บทสรุปสำหรับผู้บริหาร นโยบายที่มีประสิทธิภาพ – โรงเรียนที่ประสบความสําเร็จ จากการประเมิน PISA 2018

บทสรุปสำหรับผู้บริหารฉบับนี้เป็นการนำเสนอนโยบายและแนวปฏิบัติที่ใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียนของระบบการศึกษาจาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน PISA 2018 โดยการศึกษาวิจัยนี้เป็นการตรวจสอบว่า นโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกและแยกกลุ่มนักเรียน การลงทุนทางทรัพยากรการศึกษา การกำกับดูแลระบบการศึกษา และการวัดและการประเมินผลการศึกษา มีความสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ ความเท่าเทียมกันของผลการเรียนรู้ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนอย่างไร

ความเป็นธรรมทางการศึกษาเป็นอย่างไร

ข้อมูลจากการวิจัยนานาชาติชี้ว่า ทรัพยากรการเรียนเป็นตัวแปรที่อิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม สามารถลดอิทธิพลของตัวแปรนี้ลงได้ ความเป็นธรรมทางการศึกษา มิได้มีความหมายถึงการให้ทรัพยากรที่เท่ากันหมด เพราะว่าการให้ที่เท่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพราะคนที่มีต้นทุนเดิมมากยังคงมีมากเหนือคนอื่นอยู่ดี และคนที่มีต้นทุนเดิมน้อยก็ยังมีน้อยเหมือนเดิม ระบบที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบ แต่ให้การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม

การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมสำคัญอย่างไร

การมีและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเป็นมาตรการหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ การมีทรัพยากรที่มีคุณภาพสามารถทดแทนความเสียเปรียบทางภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนได้ โรงเรียนที่ด้อยกว่าและมีผลการประเมินต่ำ จึงไม่ใช่โรงเรียนที่ระบบการศึกษาพึงเพิกเฉยต่อไป

การจัดสรรทรัพยากรสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้อย่างไร

การศึกษา PISA ไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะคะแนนหรือเปรียบเทียบผลการประเมินระหว่างประเทศสมาชิก แต่ตั้งใจให้ข้อมลูของตัวแปรทุกตัวเพื่อหาคำอธิบายว่าตัวแปรใดส่งอิทธิพลกระทบต่อคุณภาพการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด ตัวแปรหนึ่งที่พบว่าส่งอิทธิพลต่อการเรียนรู้อย่างมากคือ ทรัพยากรการเรียน

ปัจจัยที่ทำให้ระบบโรงเรียนประสบความสำเร็จ

นอกจาก PISA ประเมินผลครอบคลุมความรู้และทักษะในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีการสำรวจตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพของผลการเรียนรู้ของนักเรียน ทั้งในตัวแปรทางโรงเรียน ตัวแปรภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวและของโรงเรียน และด้านพ่อแม่ผู้ปกครอง สำหรับรายงานฉบับนี้เป็นผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากตัวแปรด้านโรงเรียนที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

ปัจจัยทางโรงเรียนกับคุณภาพการเรียนรู้

เมื่อมองผลการประเมินจากมุมมองของประเทศไทย นักเรียนวัยจบการศึกษาภาคบังคับของไทย เมื่อเทียบกับสมาชิก OECD แล้วยังไม่แสดงศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ในอนาคต ผลการประเมินชี้ว่าไทยยังต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ทั้งในเรื่องครู ทรัพยากรการเรียน และการจัดการต่างๆ ในระบบโรงเรียน