เมื่อการอ่านกลับมาเป็นการประเมินหลักใน PISA 2018

การอ่าน – ทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิต

การอ่านเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ การดำเนินชีวิต และการพัฒนาการงานอาชีพของทุกคน บุคคลที่ขาดความสามารถและทักษะการอ่านหรืออาจเรียกว่า “ไม่รู้เรื่องการอ่าน” ย่อมขาดเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ

PISA ให้ความสำคัญกับการรู้เรื่องการอ่านเป็นอันดับแรก จึงได้บรรจุให้เป็นการประเมินหลักในการประเมินครั้งแรกของ PISA ในปี 2000 (PISA 2000) ซึ่งตั้งแต่การประเมินการรู้เรื่องการอ่านในครั้งแรกก็นับเป็นเวลา 20 ปี มาแล้ว อย่างไรก็ตาม PISA ได้มีการปรับปรุงนิยามเกี่ยวกับการรู้เรื่องการอ่านในบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรมของโลกในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของกรอบการประเมินการรู้เรื่องการอ่าน

ปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ผู้คนต้องอ่านมีปริมาณและความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับสื่อที่ใช้ในการอ่านรูปแบบใหม่ซึ่งมีวิธีใช้ที่ซับซ้อนมากขึ้นด้วย ปัจจุบันจึงเป็นที่ยอมรับว่า โดยทั่วไปแล้วความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะด้านการอ่านจะพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและวัฒนธรรม ทักษะการอ่านจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโต ความสำเร็จทางการศึกษา รวมถึงการมีส่วนร่วมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และเนื่องจากผู้คนและสภาพสังคมในปัจจุบันแตกต่างไปจากเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว นิยามเกี่ยวกับความสามารถด้านการอ่านเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จของผู้คนจึงต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

เมื่อลักษณะของการรู้เรื่องการอ่านมีการเปลี่ยนแปลงทำให้กรอบโครงสร้างการประเมินการรู้เรื่องการอ่านต้องเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน การรู้เรื่องการอ่านซึ่งเป็นการประเมินหลักใน PISA 2000 และกลับมาเป็นการประเมินหลักอีกครั้งในการประเมินครั้งที่สี่ นั่นคือ PISA 2009 ซึ่งในรอบการประเมินนี้ได้มีการปรับปรุงการประเมินการรู้เรื่องการอ่านเป็นครั้งแรกทั้งในด้านกรอบโครงสร้างและการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล และเมื่อครบรอบที่การอ่านกลับมาเป็นการประเมินหลักอีกครั้งใน PISA 2018 ก็ได้มีการปรับปรุงกรอบโครงสร้างและพัฒนาเครื่องมือการประเมินการรู้เรื่องการอ่านอีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

การรู้เรื่องการอ่านใน PISA 2000

การพัฒนากรอบโครงสร้างการประเมินการรู้เรื่องการอ่านในรอบการประเมินแรกนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่าน (Reading Expert Group หรือเรียกว่า REG) ได้พิจารณานิยามการรู้เรื่องการอ่านโดยรวบรวมสาระจากสองงานวิจัย ได้แก่ IEA Reading Literacy Study ในปี 1992 และ International Adult Literacy Survey (IALS 1994, IALS 1997 และ IALS 1998) โดยเฉพาะในการประเมินของ IALS ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องทักษะการอ่านเพื่อการมีส่วนร่วมในสังคมเป็นหลัก นอกจากนี้ยังเน้นกระบวนการทางสติปัญญาด้านภาษาศาสตร์และทฤษฎีการแก้ปัญหาด้วยข้อมูลอีกด้วย

ใน PISA 2000 ได้นิยามการรู้เรื่องการอ่านว่า “ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ สามารถประเมิน และสะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม” ส่วนกลยุทธ์การอ่านใน PISA 2000 เน้นความสามารถในการอ่านสามด้าน ได้แก่ การค้นสาระ คือ สามารถดึงเอาสาระของสิ่งที่อ่านออกมาได้ การตีความ คือ ความเข้าใจข้อความที่ได้อ่าน สามารถตีความ แปลความสิ่งที่ได้อ่าน และการวิเคราะห์ คือ ความสามารถในการประเมินข้อความที่ได้อ่าน และสามารถให้ความเห็น หรือโต้แย้งจากมุมมองของตน นอกจากนี้ ในกรอบการประเมินการรู้เรื่องการอ่านยังกำหนดว่า ความสามารถในการอ่านหมายรวมถึงความรักและความผูกพันกับการอ่านด้วย (OECD, 2003)

การรู้เรื่องการอ่านใน PISA 2009

เนื่องจาก PISA มีเป้าหมายในการประเมินเพื่อให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลการประเมินและการติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของทักษะการอ่านที่เกิดขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป เมื่อการรู้เรื่องการอ่านกลับมาเป็นการประเมินหลักใน PISA 2009 สาระในกรอบโครงสร้างการประเมินการรู้เรื่องการอ่านส่วนใหญ่จึงยังคงใช้เหมือนกับ PISA 2000 แต่ในนิยามการรู้เรื่องการอ่านได้เพิ่ม “ความรักและผูกพันกับการอ่าน” จึงได้นิยามการรู้เรื่องการอ่านว่า “ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม” โดยกลยุทธ์การอ่านยังคงแบ่งออกเป็นความสามารถในการอ่านสามด้านเช่นเดิม แต่ปรับแก้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ การเข้าถึงและค้นคืนสาระ การบูรณาการและตีความ และการสะท้อนและประเมิน

แม้กระนั้นก็ตาม PISA ยังต้องการพัฒนาการประเมินการรู้เรื่องการอ่านให้ทันสมัยและผสมผสานพัฒนาการใหม่ ๆ ทั้งในด้านทฤษฎีและแนวปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงกรอบโครงสร้างให้มีพัฒนาการใหม่ ๆ รวมอยู่ด้วย ซึ่งสะท้อนถึงความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลก เช่น มีพัฒนาการและความก้าวหน้าในการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นต้น อีกทั้งผลการวิจัยที่โดดเด่นในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นทำให้ “ความรักและความผูกพันกับการอ่าน” และ “อภิปัญญา” (Metacognition) ซึ่งหมายถึง การตระหนักรู้และเข้าใจตนเองว่าตนสามารถพัฒนาความเข้าใจถ้อยความที่อ่านมาได้อย่างไร และใช้กลยุทธ์ใดเพื่อรู้เรื่องการอ่านเข้ามาเป็นลักษณะสำคัญของการประเมินการอ่านทั้งใน PISA 2009 และต่อเนื่องมาจนถึง PISA 2015

การปรับเปลี่ยนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งใน PISA 2009 คือ การนำสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการประเมิน เนื่องจากบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีบทบาทอย่างสูงกับทักษะการอ่านที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ จึงมีการพัฒนาข้อสอบสำหรับทำบนคอมพิวเตอร์ การประเมินใน PISA 2009 จึงเป็นการประเมินขนาดใหญ่ที่มีผู้สอบจำนวนมากในระดับนานาชาติรายแรกที่มีการประเมินการรู้เรื่องการอ่านด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การรู้เรื่องการอ่านใน PISA 2018

PISA 2018 เป็นรอบที่การประเมินการรู้เรื่องการอ่านกลับมาเป็นการประเมินหลักอีกครั้ง ซึ่งกรอบโครงสร้างการประเมินการรู้เรื่องการอ่านยังคงมีลักษณะส่วนใหญ่เหมือนใน PISA 2009 อย่างไรก็ตาม ได้มีการปรับปรุงกรอบโครงสร้างบางส่วนเพื่อให้ทันต่อยุคสมัย โดยมีการทบทวนและปรับปรุงในแง่มุมต่อไปนี้

  • มีการบูรณาการรูปแบบการอ่านแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากมีการแพร่หลายของสื่อดิจิทัลและอุปกรณ์ดิจิทัล
  • การแก้ไขปรับปรุงได้คำนึงถึงการใช้ทางเลือกด้านเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิทัล เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของการประเมินการรู้เรื่องการอ่านและให้สอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก
  • มีการปรับปรุงเกี่ยวกับกระบวนการอ่านพื้นฐานแต่ยังคงความต่อเนื่องกับกรอบโครงสร้างเดิมเพื่อให้สามารถติดตามแนวโน้มได้ด้วย เช่น ความคล่องของการอ่าน การตีความตามตัวอักษร การผสมเนื้อความระหว่างประโยค การดึงสาระหลักและการสรุปสิ่งที่อ่านซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญ

PISA 2018 ได้เพิ่มคำว่า “ประเมิน” ในนิยามการรู้เรื่องการอ่าน จึงได้นิยามเป็น

สามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม

 
และได้เปลี่ยนกลยุทธ์การอ่านเป็น “กระบวนการการอ่าน” เพื่อให้ครอบคลุมความสามารถด้านการอ่านในแง่มุมต่าง ๆ มากขึ้น โดยแบ่งออกเป็นสามกระบวนการ ดังนี้

การรู้ตำแหน่งข้อสนเทศ การมีความเข้าใจ การประเมินและสะท้อน
  • เข้าถึงและค้นสาระข้อสนเทศที่อยู่ในเนื้อเรื่อง
  • ค้นหาและเลือกเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้อง
  • แสดงถึงความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงของเนื้อเรื่อง
  • บูรณาการและลงข้อสรุปจากข้อสนเทศหลายๆ ส่วนที่อยู่ในเนื้อเรื่อง
  • ประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของเนื้อเรื่องได้
  • สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบของเรื่องที่ได้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ
  • ตรวจสอบข้อมูลที่ขัดแย้งกันและหาวิธีจัดการข้อขัดแย้งนั้น

การเปลี่ยนแปลงข้อสอบการอ่านใน PISA 2018

เมื่อ PISA ได้เริ่มศึกษาและสร้างกรอบโครงสร้างการรู้เรื่องการอ่านในปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ.1997) มีประชากรโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 1.7% แต่ใน พ.ศ. 2557 มีอัตราของประชากรโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 40.4% คิดเป็นเกือบสามพันล้านคน และระหว่าง พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2556 มีการใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยมีประชากรโลกเกือบทั้งหมด (95.5 คน ต่อประชากร 100 คน) ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ อีกทั้งมีการใช้โทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเกือบสองพันล้านคนทั่วโลก การใช้อินเทอร์เน็ตจึงแผ่ขยายเข้าสู่การใช้ชีวิตของผู้คน เมื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพเป็นภาระหน้าที่ที่มนุษย์ต้องทำตลอดชีวิต นักเรียนจึงจำเป็นต้องมีทักษะการอ่านและการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการใช้ข้อมูลที่มีความซับซ้อนและมีปริมาณมาก

ใน PISA 2018 จึงพัฒนาข้อสอบการอ่านให้มีเนื้อหาอยู่ในรูปแบบสื่อดิจิทัลด้วย เช่น อีเมล กระดานสนทนา การคุยบนหน้าจอ (Chat) และเครือข่ายสังคม (Social network) ดังตัวอย่างข้อสอบทางด้านล่างที่ OECD อนุญาตให้เผยแพร่ได้



เมื่อการอ่านเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการพัฒนาความสำเร็จของมนุษย์ ใน PISA 2015 ซึ่งเป็นการประเมินครั้งล่าสุดที่มีการเผยแพร่ผลการประเมินแล้ว นักเรียนจากทั่วโลกรวมทั้งนักเรียนไทยแสดงความสามารถในการรู้เรื่องการอ่านกันอย่างไรบ้าง

ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลการประเมินการรู้เรื่องการอ่านสิบอันดับแรก (จากทั้งหมด 70 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ) โดยเรียงลำดับตามคะแนนมากไปน้อย ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง(จีน) ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ เอสโตเนีย เกาหลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ และมาเก๊า(จีน) ซึ่งในสิบประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีสามประเทศอยู่ในเอเชีย แต่สำหรับผลการประเมินการรู้เรื่องการอ่านของนักเรียนไทยจัดอยู่ในระหว่างอันดับที่ 56 – 57 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD การแสดงผลการประเมินเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตทั้งในเชิงคุณภาพของประชากรและคุณภาพของเศรษฐกิจ เพราะคุณภาพของการศึกษาในวันนี้สะท้อนถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะต้องสูญเสียในอนาคต

สำหรับ PISA 2018 มีกำหนดการเผยแพร่ผลการประเมินในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ซึ่งจะทำให้ทราบว่า นักเรียนจากทั่วโลกแสดงความสามารถในการรู้เรื่องการอ่านเป็นอย่างไรกันบ้าง

การรู้เรื่องการอ่านนั้นอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เช่น นักวิชาการ นักพัฒนา นักการเมือง หรือบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาระดับมืออาชีพที่ประสบความสำเร็จล้วนมีความสามารถในการสื่อสาร การแบ่งปันข้อมูล และการแลกเปลี่ยนสาระความรู้เพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน สามารถปรับเปลี่ยนและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใหม่ ๆ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการรวบรวมและขยายพลังอำนาจของเทคโนโลยีเพื่อสร้างความรู้ใหม่และขยายสมรรถนะและผลผลิตของมนุษยชาติ (OECD, 2015 ; อ้างอิงจาก Binkley et al., 2010) อีกทั้งความสามารถในการบอกตำแหน่งข้อมูล เข้าถึงสาระข้อมูล และสะท้อนข้อมูลทุกประเภทเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการมีส่วนร่วมในสังคมแห่งการเรียนรู้ การรู้เรื่องการอ่านไม่ได้เป็นเพียงพื้นฐานให้กับวิชาอื่น ๆ แต่ยังเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ของการใช้ชีวิตในอนาคต (OECD, 2015 ; อ้างอิงจาก Cunningham & Stanovich, 1998; OECD, 2013a; Smith, Mikulecky, Kibby, & Dreher, 2000) ดังนั้น กรอบโครงสร้างการรู้เรื่องการอ่านของ PISA สำหรับนักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับจึงต้องมุ่งเน้นไปที่ทักษะการอ่าน ซึ่งรวมถึงการค้นหา การเลือก การตีความ การรวบรวมและประเมินสาระข้อมูลจากเนื้อเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกนอกเหนือจากที่เรียนในชั้นเรียน

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2003), Literacy Skills for the World of Tomorrow: Further Results from PISA 2000, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/9789264102873-en.
  • OECD (2015), PISA 2018 Draft Reading Literacy Framework, Proceedings of the 40th meeting of the PISA Governing Board, 26-28 October 2015; Munich, Germany.

 ดาวน์โหลด (PDF, 872KB)