การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจากมุมมองของ PISA

การกลั่นแกล้ง หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า การบูลลี่ (bullying) เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง ซึ่งหมายถึงการ กระทำให้บุคคลที่อ่อนแอกว่าได้รับอันตรายทางร่างกายหรือรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจจากการกระทำอย่างซ้ำ ๆ ด้วยความตั้งใจ โดยจุดเริ่มต้นของการกลั่นแกล้งมักเกิดขึ้นจากความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เพศ เชื้อชาติ และรูปลักษณ์ภายนอก ในปัจจุบันการกลั่นแกล้งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ การกลั่นแกล้งทางร่างกาย การกลั่นแกล้งทางวาจา การกลั่นแกล้งทางสังคม และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (cyberbullying) ซึ่งหากการกลั่นแกล้งนั้นเกิดขึ้นในหมู่เยาวชนจะยิ่งมีผลกระทบทางลบที่รุนแรงทั้งต่อผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ สำหรับผู้ถูกกระทำ การกลั่นแกล้งอาจทำให้พวกเขาขาดสมาธิในการเรียนรู้ ไม่อยากมาโรงเรียน จนส่งผลกระทบต่อผลการเรียนรู้ รวมถึงเกิดปมด้อยภายในจิตใจที่อาจส่งผลในระยะยาวทำให้พวกเขามีปัญหาในการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้กระทำเองก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในอนาคต  ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลก็คือ ขณะนี้เยาวชนทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน

ใน PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนด้วย 6 ข้อคำถาม ดังแสดงในรูป 1


รูป 1: แบบสอบถามนักเรียนถึงประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งประเภทต่าง ๆ


ในแต่ละข้อคำถามย่อย หากนักเรียนเลือกตอบว่ามีประสบการณ์อย่างน้อย “สองถึงสามครั้งต่อเดือน” คำตอบของนักเรียนจะถูกนำไปคิดเป็นสัดส่วนของนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งโดยไม่คำนึงถึงประเภทของการกลั่นแกล้ง ซึ่งในที่นี้จะสะท้อนถึงภาพรวมของ “การถูกกลั่นแกล้ง” ในโรงเรียนของนักเรียน นอกจากนี้ ข้อมูลข้างต้นยังจะถูกนำไปวิเคราะห์รวมกันเป็น “ค่าดัชนีการถูกกลั่นแกล้ง” (Index of exposure to bullying) ซึ่งได้กำหนดค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ที่ 0 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1 ซึ่งหมายความว่า หากประเทศใดมีค่าดัชนีเป็นบวกแสดงว่าในประเทศนั้นมีนักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมากกว่านักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD นั่นเอง  และเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการถูกกลั่นแกล้งของนักเรียนจากทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินแล้ว นักเรียนที่มีค่าดัชนีสูงสุดอยู่ในกลุ่ม 10% บน จะถูกจัดให้เป็น “นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ” 

สถานการณ์ของปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเป็นอย่างไร

จาก PISA 2018 ทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินต่างรายงานว่าพบปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จากค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 23% ที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนและมีนักเรียน 8% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ โดยพบว่าข้อมูลของนักเรียนมีความแตกต่างกันมากเมื่อเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เช่น นักเรียนมากกว่า 40% จากบรูไน สาธารณรัฐโดมินิกัน และฟิลิปปินส์ รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนและมีนักเรียนมากกว่า 20% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ ในขณะที่เนเธอแลนด์และจีนไทเป มีนักเรียนน้อยกว่า 15% ที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน และมีนักเรียนน้อยกว่า 5% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ สำหรับประเทศไทยพบว่า มีนักเรียน 27% ที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนและมีนักเรียน 13% ที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ 


รูป 2: ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้ง


ทั้งนี้ การกลั่นแกล้งแต่ละประเภทอาจพบในโรงเรียนได้ในปริมาณที่ต่างกันออกไป ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุของนักเรียน ประเทศและวัฒนธรรม เป็นต้น  โดยมีงานวิจัยพบว่า การกลั่นแกล้งทางวาจาและทางสังคมเป็นประเภทของการกลั่นแกล้งที่พบมากที่สุดในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก PISA 2018 ที่พบว่า มีการกลั่นแกล้งทางวาจาและทางสังคมมากกว่าการกลั่นแกล้งทางร่างกายในหลายประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า มีนักเรียนประมาณ 9% – 14% ที่รายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งทางวาจาและทางสังคมอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน สำหรับการกลั่นแกล้งทางร่างกาย ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า มีนักเรียนประมาณ 7% ที่รายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน อย่างไรก็ตาม พบว่าร้อยละดังกล่าวมีความแตกต่างมากเมื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น ฟิลิปปินส์มีนักเรียนถึง 31% รายงานว่าถูกนักเรียนคนอื่นแย่งหรือทำลายสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นของนักเรียนอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน ในขณะที่เกาหลีมีนักเรียนที่รายงานเช่นนั้นเพียง 1% ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวอาจเกิดจากความแตกต่างของวัฒนธรรมและแบบแผนทางสังคมที่ส่งผลต่อการรับรู้ของนักเรียนต่อความรุนแรงประเภทต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยพบว่า นักเรียนไทยรายงานว่ามีประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งแต่ละประเภทในสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ดังแสดงในรูป 3


รูป 3: ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่ามีประสบการณ์ต่อไปนี้อย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือน ในช่วง 12 เดือน ก่อนตอบแบบสอบถาม


นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมีลักษณะอย่างไร

การศึกษาลักษณะเฉพาะของนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งอาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องพบเจอกับเหตุการณ์เช่นนั้นเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป  PISA จึงได้เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างนักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนกับนักเรียนที่ไม่ได้รายงานว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยผลการเปรียบเทียบข้อมูลแต่ละด้านของนักเรียนเป็นดังนี้

เพศ

ในภาพรวมของการกลั่นแกล้งทุกประเภท พบว่า นักเรียนชายจาก 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนมากกว่านักเรียนหญิง โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบความแตกต่างระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 5% ส่วนประเทศไทยพบความแตกต่างอยู่ที่ 14% อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะการกลั่นแกล้งทางสังคมจะพบว่าความแตกต่างระหว่างเพศลดลง โดยในบางประเทศ เช่น เบลเยียมและสหราชอาณาจักร กลับพบว่า มีนักเรียนหญิงที่รายงานว่าถูกนักเรียนคนอื่นกระจายข่าวลือที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวนักเรียนมากกว่านักเรียนชาย

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ใน 41 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่า นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบ[1] รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนมากกว่านักเรียนที่ได้เปรียบ[2] ซึ่งข้อมูลนี้มีแนวโน้มที่สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งมีความแตกต่างระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 4% ส่วนประเทศไทยพบความแตกต่างที่ 7% แต่ในบางประเทศกลับพบข้อมูลในทิศทางกลับกัน เช่น อินโดนีเซียและญี่ปุ่น พบว่านักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบกลับรายงานว่าถูกนักเรียนคนอื่นตั้งใจกีดกันออกจากสิ่งต่าง ๆ และทำให้ฉันเป็นตัวตลกอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนมากกว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบ


  • [1] นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25)
  • [2] นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป)

ระดับชั้นที่นักเรียนอายุ 15 ปี กำลังศึกษาอยู่

ในประเทศ/เขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่พบว่า นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นรายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนมากกว่านักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาอื่นที่พบว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งกันของนักเรียนจะพบมากที่สุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อพวกเขาเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบความแตกต่างระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้อยู่ที่ 8% ส่วนประเทศไทยพบความแตกต่างอยู่ที่ 10%

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

การมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้นักเรียนถูกกลั่นแกล้ง และเนื่องจาก PISA 2018 เน้นประเมินด้านการอ่านเป็นหลัก ดังนั้น PISA จึงเปรียบเทียบประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งระหว่างนักเรียนที่มีคะแนนการอ่านสูง (มีคะแนนอยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) กับนักเรียนที่มีคะแนนการอ่านต่ำ (มีคะแนนอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) ของแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่พบว่า นักเรียนที่มีคะแนนการอ่านต่ำรายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนมากกว่านักเรียนที่มีคะแนนการอ่านสูง โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า นักเรียนสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่ต่างกันอยู่ 13%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนการอ่านกับดัชนีการถูกกลั่นแกล้ง พบว่า เมื่อตัดผลกระทบของตัวแปรสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและโรงเรียนแล้ว สำหรับประเทศสมาชิก OECD หากค่าดัชนีการถูกกลั่นแกล้งเพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลให้คะแนนการอ่านลดลง 9 คะแนน ส่วนประเทศไทยจะส่งผลให้คะแนนการอ่านลดลง 14 คะแนน นอกจากนี้ นักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนจะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่ไม่ได้รายงานเช่นนั้นถึง 21 คะแนน ส่วนประเทศไทยนักเรียนที่รายงานว่าถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อเดือนจะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่าถึง 33 คะแนน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการกลั่นแกล้งส่งผลทางลบต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียน ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้พวกเขามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ คือนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งมีแนวโน้มที่จะขาดเรียนมากกว่านักเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งเลย 

การกลั่นแกล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อสภาพจิตใจและสุขภาพทางกายของวัยรุ่น โดยการถูกกลั่นแกล้งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า การรู้สึกวิตกกังวลและโดดเดี่ยว รวมถึงการเคารพตนเองต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก PISA 2018 ที่พบว่า นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำจะรู้สึกเศร้าใจ หวาดกลัว และไม่พึงพอใจกับชีวิตมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำ การกลั่นแกล้งจึงมักเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาที่ติดตัวนักเรียนไปในอนาคตหรืออาจนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด ดังนั้น การกลั่นแกล้งในโรงเรียนจึงไม่ใช่เพียงปัญหาเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มนักเรียนเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะโรงเรียนและครอบครัว โดยตัวอย่างข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน จากการเสวนาในหัวข้อ “BULLYING” กลั่นแกล้ง ความรุนแรงที่รอวันประทุ (กรุงเทพธุรกิจ, 9 มกราคม 2563) เป็นดังนี้

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume III): What School Life Means for Students’ Lives, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/acd78851-en.
  • กรุงเทพธุรกิจ, (9 มกราคม 2563), ‘บูลลี่’ เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861433, วันที่สืบค้น 15 พฤษภาคม 2563.
  • ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต, (19 ธันวาคม 2562), กลั่นแกล้ง/รังแก (Bullying) ในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.prdmh.com/สาระสุขภาพจิต/สาระน่ารู้สุขภาพจิต/1457-กลั่นแกล้ง-รังแก-bullying-ในโรงเรียน-ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น.html, วันที่สืบค้น 15 พฤษภาคม 2563.

ดาวน์โหลด (PDF, 613KB)