ระบบการศึกษาที่ดีเป็นอย่างไร

ในทุกวันนี้มีโรงเรียนหลากหลายรูปแบบและได้มีงานวิจัยมากมายที่ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะหรือรูปแบบของระบบโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม คำถามที่ยังคงมีการถามในทุกยุคทุกสมัย คือ “เราจะรู้ได้อย่างไรว่า โรงเรียนแบบไหนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิภาพนั้นวัดกันได้อย่างไร” สำหรับนักวิจัยหลายคนเห็นสอดคล้องกันว่า ผลการประเมินของนักเรียนคือตัวชี้วัดความสำเร็จของโรงเรียน ซึ่งถือว่ามีเหตุผลเนื่องจากโรงเรียนมีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาแก่นักเรียน แต่ก็มีนักวิจัยหลายคนไม่เห็นด้วย และเห็นว่า การพัฒนาลักษณะทางสังคมของนักเรียนน่าจะสำคัญกว่า อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังเห็นว่า มีอีกหลายองค์ประกอบที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ (Lynch, 15 December 2015)

องค์ประกอบที่คนทั่วไปและสาธารณชนจะพิจารณาเป็นสิ่งแรก คือ ผลการประเมินที่นักเรียนแสดงออกเมื่อเทียบกับมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยมีโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานชาติ (PISA) ของ OECD ที่สามารถแสดงผลการประเมินของนักเรียนและองค์ประกอบของระบบโรงเรียนที่เปรียบเทียบกันได้ ผลการประเมินของ PISA 2015 ในสามด้านหลัก (การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 10 อันดับแรกในแต่ละด้าน แสดงดังตาราง 1


ตาราง 1 คะแนนเฉลี่ยด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ 10 อันดับแรก (PISA 2015)

หมายเหตุ * จีนเข้าร่วมโครงการ PISA 2015 เฉพาะใน 4 มณฑล ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และกวางตุ้ง


ในบรรดาประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกนั้น เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ แต่ไทยและอินโดนีเซียยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ซึ่งจะเห็นได้ว่า ระบบโรงเรียนของไทยยังไม่สามารถทำให้นักเรียนมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ใกล้เคียงกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย และผลการประเมินยังชี้ว่า เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่มีค่า GDP ต่ำกว่าไทยแต่มีระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ จึงถึงเวลาที่ระบบการศึกษาไทยควรตื่นตัวเพื่อการยกระดับการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพราะคุณภาพของการศึกษาในวันนี้สะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะต้องสูญเสียในอนาคต (OECD, 2010)

จากที่กล่าวว่า ผลการประเมินของนักเรียนเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงประสิทธิภาพของโรงเรียนเท่านั้น ยังมีตัวชี้วัดอื่นที่แสดงถึงประสิทธิภาพของระบบการศึกษา ทั้งนี้ World Economic Forum ได้จัดอันดับโลกด้านการศึกษาเพื่ออนาคตสำหรับปี 2018 ปรากฏว่า ฟินแลนด์ได้รับการยกย่องว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุด (Bennett, P. W., 18 August 2019) และเกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องคุณภาพการศึกษา ทั้งสองประเทศนี้จัดการศึกษาอย่างไร และโรงเรียนมีลักษณะเป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและอาจนำบางประเด็นมาเปรียบเทียบกับประเทศที่มีผลการประเมินต่ำเพื่อพิจารณาความเหมือนและความต่างที่ทำให้คุณภาพการศึกษาแตกต่างกัน

เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ทั้งฟินแลนด์และเกาหลีใต้มีระบบการศึกษาที่เรียกได้ว่าไร้ประสิทธิภาพ สถานะทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์อยู่ในความเสี่ยงที่จะย่ำแย่กว่าประเทศอื่นในยุโรป ส่วนเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง แต่หลังจากนั้นเพียงครึ่งศตวรรษหลัง ทั้งฟินแลนด์และเกาหลีใต้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าทางการศึกษา จนกระทั่งปัจจุบันได้ชื่อว่า มีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งบทเรียนจากสองระบบการศึกษานี้สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ระบบการศึกษาอื่น ๆ (Colagrossi M., 9 September 2018; Yang P., 21 December 2016) ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ทำไมฟินแลนด์จึงได้ชื่อว่าดีที่สุด

  • ไม่มีการสอบมาตรฐาน

    ฟินแลนด์ไม่มีการสอบมาตรฐาน โดยนักเรียนฟินแลนด์จะมีเพียงการสอบที่เรียกว่า The Matriculation Examination ซึ่งเป็นการสอบโดยสมัครใจเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย การเรียนปกติของนักเรียนจึงไม่มีความเครียดและไม่เกิดความกดดันจากการสอบอย่างเช่นนักเรียนไทย

    แม้ว่าการสอบจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะทราบได้ว่า นักเรียนเข้าใจวิชาที่เรียนหรือไม่ แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือ การอัดวิชาความรู้ให้กับนักเรียนมากเกินไปเพื่อให้สอบผ่าน และครูก็จะสอนเพียงเพื่อให้นักเรียนทำข้อสอบได้ การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสนใจของครูและนักเรียน ในฟินแลนด์ นักเรียนทุกคนจะได้รับผลการเรียนเป็นรายบุคคลโดยครูเป็นผู้ให้ระดับคะแนน ส่วนการติดตามความก้าวหน้าโดยรวมเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้สุ่มตรวจตามโรงเรียนต่าง ๆ

  • ครูเป็นที่ไว้วางใจและตรวจสอบได้

    โดยทั่วไปครูมักจะเป็นคนแรกที่ถูกตำหนิเมื่อนักเรียนมีผลการประเมินต่ำ แต่สำหรับในฟินแลนด์ครูถูกตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก การให้ระดับผลการเรียนแก่นักเรียนจึงไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับครูให้ปฏิบัติตาม Dr.Pasi Sahlberg, director of the Finnish Ministry of Education ได้กล่าวเกี่ยวกับความรับผิดชอบของครูในฟินแลนด์ว่า “ไม่มีคำว่าเป็นที่ไว้วางใจและตรวจสอบได้ในภาษาฟินแลนด์…คำว่าเป็นที่ไว้วางใจและตรวจสอบได้จะหมดไปเมื่อมีความรับผิดชอบเข้ามา”

    ครูฟินแลนด์ทุกคนต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโทก่อนที่จะเข้าสู่อาชีพครู การเรียนครูเป็นสิ่งที่ยากมากแต่นักเรียนส่วนใหญ่ที่มีผลการเรียนดีก็อยากเป็นครู และถ้าครูทำงานได้ไม่ดีจะเป็นความรับผิดชอบของครูใหญ่ในการดำเนินการแก้ไข

  • มีความร่วมมือ ไม่มีการแข่งขัน

    ในขณะที่อเมริกาและประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทยเชื่อมั่นในทฤษฎีการคัดเลือกของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่า “สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด” ซึ่งทำให้ชีวิตของเด็กไทยเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อให้ถูกคัดเลือก ตั้งแต่การเข้าโรงเรียนในวัยอนุบาลยังมีการสอบคัดเลือก มีการกวดวิชาทั้ง ๆ ที่เรียนในโรงเรียนแล้ว แต่ก็ต้องกวดวิชาเพื่อให้ได้คะแนนสูงกว่าคนอื่น ในขณะที่ฟินแลนด์นั้นมีมุมมองที่ต่างออกไป โดย Dr.Pasi Sahlberg ได้ใช้นโยบายจากคำพูดของนักเขียนชื่อ Samuli Parone ว่า “ผู้ชนะที่แท้จริงจะไม่แข่งขันกับใคร” เจตคตินี้ทำให้การศึกษาของฟินแลนด์อยู่หัวแถวในระดับนานาชาติ เพราะระบบการศึกษาของฟินแลนด์ไม่ใส่ใจเรื่องของการให้รางวัล ไม่มีรายชื่อโรงเรียนหรือครูดีเด่น ไม่มีบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมของการแข่งขัน แต่เป็นการทำงานด้วยความร่วมมือกัน

  • คุณภาพชีวิตในระดับพื้นฐานต้องมาเป็นอันดับแรก

    ระบบโรงเรียนส่วนมากมีความกังวลอย่างมากกับคะแนนสอบและความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนจนลืมนึกถึงความสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สุขภาพของนักเรียน และสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้ เมื่อหลายปีก่อน ฟินแลนด์เองก็เคยเป็นเช่นนั้นจนกระทั่งได้มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง จุดเน้นการศึกษาของฟินแลนด์คือการกลับไปสู่ความต้องการพื้นฐานที่นักเรียนควรได้รับไม่ใช่การทำให้นักเรียนมีคะแนนเป็นเลิศ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางการเรียนที่ทำให้โรงเรียนเป็นที่ที่มีความเท่าเทียมกันมากที่สุด

  • เริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุเหมาะสม

    ในขณะที่หลายประเทศเร่งรัดให้เด็กเข้าโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย บางประเทศเร่งจัดการศึกษาฟรีตั้งแต่ก่อนวัยเรียน แต่ฟินแลนด์ให้เด็กเริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุ 7 ขวบ การเข้าโรงเรียนเมื่ออายุมากขึ้นเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างอิสระเพราะช่วงวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังพัฒนาไม่ควรผูกมัดกับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นเพียงวิธีที่จะให้เด็กเป็นเด็ก การให้เด็กเข้าโรงเรียนตั้งยังเล็กถือว่าเป็นการกักขังเด็กจากโลกเสรีของเด็ก

  • บรรยากาศผ่อนคลาย นักเรียนฟินแลนด์ไม่เครียด

    ห้องเรียนในฟินแลนด์มีขนาดเล็ก นักเรียนใช้เวลาเรียนไม่นานในแต่ละวัน นักเรียนไม่จำเป็นต้องตื่นเช้าและรีบไปโรงเรียนเพราะเริ่มเข้าเรียนเวลา 9.00 – 9.45 น. และเลิกเรียนเวลา 14.00 – 14.45 น. ซึ่งงานวิจัยหนึ่งให้ข้อมูลว่า การเริ่มเรียนในเวลาเช้ามาก ๆ ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพและวุฒิภาวะของเด็ก นักเรียนฟินแลนด์มีช่วงพักระหว่างชั่วโมงเรียนเพื่อผ่อนคลายประมาณช่วงละ 15 – 20 นาที จึงมีเวลาเล่นมากกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน นอกจากนั้น ยังมีการบ้านน้อยซึ่งใช้เวลาทำประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้น การมีชีวิตที่สมดุลระหว่างโรงเรียนกับนอกโรงเรียนทำให้นักเรียนไม่มีความเครียด

เกาหลีใต้เป็นอีกระบบการศึกษาที่ได้ชื่อว่าดีที่สุด

ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้มีลักษณะต่างจากฟินแลนด์แทบตรงกันข้าม แบบฉบับของเกาหลีใต้ คือ “การทำงานหนัก หนัก และหนัก” ซึ่งเกือบจะเป็นธรรมเนียมของเอเชียก็ว่าได้ที่หนทางที่จะได้งานทำที่ดี จะได้เลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม คือ ต้องสอบแข่งขัน การสอบที่ต้องใช้ความรู้ที่สะสมตลอดการศึกษาเล่าเรียนมา แม้ในปัจจุบันประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบขงจื้อก็ยังคงให้คุณค่าความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตัดสินจากผลการสอบ

สังคมเกาหลีใต้มีแรงผลักดันมากเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นระบบที่เอาจริงเอาจังอย่างสุดขั้วและนักเรียนประสบความสำเร็จอย่างสูงในการประเมินผลนานาชาติ นักเรียนเกาหลีใต้จึงมีความกดดันอย่างมากในการเรียนตลอดปี ซึ่งต้องเรียนทั้งในโรงเรียนและต้องเรียนกวดวิชากับครูพิเศษเพื่อให้มีผลการสอบที่ดี โดยถือคติที่ว่า “ถ้ามีความพยายามในการเรียนมากก็จะเก่งมาก” ในเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมความเชื่อในการทำงานหนักและขยันหมั่นเพียรไม่มีข้อแก้ตัวให้กับความล้มเหลวใด ๆ นักเรียนเกาหลีใต้จึงถูกกดดันจากสังคมและจากสมาชิกในครอบครัว

ซึ่งครอบครัวเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอันดับแรก ความสำเร็จทางการศึกษาถือว่าเป็นหน้าเป็นตาในวัฒนธรรมและเป็นการยกระดับสถานะทางสังคมด้วย เด็กเกาหลีใต้จะถูกสอนให้เรียนรู้วิธีเรียนที่จะได้คะแนนสูง การเรียนอย่างหนักและการลุกขึ้นสู้ใหม่หลังจากล้มเหลว ครูจะสอนไม่ให้นักเรียนยอมแพ้ พ่อแม่หลายคนใช้เงินประมาณ 25% ของรายได้ในการซื้ออุปกรณ์การเรียนและให้ลูกเรียนพิเศษ ซึ่งพ่อแม่เกือบทั้งหมดได้ให้ลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนปกติเพราะต้องการให้ลูกได้คะแนนสูงในการสอบ จึงเห็นได้ว่า ในเกาหลีใต้ทั้งพ่อแม่และตัวนักเรียนต่างก็มีแรงจูงใจสูงมากในเรื่องการศึกษา

ในการสอบ PISA เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จพอ ๆ กับฟินแลนด์ เกาหลีใต้ก็เหมือนฟินแลนด์ในอดีตที่คุณภาพการศึกษาไม่ได้โดดเด่นในระดับโลก ในช่วงสงครามเกาหลี (หลังปี 1950) คนเกาหลีใต้ 78% ไม่รู้หนังสือ อีกทั้งรายได้ประชาชาติก็ต่ำ ในปี 1970 รายได้ประชาชาติต่อหัวของเกาหลีใต้มีประมาณเพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เกาหลีใต้ก็เหมือนฟินแลนด์ที่เห็นว่า การศึกษาคือทางรอดทางเดียวเท่านั้น

สองระบบการศึกษาที่มีความเป็นเลิศ แต่วิถีทางเดินไปสู่ความเป็นเลิศนั้นแตกต่างกัน โดยนักเรียนฟินแลนด์เรียนสบาย ๆ ไม่กดดัน มีการบ้านน้อย มีเวลาเรียนต่อวันไม่มาก และไม่มีความกดดันจากการสอบ ส่วนนักเรียนเกาหลีใต้มีแรงกดดันจากการเรียนสูง นักเรียนเกาหลีใต้ต้องเรียนตลอดทั้งวันและน่าจะเรียนหนักกว่าเด็กวัยเดียวกันทั่วโลก โรงเรียนเกาหลีใต้มีการสอบเป็นแรงผลักดันซึ่งมีการสอบบ่อยมากและนักเรียนต้องทำคะแนนให้สูง มีการสอบคัดเลือกเข้าเรียนแม้กระทั้งในเด็กเล็ก แม้จะมีข้อกล่าวหาว่าการศึกษาเกาหลีใต้โหดเกินไป แต่นักเรียนก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเป็นที่หนึ่งของโลก

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองระบบมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ มีครูชั้นเยี่ยมที่ได้รับการเตรียมวิชาชีพมาอย่างดี รู้ภารกิจและหน้าที่ของครูเป็นอย่างดี และอาชีพครูในสองระบบการศึกษานี้เป็นอาชีพที่คนอยากเลือกทำมากที่สุดอาชีพหนึ่ง

การศึกษาของฟินแลนด์และเกาหลีใต้ได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพดีที่สุดในโลก แม้ว่าทั้งสองระบบจะมีวิถีทางที่แตกต่างกันราวกับขาวกับดำ แต่ทั้งสองระบบการศึกษาก็ไปสู่ปลายทางคือความเป็นเลิศเหมือนกัน และทั้งสองระบบต่างก็ให้บทเรียนแก่ระบบการศึกษาอื่นที่ยังต้องแสวงหาความเป็นเลิศอยู่ว่าใครจะเลือกระบบใดหรือระบบใดมีความเหมาะสมต่อการนำมาเป็นต้นแบบของตน สำหรับระบบการศึกษาไทยซึ่งยังห่างไกลจากความเป็นเลิศ เมื่อพิจารณาระบบการศึกษาไทยเทียบกับฟินแลนด์แล้วต้องไม่ลืมว่าฟินแลนด์เป็นประเทศขนาดเล็ก (มาก) มีจำนวนประชากรน้อย โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนน้อยและแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ 8 คน แต่สำหรับไทยเป็นประเทศขนาดใหญ่มีจำนวนนักเรียนมาก ซึ่งห้องเรียนมีขนาดใหญ่คล้ายเกาหลีใต้มากกว่า จึงดูเหมือนว่าระบบการศึกษาของเกาหลีใต้น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีของไทยได้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันซึ่งอาจจะแก้ยากคือวัฒนธรรมความขยัน การทำงานหนักและเอาจริงกับการเรียน และอีกอย่างหนึ่งคือคุณภาพของการจัดการศึกษาที่เตรียมบุคลากรครูมาสู่อาชีพครูที่แตกต่างกันมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นที่เกาหลีใต้หรือฟินแลนด์ก็ตาม นักเรียนที่มีคะแนนสูงอยู่ในระดับบนสุดเท่านั้นที่จะสามารถเป็นนักเรียนครูได้ แต่นักเรียนไทยที่มีคะแนนสูงส่วนใหญ่มักไม่สนใจเป็นครู ข้อนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายระบบการศึกษาไทย

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 824KB)