ผลการประเมิน PISA ทุกครั้งที่ผ่านมา ได้รับความสนใจและสร้างความตื่นตัวให้กับสื่อทางการศึกษา เช่น “ประเมินผลการศึกษาทั่วโลก เด็กสิงคโปร์เก่งที่สุด” (โพสต์ทูเดย์, 7 ธันวาคม 2559) “เวียดนามนำไทยทุกด้านในการสอบวัดระดับ PISA” (บีบีซีไทย, 7 ธันวาคม 2559) “PISA 2015 บทเรียนสำคัญจากระดับนานาชาติ” (ไทยพับลิก้า, 21 ธันวาคม 2559) ในการประเมินล่าสุด (PISA 2015) ผลการประเมินชี้ให้เห็นว่าประเทศที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดทั้งสามวิชาเป็นประเทศในเอเชียทั้งสิ้น (สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า จีนไทเป และเกาหลี เป็นต้น) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นักเรียนไทยมีผลการประเมินในกลุ่มคะแนนต่ำ ทั้ง ๆ ที่ในเอเชียมีคะแนนสูงเกือบทั้งสิ้น แม้แต่เวียดนามน้องใหม่ซึ่งเข้าร่วมในโครงการเมื่อ PISA 2012 นี่เองก็มีคะแนนในกลุ่มสูงในวิชาวิทยาศาสตร์ ส่วนไทยซึ่งมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทั้งคะแนนยังมีแนวโน้มลดลง แสดงว่าระบบการศึกษาไทยอาจมีอะไรที่ผิดพลาดเกิดขึ้นในระบบ และน่าจะได้บทเรียนอะไรจากผลการประเมินนานาชาตินี้บ้าง โดยเฉพาะจากระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้าน
PISA 2015 มีการรู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์เป็นการประเมินหลัก ฉบับนี้จึงจะติดตามแนวโน้มของผลการประเมินวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการประเมินการอ่านซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ทุกวิชา จึงควรได้รับรู้ว่าระบบควรให้ความสำคัญของทักษะด้านนี้มากขึ้น
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มคะแนนต่ำ
เมื่อเริ่มต้นการประเมินนานาชาติ PISA ครั้งแรกในชื่อ PISA 2000 (เรียกตามปีของการประเมิน) ในครั้งนั้นทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจในโครงการต่างยังใหม่ต่อการประเมินในลักษณะนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ (OECD) และในปี 2000 นั้น มีประเทศที่คะแนนต่ำเช่นเดียวกันกับไทย แต่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น เปรู บราซิล และอิสราเอล เป็นต้น
ในการประเมินครั้งแรก นักเรียนจากเปรูมีคะแนนรั้งท้ายสุดทั้งด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน (333 คะแนน และ 327 คะแนน ตามลำดับ) และมีบราซิลรองตำแหน่งรั้งท้ายในด้านวิทยาศาสตร์ (375 คะแนน) ส่วนอิสราเอลมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าไทย 2 คะแนน (ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) แต่อิสราเอลมีคะแนนการอ่านสูงกว่าไทย 21 คะแนน แต่ก็อยู่ในกลุ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2015 มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นกับประเทศเหล่านี้ ประเทศใดนับว่าได้ประโยชน์จากการประเมิน PISA มากที่สุด แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคะแนนมีข้อมูลสรุปได้ดังรูป 1 และรูป 2
รูป 1 เปรียบเทียบแนวโน้มวิทยาศาสตร์ของประเทศกลุ่มคะแนนต่ำและประเทศไทย
ข้อมูลจากรูปจะเห็นว่าประเทศคะแนนต่ำที่กล่าวถึงนั้น มีคะแนนสูงขึ้นทุกประเทศ ยกเว้นไทยเพียงประเทศเดียวที่คะแนนต่ำลง ในจำนวนนี้เปรูนับว่าเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการประเมิน PISA มากที่สุด แม้ว่าเมื่อเริ่มต้นเปรูจะมีคะแนนรั้งท้าย แต่ผลการประเมินจาก PISA 2015 ชี้ว่า เปรูเป็นประเทศที่มีการยกระดับมากที่สุด โดยได้เลื่อนขึ้นจากตำแหน่งท้ายสุดบนตารางนานาชาติเมื่อครั้ง PISA 2000 เมื่อมาถึง PISA 2015 แม้เปรูจะยังอยู่ในกลุ่มคะแนนต่ำ แต่นักเรียนจากเปรูมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นถึง 64 คะแนน ส่วนในด้านการอ่านเปรูมีคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 71 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนในช่วงเวลาดังกล่าว
รูป 2 เปรียบเทียบแนวโน้มการอ่านของประเทศกลุ่มคะแนนต่ำและประเทศไทย
พัฒนาการของเปรู
ใน PISA 2015 มี 9 ประเทศจากเขตภูมิภาคลาตินอเมริกา (เปรู อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เม็กซิโก สาธารณรัฐโดมินิกัน และอุรุกวัย) ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ นักเรียนจากเปรูมีความก้าวหน้ามากที่สุด การคิดอัตราความก้าวหน้าของประเทศใน PISA คิดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงคะแนนของนักเรียนทุกสามปี ตามระยะเวลาสามปีของแต่ละรอบการประเมิน ซึ่งสำหรับเปรู นับตั้งแต่ PISA 2009 ถึง PISA 2015 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงคะแนนที่เพิ่มขึ้น โดยในทุกสามปี เปรูจะมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 14 คะแนน การอ่านเพิ่มขึ้น 14 คะแนน และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น 10 คะแนน ทั้งนี้ การยกระดับของเปรูมีการเปลี่ยนแปลงสูงที่สุดในช่วงระหว่าง PISA 2012 ถึง PISA 2015 ซึ่งเป็นการชี้นัยว่าในระยะหลังนี้เปรูกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงน่าสนใจว่าเปรูทำอย่างไร จึงสามารถทำให้นักเรียนมีผลการประเมินสูงขึ้นได้
อุปสรรคสำคัญของเปรูที่ทำให้การศึกษาไม่มีคุณภาพสูง ตามรายงานของ OECD ได้แก่ ขาดโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุการเรียนไม่เพียงพอ หลักสูตรล้าสมัย ขาดครูที่ได้รับการฝึกฝน ความพยายามในการยกระดับการศึกษาที่เปรูได้ทำเมื่อมีรายงานผลการประเมิน PISA ออกมา คือ การขยายฐานการศึกษาพื้นฐาน การอบรมครูอย่างเข้มข้นและการเพิ่มงบประมาณเพื่อการศึกษา ในระยะสิบปีหลังมานี้มีประจักษ์พยานที่แสดงถึงความก้าวหน้าของการศึกษาในเปรู โดยเปรูพยายามอย่างหนักที่จะขยายการศึกษาพื้นฐาน ตามข้อมูลของธนาคารโลก เปรูเคยเป็นประเทศที่ใช้งบประมาณทางการศึกษาต่ำที่สุดในโลก แต่ใน ค.ศ. 2013 เปรูใช้ 3.3% ของ GDP สำหรับการศึกษา ในปี ค.ศ. 2014 เปรูมีนักเรียนที่ลงทะเบียนในโรงเรียนเป็น 92.8% ของกลุ่มประชากรวัยเรียน และจำนวนนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาก็เพิ่มขึ้น รวมทั้งประชากรนักเรียนหญิงก็เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ จนทุกวันนี้นักเรียนที่ลงทะเบียนมีนักเรียนหญิงมากกว่านักเรียนชายในระดับมัธยมศึกษาและอัตราการรู้หนังสือของกลุ่มประชากรที่มีอายุ 15-24 ปี ยังเพิ่มขึ้นและตามสถิติประมาณได้ว่ามีถึง 98.94% ในปี ค.ศ. 2015
อย่างไรก็ตาม เปรูยังคงพบอุปสรรคอีกมาก เช่น การขยายการศึกษาไม่อาจครอบคลุมไปถึงชนบทและกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะยังเข้าไม่ถึงนักเรียนในชนบท หรือในบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความยากจน และมาจากครอบครัวที่มีความเป็นชาติพันธุ์สูง และเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา สำหรับนักเรียนที่ใช้ภาษาสเปนมีโอกาสทางการศึกษามากกว่าชาวชนเผ่าอย่างมีนัยสำคัญ (ชาวเปรูใช้ภาษาชาติพันธุ์ของชนเผ่า ประมาณ 12% ในบางจังหวัดมีถึง 50% แต่ไม่มีการศึกษาที่จัดให้ในภาษาชนเผ่า) การพัฒนาครูยังไม่มีงบประมาณสนับสนุน ครูต้องมาอบรมในวันหยุดและออกค่าใช้จ่ายเดินทางเองโดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางการ (Abramson, 2008) และการใช้งบประมาณยังไม่คุ้มการลงทุน เปรูได้ทุ่มการลงทุนทางการศึกษาอย่างมาก เช่น ใช้เงิน 225 ล้านเหรียญสหรัฐซื้อคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปให้โรงเรียน แต่พบว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ช่วยยกระดับการศึกษาแต่อย่างใด เมื่อ PISA 2009 รายงานผลการประเมินว่าเปรูมีคะแนนอยู่ในกลุ่มต่ำมากเกือบรั้งท้ายอีก แสดงว่าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำให้นักเรียนมีคะแนนการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ดีขึ้นแต่อย่างใด (Marino, 2014)
บทเรียนจากบราซิล
บราซิลเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางบวกอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาระหว่าง PISA 2000 ถึง PISA 2015 นักเรียนบราซิลมีคะแนนการอ่านเพิ่มขึ้น 11 คะแนน และคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นถึง 26 คะแนน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบราซิลประการแรก คือ เกิดจากพลังประชาชนที่เห็นความสำคัญของการศึกษาเรียกร้องการเข้าถึงการศึกษา และเรียกร้องคุณภาพการศึกษามากขึ้น พ่อแม่แม้ในชนชั้นแรงงานก็ส่งลูกไปโรงเรียนและจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกหลานซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อนในบราซิล นำไปสู่แผนการปฏิรูปการศึกษาแห่งชาติ เพื่อขจัดการไม่รู้หนังสือ การทำโรงเรียนให้เป็นสากล ลดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา และที่สำคัญคือยกระดับคุณภาพการสอน ภาคเอกชนในบราซิลยังให้ความร่วมมือโดยเสนอจัดการศึกษาแก่ชนชั้นกลางและชั้นแรงงาน โดยเชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาคือการเปลี่ยนแปลงประเทศทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
การเปลี่ยนแปลงในอิสราเอล
อิสราเอลเป็นอีกประเทศที่มีการยกระดับอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ PISA 2000 เป็นต้นมาจนถึง 2015 นักเรียนอิสราเอลมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 33 คะแนน และอัตราการเปลี่ยนแปลงจาก PISA 2006 ถึง PISA 2015 ในทุกสามปี อิสราเอลมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.4 คะแนน และด้านการอ่านนับจากปี 2000 ในทุกสามปีมีคะแนนเพิ่มขึ้น 9.2 คะแนน จากผลการประเมินที่ต่ำและทำให้ประเทศตื่นตระหนกในการประเมินครั้งแรกทำให้กระทรวงศึกษาของอิสราเอลและสาธารณชนต่างให้ความสนใจกับผลการประเมินของ PISA นับตั้งแต่นั้นมา แม้ว่านักเรียนอิสราเอลยังมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD แต่นับว่าอิสราเอลมีการยกระดับอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเพิ่มคะแนนเฉลี่ยหรือคะแนนกลาง การยกระดับโดยการเพิ่มจำนวนนักเรียนคะแนนสูงและลดจำนวนนักเรียนคะแนนต่ำลง การยกระดับการศึกษาของอิสราเอลไม่ได้เห็นผลเฉพาะในการประเมิน PISA เท่านั้น แต่การประเมิน TIMSS และการประเมินระดับชาติก็สูงขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
หลังจากที่มีการพิมพ์เผยแพร่ผลการประเมิน PISA ครั้งแรกของอิสราเอล กระทรวงศึกษาของอิสราเอลตอบสนองอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. 2002 กระทรวงศึกษาของอิสราเอลได้จัดตั้งกลุ่มภารกิจพิเศษ (Special Task Force) เพื่อวิเคราะห์ระบบการศึกษาและสรุปข้อเสนอแนะวิธีการที่จะปรับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นด้านผลการเรียนรู้ของนักเรียน โดยตั้งเป้าหมายผลสัมฤทธิ์เชิงปริมาณสำหรับนักเรียนทุกคนในอิสราเอล (ทั้งนักเรียนท้องถิ่น และนักเรียนนานาชาติ) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น สิ่งที่ได้ทำ คือ เพิ่มงบประมาณ (สำหรับเพิ่มชั่วโมงการตรวจนิเทศโรงเรียนทุกโรง) ปรับหลักสูตรคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ โดยการบูรณาการกรอบความคิด “การรู้เรื่อง” และ “การแก้ปัญหา” แทนการมีเฉพาะหัวข้อเนื้อหาวิชา พัฒนาวิชาชีพครูอย่างเข้มข้น จัดโครงการพิเศษเน้นการเพิ่มผลสัมฤทธิ์คณิตศาสตร์ของนักเรียนอ่อน และนักเรียนเก่ง โครงการสหวิชาพิเศษเน้นความเข้มแข็งทางการอ่านใช้ “การประเมินผลเป็นบริการของการเรียนรู้ ” และคงแนวคิดไว้ในทุกภาคส่วนของการศึกษา (OECD, 2015)
ระบบโรงเรียนที่ได้ประโยชน์จาก PISA คือ ระบบที่ระดับนโยบายตอบสนองรายงานผลการประเมินอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในประเทศคะแนนต่ำ หลายประเทศมีการพัฒนายกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน และได้เห็นผลการพัฒนาว่าทำให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าจะยังไปไม่ถึงความเป็นเลิศก็ตาม ประเทศที่เคยมีคะแนนใกล้เคียงกับไทยก็หนีห่างออกไป ประเทศที่เคยมีคะแนนต่ำกว่าก็ยกระดับขึ้นอย่างมีทีท่าว่าอาจะแซงได้ในอนาคตอันใกล้ แต่ระบบโรงเรียนของไทย นอกจากไม่อยู่คงที่แล้วยังถดถอยลงอีกด้วย ระบบโรงเรียนไทยได้มีการพัฒนาให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาโดยถ้วนหน้า แต่การเข้าถึงการศึกษาในระบบโรงเรียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ประกันความสำเร็จในเชิงคุณภาพของการเรียนรู้ อีกทั้งบทเรียนจากประเทศอื่นและในไทยเองก็ชี้ว่าเงินไม่ใช่ตัวนำไปสู่ความสำเร็จแต่การใช้เงินอย่างคุ้มค่าต่างหากที่สำคัญกว่า เป้าหมายที่นานาชาติยอมรับและพยายามไปให้ถึงคือการเปลี่ยนแปลงจาก “การเข้าถึงการศึกษา” ไปสู่ “การเข้าถึงและเรียนรู้” ที่จะเป็นหลักประกันว่าชาติได้ปรับปรุงการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคนในชาติ
อ่านเพิ่มเติม
- Abramson, L., (November 7, 2008), To Improve Quality, Peru Launches Teacher Training, (Online), Available: https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=96756696, Retrieved November 6, 2017.
- Marino, E., (June, 2014), The State of Education in Peru, (Online), Available: https://borgenproject.org/state-education-peru/, Retrieved November 6, 2017.
- OECD (November, 2015), Education Policy Outlook: Brazil, (Online), Available: https://www.oecd.org/edu/Brazil-country-profile.pdf, Retrieved November 6, 2017.
- OECD (2016), PISA 2015 Results (Volume I): Excellence and Equity in Education, PISA, OECD Publishing, Paris.
- ดร.ไกรยส ภัทราวาท, (21 ธันวาคม 2559), PISA 2015 บทเรียนสำคัญจากระดับนานาชาติ, ไทยพับลิก้า, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://thaipublica.org/2016/12/kraiyos-pisa-2015/, วันที่สืบค้น 6 พฤศจิกายน 2560.
- ประเมินผลการศึกษาทั่วโลก เด็กสิงคโปร์เก่งที่สุด, (7 ธันวาคม 2559), โพสต์ทูเดย์, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://www.posttoday.com/world/news/469128, วันที่สืบค้น 6 พฤศจิกายน 2560.
- เวียดนามนำไทยทุกด้านในการสอบวัดระดับ PISA, (7 ธันวาคม 2559), บีบีซีไทย, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-38223294, วันที่สืบค้น 6 พฤศจิกายน 2560.
ดาวน์โหลด (PDF, 975KB)