การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมสำคัญอย่างไร


  • การจัดสรรทรัพยากรมีความสำคัญพอ ๆ กับการมีทรัพยากร
  • ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินสูงมักมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม ให้ทั้งโรงเรียนที่เสียเปรียบและที่ได้เปรียบทางด้านสถานะเศรษฐกิจและสังคม
  • ระบบการศึกษาสามารถลดผลกระทบจากภูมิหลังทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่มีต่อผลการเรียนรู้ได้ด้วยการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาโดยถือหลักความเป็นธรรม

ทรัพยากรการเรียนอย่างพอเพียงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ แต่การที่จะแปลงทรัพยากรให้ออกมาเป็นผลการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และทรัพยากรนั้นถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรการศึกษาตามนิยามเชิงปฏิบัติการของ PISA หมายรวมถึง เงิน ทรัพยากรบุคคล (ครู) ทรัพยากรวัตถุ (โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรการเรียน) และเวลาเรียน

ประเทศคะแนนสูงมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

ในระดับระบบการศึกษา ความยุติธรรมในการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อการเท่าเทียมกันเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องไปถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนในระบบโดยรวมด้วย ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่คะแนนสูง มักจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมทุกโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD เช่น ฟินแลนด์ เยอรมนี เกาหลี และสโลวีเนีย ในประเทศเหล่านี้ โรงเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่ารายงานว่ามีทรัพยากรพอเพียงเท่า ๆ กับโรงเรียนที่มีภูมิหลังที่ได้เปรียบกว่าหรือมีมากกว่าในบางกรณี (ข้อมูลจากรายงานของครูใหญ่) และโรงเรียนที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรมากกว่าจะมีผลการประเมินสูงกว่า ข้อมูลนี้จึงชี้นัยว่า ระบบโรงเรียนสามารถลดผลกระทบจากภูมิหลังทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่มีต่อผลการเรียนรู้ได้ด้วยการจัดสรรทรัพยากรการศึกษาอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ในหลายระบบโรงเรียนมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ค่าเฉลี่ย OECD ชี้ว่าส่วนมาก โรงเรียนที่ด้อยเปรียบกว่ามักมีชั้นเรียนที่เล็กกว่า และมักขาดแคลนครู ทรัพยากรวัตถุ และวัสดุการเรียนการสอน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าโรงเรียนที่มีภูมิหลังที่ได้เปรียบ และทรัพยากรที่มีก็มักด้อยคุณภาพกว่าของโรงเรียนใหญ่ที่มีนักเรียนที่มีภูมิหลังที่ได้เปรียบกว่า เช่น ในประเทศสมาชิก OECD ประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นประเทศที่มีการจัดสรรทรัพยากรได้ไม่ดีนักเป็นอันดับสอง (รองจากเม็กซิโก) นักเรียนที่ด้อยเปรียบประมาณ 25% อยู่ในโรงเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ วัสดุการเรียน (เช่น หนังสือเรียน) การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ฯลฯ แต่นักเรียนที่มีภูมิหลังได้เปรียบมีเพียง 15% ที่ขาดแคลน ความแตกต่างนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในประเทศคะแนนต่ำ เช่น ในลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ รวมถึงไทยด้วย ความแตกต่างของทรัพยากรสามารถอธิบายความแตกต่างของผลการเรียนของนักเรียนที่สังเกตได้จากการประเมินถึง 19% หลังจากอธิบายด้วยค่า GDP ต่อหัว

ทรัพยากรการเรียน

ทรัพยากรวัตถุที่ PISA ศึกษา หมายรวมถึง ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน ประเด็นนี้จึงเกี่ยวข้องกับนโยบายการใช้งบประมาณที่จะให้ความสำคัญกับทรัพยากรการเรียนหรือโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนโยบายการกระจายทรัพยากรด้วย

  • ผลการวิจัยชี้ว่า ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานส่งผลกระทบหรือมีความสัมพันธ์ต่ำกับคุณภาพการเรียนรู้ ส่วนทรัพยากรการเรียนเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบสูงต่อการเรียนรู้ (OECD, 2013a)
  • แม้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนจะส่งผลกระทบต่อการเรียน แต่ข้อมูลจาก PISA 2012 ชี้ว่า 50% ของความแปรผันระหว่างโรงเรียนมาจากผลกระทบของทรัพยากรการเรียน ข้อมูลชี้นัยว่า ทรัพยากรโรงเรียนสามารถทดแทนผลกระทบหรือความเสียเปรียบของนักเรียนที่มีภูมิหลังทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำได้ โดยการที่โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้นักเรียนที่เสียเปรียบเหล่านี้ ให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรการเรียนได้อย่างทั่วถึง (OECD, 2013a)
  • ปัจจัยที่ส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ใช่เพียงการมีทรัพยากร หากแต่เป็นคุณภาพของทรัพยากรที่มีและวิธีการที่ทรัพยากรนั้น ๆ ถูกนำไปใช้

สำหรับทรัพยากรการเรียนของไทย มีค่าดัชนีคุณภาพต่ำกว่าทุกประเทศในอาเซียน (ยกเว้นอินโดนีเซีย) และต่ำกว่าระบบโรงเรียนในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วยกัน



ยิ่งไปกว่านั้น โรงเรียนไทยมีความไม่เท่าเทียมของทรัพยากรการเรียนสูงมาก โดยกลุ่มสูงมากกับต่ำมากมีค่าแตกต่างกันเกือบสามหน่วยดัชนี การกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมจึงเป็นความจำเป็นที่ระดับนโยบายควรนำมาพิจารณาและปฏิบัติ ในสถานภาพปัจจุบัน ระบบโรงเรียนใช้วิธีใครดีกว่าให้มากกว่า (เช่น กรณีค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนในโรงเรียนต่างกัน) หรือให้เท่ากันหมด (เช่น กรณีค่าใช้จ่ายการเรียนฟรี) ซึ่งบางทีกลับกลายเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า เพราะนักเรียนที่จำเป็นจริง ๆ ก็ยังมีไม่ครบตามความจำเป็นต่ำสุดที่ควรมี (Minimum requirements) ในขณะที่โรงเรียนที่มีมากก็ได้เกินความจำเป็น

ตัวอย่างการกระจายทรัพยากรในประเทศที่มีผลการประเมินสูง เช่น ฟินแลนด์ โรงเรียนที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมได้รับการจัดสรรทรัพยากรต่ำกว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าทางเศรษฐเศรษฐกิจและสังคม ข้อมูลการขาดแคลนทรัพยากรในฟินแลนด์เป็นโรงเรียนที่ได้เปรียบกว่า มีการขาดแคลนทรัพยากรการศึกษามากกว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบกว่า (OECD, 2013a)

อนึ่ง การเลือกทรัพยากรการเรียนที่ส่งผลกระทบทางบวกต่อการเรียนรู้ถือเป็นประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบทางบวกสูงเป็นพวกอุปกรณ์การเรียน วัสดุอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ วัสดุอุปกรณ์ห้องสมุด ส่วนทรัพยากรบางประเภทแม้ว่าจะเป็นกระแสนิยมในสังคม แต่ข้อมูลจากการประเมินยังไม่สามารถชี้ว่า ส่งผลกระทบทางบวกต่อการเรียนรู้ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ข้อมูลยังไม่สามารถชี้ว่าส่งผลทางบวกต่อการเรียนรู้ของนักเรียนดังที่คาดหวัง การวิจัยจึงชี้นัยว่าเป็นการเสี่ยงเกินไปที่จะคาดหวังว่าคอมพิวเตอร์จะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนของนักเรียน และทุ่มงบประมาณการศึกษาไปกับคอมพิวเตอร์ ถ้าหากยังไม่มีซอฟต์แวร์การศึกษา และความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมการศึกษาที่เพียงพอ การพัฒนาซอฟต์แวร์และโปรแกรมการศึกษาให้เทียมทันกับฮาร์ดแวร์ที่ลงทุนไปแล้วจึงเป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่ควรทำในขณะนี้

ผลการเรียนรู้ของนักเรียนในกลุ่มประเทศ OECD มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรการศึกษาที่มีให้กับโรงเรียน (ค่าสหสัมพันธ์เฉลี่ย 0.63 มีนัยสำคัญทางสถิติ) ความแปรปรวนของผลการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิก OECD นั้น 33% มาจากความพอเพียงของทรัพยากร ส่วนทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ เมื่ออธิบายด้วยค่า GDP และตัวแปรภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนแล้ว ปรากฏว่า ค่าสหสัมพันธ์เฉลี่ยเฉพาะประเทศสมาชิก OECD มีค่า -0.12 ส่วนค่าสหสัมพันธ์เฉลี่ยรวมทุกประเทศมีค่า 0.02 (ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)

ในระดับระบบโรงเรียน วิธีการที่ระบบโรงเรียนจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนที่มีความได้เปรียบและเสียเปรียบกันทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการประเมิน ใน 32 ประเทศ โรงเรียนที่ครูใหญ่รายงานว่า มีทรัพยากรการศึกษาพอเพียงก็พบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการประเมิน แม้ในประเทศที่มีผลการประเมินต่ำ โรงเรียนที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรมากกว่าจะมีผลการประเมินสูงกว่า ข้อมูลจึงชี้นัยว่า ระบบโรงเรียนสามารถลดผลกระทบจากภูมิหลังทางสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่มีต่อผลการเรียนรู้ได้ด้วยการกระจายทรัพยากรการศึกษาอย่างเป็นธรรม (OECD, 2013b)

ระบบโรงเรียนมีการกระจายทรัพยากรอย่างไร

ระบบโรงเรียนไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากในการกระจายทรัพยากรการเรียน กลุ่มที่มีสูงมากกับกลุ่มที่มีต่ำมาก มีค่าดัชนีความพร้อมแตกต่างกันถึง 2.36 หน่วย และกลุ่มต่ำมีจำนวนมากกว่ากลุ่มสูงส่งผลให้ดัชนีเฉลี่ยทั้งระบบมีค่าต่ำ (-0.68)


รูป 1 ความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนของกลุ่มโรงเรียนต่าง ๆ

ที่มา: PISA 2012 Thailand database


สำหรับระบบโรงเรียนไทย ข้อมูลชี้ว่า ค่าดัชนีทรัพยากรการเรียนที่ต่างกันหนึ่งหน่วยดัชนีส่งผลให้คะแนนต่างกัน 8.1 คะแนน ดังนั้น โรงเรียนที่มีผลการประเมินต่ำควรได้รับการจัดสรรให้มีความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเรียนรู้ ส่วนทรัพยากรที่ยังไม่แสดงว่าส่งผลกระทบทันทีอาจชะลอไว้ก่อน เช่น คอมพิวเตอร์ เนื่องจาก ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่านักเรียนที่ใช้คอมพิวเตอร์มากมีผลสัมฤทธิ์สูง (ดังรูป 2)


รูป 2 คะแนนคณิตศาสตร์และการอ่านของนักเรียนแต่ละกลุ่มที่ใช้คอมพิวเตอร์

ที่มา: OECD, 2005


การมีและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเป็นมาตรการหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ การมีทรัพยากรที่มีคุณภาพสามารถทดแทนความเสียเปรียบทางภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนได้ โรงเรียนที่ด้อยกว่าและมีผลการประเมินต่ำ จึงไม่ใช่โรงเรียนที่ระบบการศึกษาพึงเพิกเฉยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 735KB)