ผลการประเมิน PISA 2015 ด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving: CPS)

ข่าวสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 924 ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110


ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ร่วมกับ OECD ดำเนินโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศในการเตรียมความพร้อมเยาวชนอายุ 15 ปีให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 และประเมินต่อเนื่องทุก 3 ปี

PISA 2015 นอกจากการประเมินการรู้เรื่องด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นการประเมินพื้นฐานของ PISA แล้ว ได้เพิ่มการประเมินสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือหรือ CPS (Collaborative Problem Solving) ที่นักเรียนต้องใช้ทั้งทักษะการแก้ปัญหาและทักษะการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่ม ทำภารกิจในข้อสอบให้สำเร็จลุล่วง โดยให้สถานการณ์ในชีวิตจริงที่สมาชิกในกลุ่มต้องร่วมกันแก้ปัญหาผ่านการทำข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์และนักเรียนเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ต้องทำความเข้าใจกับเป้าหมายและเงื่อนไขของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและเพื่อน แล้วสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และร่วมกันแก้ปัญหากับเพื่อนในกลุ่มให้สำเร็จ

ทาง OECD ได้เผยแพร่ผลการประเมินสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เลือกสอบสมรรถนะนี้ใน PISA 2015 เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ผลการประเมิน พบว่า คะแนนเฉลี่ยสูงสุดห้าอันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (561 คะแนน) ญี่ปุ่น (552 คะแนน) ฮ่องกง (541 คะแนน) เกาหลี (538 คะแนน) และ แคนาดา และเอสโตเนีย (535 คะแนน)

สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ 436 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 500 คะแนน) โดยกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนน 559 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุดห้าอันดับแรก (Top 5) และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนน 520 คะแนน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

นักเรียนหญิงมีคะแนนสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือสูงกว่านักเรียนชายในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย 29 คะแนน ส่วนประเทศไทยนักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 35 คะแนน การที่นักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายนั้นมีความสัมพันธ์ต่อเจตคติที่ดีที่นักเรียนหญิงมีต่อการทำงานเป็นทีมมากกว่านักเรียนชาย



ดาวน์โหลด (PDF, 280KB)