    ทั้ง ๆ ที่สองระบบมีความแตกต่างกันอยู่เป็นอันมาก แต่ฟินแลนด์และเกาหลีใต้มีจุดเด่นที่เหมือนกันอยู่หนึ่งอย่าง คือ สังคมครู ครูฟินแลนด์และครูเกาหลีใต้ได้รับการยกย่องอย่างสูงไม่ใช่เพียงฐานะเป็นผู้มีความรู้เท่านั้น แต่ในฐานะภาพลักษณ์ของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ซึ่งตามความเป็นจริงอาชีพครูในเกาหลีใต้เป็นที่นิยมและได้รับการยกย่องอย่างสูง ในขณะที่นักเรียนที่จะเข้าเรียนฝึกหัดครูประถมศึกษาในฟินแลนด์มีเพียงหนึ่งในสิบ และเกาหลีใต้มีเพียง 5% ของผู้สมัครเท่านั้นที่จะผ่านการคัดเลือก ครูจึงเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่จะผลักดันอาชีพทางการศึกษาของชาติ

     ครูเกาหลีใต้มีความคาดหวังทางการเรียนของนักเรียนสูงมากเช่นกัน ครูต้องการให้นักเรียนได้เรียนอย่างหนักและประสบความสำเร็จในชีวิต การเป็นครูในเกาหลีใต้ต้องรับผิดชอบการสอนวันละ 5 คาบการเรียน และพบนักเรียนสี่ครั้งต่อสัปดาห์ และสอนพิเศษให้นักเรียนสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลารวม 20 ครั้ง เพื่อให้นักเรียนที่จำเป็นและต้องการความช่วยเหลือทางการเรียน หรือต้องการให้อธิบายหรือสอนเพิ่มเติม จึงไม่ค่อยมีนักเรียนที่ล้าหลังเพื่อน นักเรียนเกาหลีใต้ประมาณ 75% มีผลการเรียนดีมาก เพราะต้องการศึกษาต่อในระดับวิทยาลัยต่อไป

PISA ได้ให้ข้อมูลแล้วว่าระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จนั้นมีลักษณะอย่างไร ในที่นี้นำเสนอโมเดลจากสองระบบการศึกษาทั้งที่มีขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อให้พิจารณาตามบริบทของระบบในแต่ละประเทศ

ฟินแลนด์กับเกาหลีใต้มีสิ่งหนึ่งที่ร่วมกัน คือ การให้ความเคารพครูและวิชาชีพของครู การคัดเลือกคนเข้าสู่อาชีพครูเป็นไปอย่างเข้มข้น และมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่านั้นที่ทำหน้าที่ผลิตครู แต่สิ่งที่สองระบบตรงข้ามกัน คือ ลักษณะการเรียน โมเดลเกาหลีใต้ คือ ความอดทนและการเรียนหนักมากของนักเรียน ในขณะที่นักเรียนฟินแลนด์เรียนสบาย ๆ และยืดหยุ่นได้ มีเวลาเรียนสั้น ๆ และมีกิจกรรมเสริมมากมายจากสังคม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าฟินแลนด์เป็นตัวแทนของระบบการศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ คงใช้เป็นต้นแบบได้ยาก

อ่านเพิ่มเติม

  • Choi A., (September 4, 2014), What the best education systems are doing right, (Online), Available: https://ideas.ted.com/what-the-best-education-systems-are-doing-right/, Retrieved November 1, 2018.
  • Delaney, A. and Kraemer, J., (2018), Global Perspectives: How Poland Moved into the Top Ranks of International Performance, (Online), Available: https://ncee.org/2014/07/global-perspectives-how-poland-moved-into-the-top-ranks-of-international-performance/, Retrieved November 1, 2018.
  • Malaty G., (December, 2006), What are the reasons behind the success of Finland in PISA?, Matilde 29, (Online), Available: https://www.researchgate.net/publication/305810326_What_are_the_reasons_behind_ the_success_of_Finland_in_PISA_Matilde_29_2006_pp4-8, Retrieved November 1, 2018.
  • Näätänen M., (2008), PISA –survey, Finnish schools, teacher training and math. education, (Online), Available: https://www.unavarra.es/VIIRDYDM/pdf/PISA%20-survey,%20Finlandia.doc, Retrieved November 1, 2018.
  • Yang P., (December 21, 2016), Why is South Korea education so successful ?, (Online), Available: https://medium.com/@pasuahayang22/why-is-south-korea-education-so-successful-e05abab1a91c, Retrieved October 5, 2018.

 ดาวน์โหลด (PDF, 947KB)