นักเรียนเกาหลีใต้เขาเรียนหนังสือกันอย่างไร

จาก “Focus ประเด็นจาก PISA” ฉบับที่ 8 เรื่องประเทศใดได้ชื่อว่ามีระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก ได้อ้างถึงระบบการศึกษาที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลกสองระบบ คือ ระบบของฟินแลนด์กับของเกาหลีใต้ และได้ให้สาระเรื่องระบบการศึกษาของฟินแลนด์แล้วในฉบับดังกล่าว ฉบับนี้จึงให้เป็นสาระเรื่องระบบการศึกษาของเกาหลีใต้บ้าง

ระบบการศึกษาของเกาหลีใต้

นักเรียนของเกาหลีใต้ช่วงอายุ 6 – 15 ปี ต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับในระดับประถมศึกษาจำนวน 6 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวน 3 ปี หลังจากนั้น นักเรียนอาจจะเข้าเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior high school) ซึ่งอาจเป็นสายวิชาสามัญ หรือสายอาชีวศึกษา หรือโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ (Specialists / Special purpose) ที่มีหลักสูตรที่เน้นเป็นพิเศษต่างกัน เช่น วิทยาศาสตร์ หรือภาษาต่างประเทศ เป็นต้น โรงเรียนประเภทนี้มักมีอำนาจอิสระของโรงเรียนสูงกว่าปกติ

การรับนักเรียนเข้าโรงเรียน เกาหลีใต้มีวิธีปฏิบัติที่น่าสนใจ คือ การรับเข้าโรงเรียนโดยไม่ใช้วิธีการสอบคัดเลือก เช่น การให้สิทธิในพื้นที่เท่า ๆ กัน และใช้คอมพิวเตอร์สุ่มเลือกนักเรียน วิธีนี้ถูกใช้รวมทั้งในเมืองใหญ่ ๆ ในเขตเมืองหลวงและปริมณฑล แม้แต่โรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษก็ใช้วิธีนี้ นักเรียนจึงไม่ต้องเผชิญกับการสอบที่กดดันมากในตอนนี้ ส่วนวิธีการรับอื่น ๆ มีทั้งการดูระเบียนจากโรงเรียนเก่า มีโรงเรียนจำนวนน้อยที่สอบคัดเลือกโดยข้อสอบของโรงเรียนซึ่งมักเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาเพราะต้องดูความถนัดของนักเรียนประกอบด้วย

การวัดผล แม้ไม่มีการสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน แต่นักเรียนเกาหลีใต้เรียนอยู่ภายใต้ความกดดันของการสอบ นักเรียนจะถูกวัดผลอย่างสม่ำเสมอโดยครูทุกวิชาและทุกระดับชั้น มีการบันทึกผลลงในระเบียนซึ่งจะเป็นสมุดประวัติที่จะให้ข้อมูลและสาระต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวนักเรียน ทั้งด้านการเรียน กิจกรรม ความประพฤติ และด้านศีลธรรมจรรยาบรรณ สมุดประวัตินี้สามารถนำไปใช้ประกอบการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และใช้ประกอบ การเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนที่ต้องการเข้ามหาวิทยาลัยจะต้องสอบอย่างเข้มงวด การสอบนี้สำหรับนักเรียนถือเสมือนเป็นนรก “Examination Hell” ที่ไม่อาจสอบตกได้ เพราะพ่อแม่เกาหลีใต้ซึ่งผลักดันและทุ่มเทให้กับการศึกษาของลูกอย่างรุนแรงจะรับไม่ได้หากลูกสอบไม่ผ่าน ซึ่งข้อสอบนี้นั่นเองที่ทำให้นักเรียนเกาหลีใต้ต้องออกไปกวดวิชาทั้งในโรงเรียน และหาครูสอนพิเศษตอนหลังเลิกเรียน (Elise Hu, 2015)

ผลการประเมินเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ เกาหลีใต้มีคะแนนอยู่ในกลุ่มบนสุดของการประเมินผลในโครงการ PISA นับตั้งแต่การประเมินใน PISA 2000 เป็นต้นมา และในการจัดอันดับครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2014 ของ Pearson Education Ranking ก็จัดให้การศึกษาของเกาหลีใต้อยู่ในอันดับหนึ่ง (ในครั้งก่อนหน้า ค.ศ. 2012 ฟินแลนด์เป็นอันดับหนึ่ง) จึงถือได้ว่าระบบการศึกษาของเกาหลีใต้เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลกระบบหนึ่ง แม้ว่าเกาหลีใต้และฟินแลนด์จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในวิธีการเรียนการสอน แต่สิ่งที่สองประเทศนี้มีเหมือนกัน คือ การให้คุณค่าสูงสุดกับการศึกษา การให้เกียรติ และยกย่องครูว่าครูคือกุญแจไปสู่ความสำเร็จ พ่อแม่สนใจและมีความคาดหวังสูงกับการศึกษาของบุตรหลาน

เกาหลีใต้เปรียบเทียบกับไทย ระบบโรงเรียนของเกาหลีใต้ก็มีส่วนที่คล้ายคลึงกับระบบโรงเรียนของไทยอยู่บ้างพอสมควร เช่น ขนาดชั้นเรียน อัตราส่วนครูต่อนักเรียน และความนิยมในการเรียนพิเศษหลังเวลาเรียนที่โรงเรียนเหมือน ๆ กัน แต่ที่น่าสังเกต คือ โรงเรียนเกาหลีใต้ไม่ใช้การสอบแข่งขันเข้าโรงรียน ในขณะที่โรงเรียนไทยสอบ แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และปล่อยให้โรงเรียนดีเลือกนักเรียนเก่งไป ส่วนนักเรียนที่เหลือให้ไปเข้าโรงเรียนด้อยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และด้อยคุณภาพ นักเรียนก็ต้องเรียนกับครูที่ด้อยคุณภาพ ประดุจ “นักเรียนคัดทิ้ง” ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วไม่ควรมีนักเรียนคนใดถูกทิ้ง (No Child Left Behind)

โรงเรียนของเกาหลีใต้อาจมีขนาดชั้นเรียนใหญ่ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 42 – 50 คนต่อห้องเรียน เกาหลีใต้ไม่สนใจที่จะทำชั้นเรียนให้เล็กลงเหมือนประเทศสมาชิก OECD อื่น ๆ แต่สนใจที่จะจ้างครูที่มีคุณภาพจำนวนน้อย และจ่ายค่าตอบแทนสูงให้กับครู (McKinsey Report, 2007) เกาหลีใต้ไม่ได้ลงทุนสูงกับทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐาน จากการสำรวจของ PISA ชี้ว่า ทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนในเกาหลีใต้ไม่ได้เปรียบกว่าระบบโรงเรียนไทยแต่ประการใด หลายกรณียังด้อยกว่าไทยด้วย (OECD, 2013) แต่ผลการประเมิน PISA กลับต่างกันมาก แล้วอะไรทำให้สองระบบนี้มีผลการประเมินที่แตกต่างกันมากขนาดนั้น

ครูคือปัจจัยความสำเร็จของเกาหลีใต้ ความจริงประการแรก คือ การให้คุณค่าและความสำคัญของการศึกษาที่ยกย่องให้การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุกอย่างรวมทั้งของชีวิตด้วย ประการที่สอง ครู คือ ปัจจัยความสำเร็จของเกาหลีใต้ ครูเกาหลีใต้ถูกคัดเลือกมาจากคนที่เก่งที่สุด กว่าจะผ่านเข้าไปเป็นนักเรียนครูได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนักเรียนที่มีคะแนนสูง 5% บนเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าศึกษาในสถาบันผลิตครู เมื่อเข้าทำงาน ครูจึงไม่ได้มีหน้าที่ทำตามคำบอก แต่มีอิสระและมีความมุ่งมั่นเสียสละในการทำงานสูงและทำงานอย่างหนัก ครูเกาหลีมีเวลาทำงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 07.30 น. ถึง 17.30 น. อีกทั้งในเกาหลีใต้ ครูมีสถานะทางสังคมสูง มีค่าตอบแทน และมีความมั่นคงในอาชีพสูงมาก คนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ส่วนมากจึงต้องการเข้าสู่อาชีพครู ซึ่งตรงกันข้ามกับไทย จากการสำรวจของ PISA 2006 ที่มีนักเรียนเพียง 5% เท่านั้นที่ตอบว่าอยากเป็นครู และยังเป็นนักเรียนกลุ่มคะแนนต่ำอีกด้วย

นักเรียนเกาหลีใต้ไม่ไปโรงเรียนจนกว่าจะอายุ 6 ขวบ พ่อแม่เกาหลีมักชอบให้ลูกอยู่บ้านกับพ่อแม่นาน ๆ มากกว่าที่จะไปอยู่โรงเรียนจนกว่าจะถึงเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับที่อายุ 6 ขวบ ดังนั้น ในระบบโรงเรียนของเกาหลีใต้ จึงมีการคัดแยกตามแนวตั้งน้อย (การคัดแยกตามแนวตั้ง คือ การที่นักเรียนวัยเดียวกันเรียนอยู่ระดับชั้นต่างกันหลายระดับ) ในขณะที่โรงเรียนไทยที่มีนักเรียนอายุ 15 ปี เรียนอยู่ในสามระดับชั้นเป็นอย่างน้อย คือ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามถึงปีที่ห้า

นักเรียนเกาหลีใต้เขาเรียนกันอย่างไร

ถ้านักเรียนไทยรู้ความจริงเกี่ยวกับการเรียนของนักเรียนเกาหลีใต้แล้วอาจตกใจด้วยนึกไม่ถึงว่านักเรียนเกาหลีใต้เรียนกันอย่างทรหดเพียงใด และนี่คือสิ่งที่นักเรียนเกาหลีใต้ต้องต่อสู้

  • นักเรียนเกาหลีใต้เรียนวันละ 14 – 16 ชั่วโมงหรือมากกว่า นักเรียนเกาหลีใต้เห็นว่าการเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งและเอาจริงเอาจังกับการเรียนสูงมาก นักเรียนใช้เวลาเรียนมากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน คือ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 16.30 น. ในเวลาเรียนปกติ แล้วยังต้องเรียนพิเศษอีกในตอนเย็นจนถึงสี่หรือห้าทุ่ม และยังมีการบ้านที่ต้องทำอีก แม้ว่าเวลาเรียนปกติของนักเรียนเกาหลีใต้ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD อยู่แล้วก็ตาม คือ 134 ชั่วโมงต่อปี
  • The All-Work, No-Play Culture คือ วัฒนธรรมของเกาหลีใต้ที่ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างอย่างจริงจัง การเรียนก็เช่นเดียวกัน ระบบการเรียนของเกาหลีใต้ถูกขับเคลื่อนด้วยการสอบ มีการสอบที่สำคัญ ๆ บ่อยครั้งมาก การเรียนของนักเรียนจึงถูกกดดันภายใต้การสอบ เพราะต้องมีการสอบตลอดเวลาและนักเรียนต้องสอบให้ผ่าน การสอบตกเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ ทั้งตัวนักเรียนเองและพ่อแม่ ซึ่งตรงกันข้ามกับระบบของฟินแลนด์ที่ไม่ให้ความสำคัญกับการสอบ แต่ปล่อยให้นักเรียนเรียนอย่างไม่มีความกดดัน
  • นอกจากความกดดันที่โรงเรียนแล้วความสำเร็จในการศึกษาเป็นสิ่งที่พ่อแม่ของนักเรียนเกาหลีใต้คาดหวังอย่างสูง ทั้งนี้ จุดหมายของการเรียน คือ “ต้องสอบเข้าระดับวิทยาลัยให้ได้” ซึ่งการสอบเข้าสถาบันการศึกษาระดับสูงต่าง ๆ มีการแข่งขันสูงมาก นักเรียนจึงเรียนจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ตามข้อมูลของ OECD พ่อแม่เกาหลีใต้เกือบร้อยละ 90 คาดหวังว่าลูกจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นค่าที่สูงกว่าทุกประเทศ (OECD, 2013) และนั่นคือการเพิ่มความเครียดให้กับนักเรียนเกาหลีใต้ เมื่อ PISA สอบถามว่านักเรียนมีความสุขที่โรงเรียนหรือไม่ นักเรียนที่ตอบว่ามีความสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสุดท้ายของตารางคือนักเรียนเกาหลีใต้ ส่วนนักเรียนที่ตอบว่ามีความสุขจำนวนมากที่สุดเป็นนักเรียนจากประเทศคะแนนต่ำ เช่น สี่อันดับแรก คือ อินโดนีเซีย แอลบาเบีย เปรู และไทย ตามลำดับ (OECD, 2013) ดังนั้น คำขวัญการศึกษาไทยที่ว่า “เก่ง ดี มีสุข” อาจจะไกลเกินฝันก็ว่าได้
  • นักเรียนเกาหลีใต้ส่วนมากเรียนพิเศษหลังเวลาเรียนปกติ แต่การเรียนพิเศษออกจะแตกต่างกับของไทยอยู่บ้าง กล่าวคือ เกาหลีใต้เคยมีโรงเรียนกวดวิชา (Hagwons) มากเหมือนประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่ยินดีและไม่สนับสนุน รัฐจึงพยายามออกมาตรการจำกัดต่าง ๆ เป็นต้นว่า ในจังหวัดปูซานของเกาหลีใต้ออกกฎหมายให้การสอนในตอนเย็นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และจังหวัดอื่น ๆ ต่างก็เพิ่มมาตรการ เช่น จำกัดเวลาที่ให้เปิดทำการ จำกัดขนาดชั้นเรียน และอื่น ๆ บางแห่งใช้มาตรการจำกัดเวลาออกนอกบ้านของนักเรียนไม่ให้เกิน 22.00 น. ซึ่งทางการคาดว่าจะลดโรงเรียนกวดวิชาได้ประมาณ 80 – 85% มาตรการกดดันของรัฐบาลนี้ทำให้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านั้นมีข้อจำกัดมากขึ้นจึงสอนได้น้อยลง แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะพ่อแม่ซึ่งเห็นว่าการเรียนของลูกเป็นความสำคัญยิ่งยวด พยายามหาวิธีให้ลูกได้เรียนมากที่สุด พ่อแม่และนักเรียนจึงกดดันให้โรงเรียนปกติของนักเรียนต้องจัดชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนขึ้นในตอนเย็น หรืออีกทางหนึ่ง คือ พ่อแม่เลือกให้ลูกเรียนพิเศษที่บ้านกับครูพิเศษที่จ้างมาเอง (Asia Society: Global Education Network) ผลกระทบที่เกิดขึ้น แม้นักเรียนเกาหลีจะมีผลการประเมินในระดับนานาชาติสูงมาก แต่นักวิจัยก็พบว่า นักเรียนเกาหลีใต้อายุระหว่าง 11 – 15 ปี มากกว่าครึ่งมีความเครียดสูงกว่านักเรียนในประเทศสมาชิก OECD อื่น ๆ และอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่นักเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในระหว่างประเทศสมาชิก OECD (Elise Hu, 2015; Hanusheck, E., & Peterson, P., 2015)
  • ถ้าใครคิดว่าวันเสาร์เป็นวันหยุดของนักเรียนเกาหลีใต้แล้ว นั่นเป็นการคิดผิด นักเรียนเกาหลีใต้เรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ นอกจากวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้นที่เป็นวันหยุด แม้ในปัจจุบันมีโรงเรียนรัฐบาลเริ่มให้มีการหยุดเรียนในวันเสาร์บ้างเดือนละสองสัปดาห์ แต่ก็ยังไม่เหมือนกันทั้งหมด
  • ประธานธนาคารโลกเสนอแนะให้เกาหลีใต้ลดการแข่งขันทางการศึกษา ลดความเครียดของนักเรียน และเลิกการสอนพิเศษ แม้ว่าเกาหลีใต้จะเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และต้องการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้ง แต่คะแนนที่สูงใน PISA เป็นเกียรติยศที่ค้ำอยู่ และเป็นข้ออ้างที่ฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปใช้เป็นข้ออ้างทำให้รัฐมนตรีหลายสมัยไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงใด ๆ (Ng Jing Yng, 2015)
  • ความเคารพครูต้องสูงที่สุด (Teachers are as high as God) ครูเกาหลีมีฐานะสูงส่ง จึงเป็นที่เคารพนับถือ นักเรียนหรือแม้แต่พ่อแม่ไม่อาจกระด้างกระเดื่องหรือไม่เชื่อฟังครู การลงโทษทางร่างกายยังมีอยู่ในโรงเรียนเกาหลีใต้ โดยที่ทั้งโรงเรียนและพ่อแม่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลงโทษในชั้นเรียน

ระบบโรงเรียนสองระบบที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันที่ยึดมั่นว่าการศึกษาคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ แต่วิธีการที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายของสองระบบนี้แตกต่างกัน จะมีสิ่งที่ร่วมกันอยู่ก็เพียงการให้ความสำคัญและให้คุณค่าแก่ครู เลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นครู และเก็บครูเก่งไว้ในระบบ แม้ว่าประเทศไทยอาจอยากลอกเลียนแบบก็คงทำได้ยาก เพราะบริบทที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดคนมาเป็นครูและส่งผลถึงคุณภาพของครู ที่สำคัญอีกอย่างก็คือนักเรียนและความทุ่มเทของผู้ปกครองโดยเฉพาะในเกาหลีใต้ นักเรียนเกาหลีใต้มีการเรียนที่สุดโหดและทรหดอดทน ซึ่งนักเรียนไทยไม่มีคุณสมบัติข้อนี้ อีกทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองไทยก็ไม่ได้ทุ่มเทให้กับการศึกษาลูกขนาดนั้นแต่ยินดีกับการรับการศึกษาฟรีมากกว่า สรุป คือไทยที่มีบริบทที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จึงต้องดูปัญหาของตนเองให้ถูกจุด และค่อย ๆ ปรับเท่าที่ทำได้ บทเรียนจากสองประเทศชี้นัยว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษาของลูกให้มากที่สุด กระตุ้นครูให้ทำงานหนักและทำดีที่สุดในแต่ละวัน ให้นักเรียนกระหายที่จะเรียน และให้เรียนให้ดีที่สุดทุก ๆ วัน ระบบการศึกษาไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนหลักสูตรและคิดว่าการเปลี่ยนหลักสูตร คือ คำตอบ

โปรดระลึกว่า ในการศึกษาไม่มี กระสุนวิเศษ การเปลี่ยนหลักสูตรก็ไม่ใช่ กระสุนวิเศษ

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 633KB)