การแก้ปัญหาแบบร่วมมือ : PISA วัดอย่างไร

  • การแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CPS เป็นการประเมินผลนานาชาติเรื่องใหม่ของ PISA ซึ่งเพิ่งเริ่มประเมินครั้งแรกใน PISA 2015
  • ใน PISA 2015 มีประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 72 ประเทศ แต่มีเพียง 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจเลือกเข้าร่วมการประเมิน CPS รวมทั้งประเทศไทยด้วย
  • การประเมิน CPS เป็นการประเมินความสามารถของนักเรียนในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อการแก้ปัญหา
  • ประเทศที่มีผลการประเมินการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์สูง นักเรียนมักมีทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือสูงด้วย
  • ทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของนักเรียนไทยยังอยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาอีกมาก การแก้ปัญหาแบบร่วมมือ : PISA วัดอย่างไร

เนื่องในศักราชใหม่ “Focus ประเด็นจาก PISA” จึงขอนำเสนอมิติใหม่อีกด้านหนึ่งของการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติของ PISA การประเมินผลของ PISA ปกติมีทุกรอบสามปี และมีการประเมินสามด้านหลัก คือ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เนื่องจากเป็นที่ตระหนักว่าการทำงานในโลกสมัยใหม่นั้น ทักษะเฉพาะส่วนบุคคลไม่เพียงพอสำหรับการทำงานเพราะงานสมัยใหม่ต้องการทักษะมากกว่านั้น และทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการแก้ปัญหา ซึ่งต้องมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ดังนั้น PISA 2015 จึงก้าวไปไกลกว่าการวัดความสามารถในการแก้ปัญหาด้วยตนเองเพียงลำพัง มาเป็นการวัดความสามารถของนักเรียนในการแก้ปัญหาแบบร่วมมือในสถานการณ์ที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม ในปี 2012 PISA ได้ระบุว่าในการแก้ปัญหามีสี่กระบวนการที่ผู้แก้ปัญหาต้องทำ ได้แก่

  • การรวบรวมสาระที่เกี่ยวข้องกับปัญหา
  • การนำเสนอปัญหาพร้อมกับสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ตาราง กราฟ สัญลักษณ์ หรือคำพูด
  • การคิดกลยุทธ์วิธีเพื่อแก้ปัญหาและดำเนินการตามกลยุทธ์
  • การให้ผลป้อนกลับที่ได้จากการทำตามกลยุทธ์ในระหว่างการแก้ปัญหา

แม้ว่ากระบวนการที่ใช้ในการแก้ปัญหาทั้งสี่ข้อยังคงใช้ได้อยู่ แต่ในการแก้ปัญหาแบบร่วมมือต้องเพิ่มอีกสามกระบวนการ คือ

  • การสร้างและเก็บรักษาความเข้าใจที่มีร่วมกัน (รู้ว่าสมาชิกในกลุ่มคนใดรู้หรือเข้าใจเรื่องใดมากที่สุดในปัญหานั้นแล้วนำมาแบ่งปันกัน)
  • การเลือกวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา (กำหนดสิ่งที่จะต้องทำในการแก้ปัญหา เช่น ใครต้องทำอะไร และลงมือทำตามที่ตกลงกัน)
  • การสร้างและรักษาระเบียบของกลุ่ม (ติดตามบทบาทของตนเองในกลยุทธ์แก้ปัญหาและตรวจสอบว่าคนอื่น ๆ ทำตามหน้าที่ที่ตกลงกัน)

ผลการประเมินการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

  • นักเรียนสิงคโปร์มีคะแนน (561 คะแนน) สูงกว่าทุกประเทศ รองลงมาคือนักเรียนจากญี่ปุ่น (552 คะแนน) ในขณะที่คะแนนเฉลี่ย OECD คือ 500 คะแนน
  • นักเรียนที่แสดงสมรรถนะ CPS ในระดับสูง สามารถคงไว้ซึ่งกระบวนการของกลุ่มในระหว่างการแก้ปัญหา ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมทุกคนทำงานในบทบาทตามที่ตกลงกัน สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งในขณะที่ติดตามความก้าวหน้าของการทำงาน โดยในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 8% อยู่ในกลุ่มนี้
  • นักเรียนที่แสดงสมรรถนะ CPS ในระดับต่ำ สามารถแก้ได้เพียงปัญหาที่ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อนหรือแก้ปัญหาไม่ได้เลย โดยในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 28% อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ในเอสโตเนีย ฮ่องกง(จีน) ญี่ปุ่น เกาหลี มาเก๊า(จีน) และสิงคโปร์ มีนักเรียนน้อยกว่าหนึ่งในหกอยู่ในกลุ่มนี้
  • ผลการประเมิน CPS มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับผลการประเมินการรู้เรื่องในวิชาหลักทั้งสามวิชา (การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์) แต่น้อยกว่าความสัมพันธ์ในระหว่างสามวิชาด้วยกันเอง
  • นักเรียนจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา มีผลการประเมินสูงกว่าที่คาดหวังเมื่อเทียบกับผลการประเมินการรู้เรื่องจากทั้งสามวิชาหลัก
  • นักเรียนไทยมีคะแนน 436 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่สูงกว่าผลการประเมินการรู้เรื่องสามวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์ 421 คะแนน การอ่าน 409 คะแนน และคณิตศาสตร์ 415 คะแนน)

ความสามารถทางการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของนักเรียนต่างกลุ่ม

  • ผลการประเมินการแก้ปัญหาใน PISA 2012 นักเรียนชายแสดงความสามารถสูงกว่านักเรียนหญิง แต่ตรงข้ามกับผลการประเมิน CPS ใน PISA 2015 นักเรียนหญิงแสดงความสามารถสูงกว่านักเรียนชายในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยนักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย 29 คะแนน ความแตกต่างมีช่องว่างสูงสุดที่สังเกตได้คือมากกว่า 40 คะแนน ในออสเตรเลีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย นิวซีแลนด์ และสวีเดน และช่องว่างแคบที่สุดคือน้อยกว่า 10 คะแนน ในโคลอมเบีย คอสตาริกา และเปรู ส่วนนักเรียนไทยมีช่องว่างค่อนข้างกว้าง โดยนักเรียนหญิงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชาย 35 คะแนน

    รูป 1 เปรียบเทียบความสามารถทางการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

    ที่มา: https://www.oecd.org/pisa/pisa-2015-results-volume-v-9789264285521-en.htm

  • ในกลุ่มนักเรียนที่ทำกิจกรรมออกกำลังกายหรือเข้าเรียนพลศึกษาในชั้นเรียนต่อสัปดาห์มากกว่า มีเจตคติทางบวกต่อการทำงานแบบร่วมมือมากกว่า
  • นักเรียนที่เล่นวิดีโอเกมนอกโรงเรียนมีคะแนน CPS น้อยกว่านักเรียนที่ไม่ได้เล่นเล็กน้อย แต่นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีการสนทนาหรือเข้าร่วมในเครือข่ายสังคมออนไลน์นอกโรงเรียน มักมีคะแนน CPS มากกว่านักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต
  • ผลการประเมิน CPS มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน แต่มีความสัมพันธ์น้อยกว่าความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมกับสามวิชาหลัก
  • ไม่มีความแตกต่างระหว่างนักเรียนที่ได้เปรียบกับที่ด้อยเปรียบ หรือระหว่างนักเรียนที่เป็นผู้อพยพกับนักเรียนที่เป็นเจ้าของถิ่นเดิม
  • นักเรียนที่ทำงานบ้านหรือดูแลสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวเห็นคุณค่าของการทำงานเป็นทีมและความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนสูงกว่า
  • นักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยถูกข่มขู่จากนักเรียนคนอื่น ๆ มีคะแนน CPS สูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าเคยถูกข่มขู่สองสามครั้งต่อปี และในโรงเรียนที่มีนักเรียนรายงานว่าไม่เคยถูกข่มขู่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 10% จะมีคะแนนเพิ่มขึ้น 11 คะแนน
  • นักเรียนที่รายงานว่าได้รับการปฏิบัติจากครูอย่างยุติธรรมมีคะแนน CPS สูงกว่า แม้ว่าจะอธิบายด้วยผลการประเมินการรู้เรื่องของสามวิชาหลักแล้วก็ตาม

ระบบการศึกษาสามารถช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ สร้างโอกาสให้มีการทำงานร่วมกันตามธรรมชาติ พัฒนาทักษะทางสังคม และเจตคติเชิงบวกต่อการทำงานร่วมกัน

การปลูกฝังความสัมพันธ์เชิงบวกในโรงเรียนเป็นประโยชน์ต่อทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของนักเรียน โรงเรียนอาจจัดกิจกรรมเชิงสังคมที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์และความผูกพันกับโรงเรียน ให้การฝึกอบรมครูในด้านการจัดการห้องเรียน  และนำการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดอันธพาลในโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยได้เพราะการทำงานร่วมกันเริ่มต้นได้ที่บ้าน

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 965KB, ฉบับแก้ไข 29 มิถุนายน 2561)