ประเทศใดได้ชื่อว่ามีระบบโรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก

ในโลกที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างทุกวันนี้ และในสังคมที่การศึกษาและเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกัน ระบบโรงเรียนของแต่ละประเทศย่อมมีการเปรียบเทียบกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การเปรียบเทียบกันไม่อาจทำได้ง่าย ๆ โดยใช้ข้อมูลชุดใดชุดหนึ่ง OECD จึงร่วมกับ Pearson Education ได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบระบบการศึกษาของประเทศ/เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยศึกษาจากข้อมูลหลายแหล่ง ได้แก่ ข้อมูลจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือโครงการ PISA (Programme for International Student Assessment) โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือโครงการ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) และโครงการประเมินความก้าวหน้าด้านการอ่านระดับนานาชาติ หรือโครงการ PIRLS (Progress in International Reading Literacy Study) ร่วมกับข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เช่น อัตราการรู้หนังสือ อัตราการเรียนต่อและจบการศึกษา รายได้ประชาชาติ ค่าใช้จ่ายสะสมทางการศึกษา อัตราการว่างงาน ตลอดจนอัตราประชากรนักโทษ เป็นต้น เพื่อนำมาตีความว่าระบบการศึกษาใดประสบความสำเร็จดีกว่ากันหรือมีสิ่งใดควรรับการแก้ไขปรับปรุง

เอกสารฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบายและผู้นำโรงเรียนได้ทราบปัจจัยหลัก ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จของระบบโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาหรือของโรงเรียนได้บ้าง

ตามรายงานของ Pearson Education Ranking ระบบโรงเรียนของเกาหลีใต้และฟินแลนด์อยู่ในลำดับบนสุดของตาราง (ค.ศ.2014 เกาหลีใต้ ค.ศ. 2012 ฟินแลนด์) และระบบโรงเรียนในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ต่างอยู่ในอันดับต้น ๆ ทั้งสิ้น เพราะในประเทศเหล่านี้มีสิ่งที่ Sir Michael Barber ที่ปรึกษาของ Pearson Education เรียกว่า “culture of education” ซึ่งสังคม พ่อแม่-ผู้ปกครองให้คุณค่าสูงสุดกับการศึกษาและมีความคาดหวังสูงกับการศึกษาของบุตรหลาน และแม้ว่าเกาหลีใต้และฟินแลนด์จะมีความแตกต่างกันอย่างมากในวิธีการเรียนการสอน แต่สิ่งที่สองประเทศนี้มีเหมือนกันคือความเชื่อในความสำคัญของการศึกษาว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง รวมทั้งเรื่องคุณธรรมและความหมายในชีวิต ข้อสำคัญฟินแลนด์มีความมั่นใจและไว้วางใจครู (Zastrow, 2008) ว่าคือบุคคลที่จะเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ

ความเป็นจริงในระบบการศึกษาของฟินแลนด์

นับจากการปฏิรูปการศึกษาของฟินแลนด์ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ระบบโรงเรียนของฟินแลนด์ก็ประสบความสำเร็จเรื่อยมา และเมื่อมีการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติใน PISA 2000 ฟินแลนด์มีผลการประเมินอยู่บนสุดของตาราง แม้เวลาจะผ่านไปนับสิบปี ฟินแลนด์ก็ยังปรากฏชื่อในอันดับต้น ๆ และอยู่ในกลุ่มบนสุดตลอดมา

ฟินแลนด์ทำได้อย่างไร

ต่อไปนี้คือความจริงที่เป็นอยู่ในระบบการศึกษาของฟินแลนด์ที่นักการศึกษาระดับนโยบายและระดับปฏิบัติอาจใช้ประโยชน์ได้ ท่านอาจจะประหลาดใจที่พบว่าฟินแลนด์มีความแตกต่างกับเกาหลีใต้มาก ฟินแลนด์ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด ความจริงที่เป็นอยู่ ก็คือข้อเท็จจริงของการศึกษาฟินแลนด์ที่รวบรวมได้จากแหล่งต่าง ๆ ที่พูดถึงวงการศึกษาในฟินแลนด์

  • ง่าย ๆ สบาย ๆ ฟินแลนด์ไม่สนใจกับการศึกษาที่มุ่งเน้นการสอบ ในระยะหกปีแรกของการศึกษา นักเรียนของฟินแลนด์จะไม่ถูกสอบวัดผลใด ๆ และไม่มีการบ้านให้ทำมากมาย นักเรียนจะมีการสอบหรือการทำการบ้านมากเมื่อเข้าสู่วัย 13 ปี ขึ้นไป (Anderson, 2011) และมีการสอบมาตรฐานภาคบังคับครั้งเดียวเมื่อนักเรียนอายุ 16 ปี (Hancock, 2011) นักเรียนฟินแลนด์จึงไม่ค่อยมีความเครียดแต่เรียนอย่างสบาย ๆ
  • พ่อแม่ในฟินแลนด์จะไม่ส่งลูกไปโรงเรียนจนกว่าจะอายุ 7 ปี (Anderson, 2011) นักเรียนฟินแลนด์วัยเดียวกันเกือบทั้งหมดจึงเรียนอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน ฟินแลนด์จึงไม่มีปัญหาการคัดแยกนักเรียนตามแนวตั้ง (คือการที่นักเรียนวัยเดียวกันเรียนอยู่ในระดับชั้นต่างกัน) ในระบบโรงเรียนที่มีการคัดแยกตามแนวตั้งมากส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน (OECD, 2013)
  • นักเรียนฟินแลนด์ไม่ว่าจะเรียนเก่งหรือไม่เก่งก็ตามจะเรียนรวมในห้องเรียนเดียวกัน (Hancock, 2011) โรงเรียนไม่คัดแยกนักเรียนตามความสามารถทางวิชาการ (ไม่มีการคัดแยกตามแนวนอน) นักเรียนจึงมีโอกาสเรียนรู้และได้แรงจูงใจจากเพื่อนที่เรียนเก่งกว่าทำให้คะแนนที่ต่างกันระหว่างนักเรียนเก่งกับนักเรียนอ่อนมีช่องว่างแคบกว่าทุกประเทศในโครงการ PISA
  • ห้องเรียนวิทยาศาสตร์มีนักเรียน 16 คน นักเรียนแต่ละคนจึงสามารถทำการทดลองได้ (Taylor, 2011) ทั้งนี้ ขนาดของห้องเรียนในฟินแลนด์จะมีนักเรียนประมาณ 20 คน
  • ฟินแลนด์มีค่าใช้จ่ายสะสมทางการศึกษาต่อหัวไม่สูง เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ฟินแลนด์มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกาประมาณ 30% (Hancock, 2011)
  • ครูทุกคนในฟินแลนด์ต้องมีปริญญาโทเป็นอย่างน้อย (Anderson, 2011) ครูใช้เวลาสอนเพียงวันละ 4 ชั่วโมง และใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพี่อ “การพัฒนาวิชาชีพครู” อัตราส่วนจำนวนนักเรียนต่อครูหนึ่งคนมีอัตราต่ำ
  • โรงเรียนในฟินแลนด์ใช้งบประมาณจากรัฐบาลทั้ง 100% และเป็นระบบการศึกษาฟรีทั้งหมด แม้กระนั้นก็ตาม นักเรียนประมาณ 30% ยังได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษอีกในช่วง 9 ปีแรกของการศึกษา นักเรียน 66% เข้าศึกษาต่อในระดับวิทยาลัยนับเป็นอัตราสูงที่สุดในยุโรป (Hancock, 2011) การกระจายทรัพยากรใช้ระบบกระจายอย่างเป็นธรรมไม่ใช่การให้เท่ากัน


    ที่มา: https://www.pinterest.com/pin/109704940897374904/

  • นักเรียนที่จะเข้าศึกษาสู่อาชีพครูถูกคัดเลือกจาก 10% บนของผู้จบการศึกษา การเข้าเป็นนักศึกษาครูมีการแข่งขันสูง ในปี 2010 นักเรียน 660 คน ถูกคัดเลือกจากผู้สมัคร 6,600 คน เพื่อเข้าศึกษาเป็นครูระดับประถมศึกษา (Hancock, 2011) เงินเดือนขั้นต้นของครูฟินแลนด์ก็ไม่ได้สูงมาก ในปี 2008 เงินเดือนครูฟินแลนด์เฉลี่ย 29,000 ดอลลาร์ เทียบกับสหรัฐอเมริกา 36,000 ดอลลาร์ (Anderson, 2011) แต่ครูในฟินแลนด์ได้รับการยกย่องและมีสถานะทางสังคมสูงเช่นเดียวกับแพทย์และนักกฎหมาย (Abrams, 2011) นักเรียนเชื่อฟังและเคารพครู นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังไม่มีการประเมินครูด้วยซ้ำไป
  • หลักสูตรแห่งชาติเป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ โรงเรียนมีอิสระที่จะตัดสินใจใช้ในด้านหลักสูตรและการสอน (Hancock, 2011) ครูฟินแลนด์จึงไม่มีหน้าที่แค่ทำตามกฎข้อบังคับหรือตามคำสั่ง แต่ครูต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการสอนด้วยตนเอง ครูจึงทำงานหนักและอุทิศตนในการสอนมาก ครูจะไม่ทิ้งนักเรียนที่ล้าหลังเพื่อนไว้เบื้องหลัง แต่จะเข้าไปดูแล ช่วยเหลือ ตลอดจนเคี่ยวเข็ญให้เรียนรู้เรื่องมากขึ้น (Zastrow, 2008) การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติใน PISA 2000 นักเรียนฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุดหรือเกือบสูงสุดในด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และมีคะแนนสูงคงที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเป็นเลิศในการประเมินผลของ OECD/PISA ทุก ๆ ครั้งต่อมา

แม้ว่าการศึกษาของฟินแลนด์จะมีความเป็นเลิศ แต่การจะนำมาใช้ในระบบโรงเรียนไทยคงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะฟินแลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ มีประชากรเพียงประมาณ 5 ล้านคน และเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ประชาชนมีการศึกษาดี และรัฐบาลให้ความสำคัญแก่การศึกษา มีโรงเรียนเพียงพอ ห้องเรียนมีขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างจนเกือบตรงกันข้ามกับไทย ตัวอย่างเช่น

  • นักเรียนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ไปโรงเรียนเมื่อมีความพร้อมหรือเมื่ออายุ 7 ปี นักเรียนไทยไปโรงเรียนเมื่ออายุที่พ่อแม่พอใจ และส่วนมากมักให้ลูกไปโรงเรียนเร็วเพราะไม่มีคนดูแลที่บ้าน ในโรงเรียนไทยการคัดแยกตามแนวตั้งจึงมีสูง ในฟินแลนด์นักเรียนเก่งหรืออ่อนเรียนรวมกันไม่มีการแบ่งแยกตามแนวนอน แต่ในโรงเรียนไทยนักเรียนถูกแยกห้องเรียนตามความสามารถ นักเรียนอ่อนไม่มีโอกาสเรียนรวมกับเพื่อน ไม่ได้เห็นแรงจูงใจหรือกลยุทธ์การเรียนของเพื่อนที่เก่ง ๆ นักเรียนอ่อนมักได้ครูไม่เก่งอีกด้วย จึงเปรียบเสมือนพวกที่ “ถูกคัดทิ้ง”
  • การกระจายทรัพยากรในระบบการศึกษาของไทยไม่ใช่กระจายอย่างเป็นธรรมแต่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นโรงเรียนที่ดีกว่าได้มากกว่าซึ่งจะพบได้ในโรงเรียนที่ได้ค่าหัวนักเรียนสูง ๆ และกลุ่มที่ 2 เป็นการให้ที่เท่ากันในทุกโรงเรียน
  • รัฐบาลฟินแลนด์ลงทุนด้านครูสูงมาก และถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ฟินแลนด์มีระบบที่เลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นครู และมีระบบที่รักษาครูไว้ในระบบ แม้จะไม่ใช่ด้วยค่าจ้างที่สูงลิ่ว แต่การยกย่องเชิดชูสถานะของครูในสังคมทำให้ครูมีเกียรติและไม่คิดทิ้งอาชีพครู แต่ระบบการศึกษาของไทยยากมากที่จะได้คนเก่งมาเป็นครู สถาบันผลิตครูเปรียบเสมือนที่หลบภัยของนักเรียนที่จบการศึกษามาด้วยคะแนนที่ไม่สูง และรู้ตัวว่าไม่สามารถเข้าเรียนที่อื่นได้ ใน PISA ที่ผ่านมาได้สอบถามถึงอาชีพที่นักเรียนอยากทำ พบว่า นักเรียนไทยเพียง 5% ที่อยากเข้ามาสู่อาชีพครู ยิ่งกว่านั้นยังเป็นกลุ่มเป็นนักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในวิชาคณิตศาสตร์และการอ่าน

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความแตกต่างอีกหลายอย่างทั้งในระดับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ในระบบโรงเรียนไทยใช้อยู่ ที่มีส่วนทำให้คุณภาพการศึกษาไม่สูงคุ้มค่ากับการลงทุนที่รัฐได้ทุ่มเท ทำให้นักวิเคราะห์เรียกปรากฏการณ์การศึกษาไทยว่า Thai Education Paradox (Fry & Bi, 2013; Patrinos et al., 2015)

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์จะเป็นที่สนใจของหลายฝ่าย แต่การจะนำระบบของฟินแลนด์มาใช้อาจไม่ง่าย เพราะฟินแลนด์กับไทยมีบริบทที่แตกต่างกันมากทั้งทางด้านประชากรและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมในการให้คุณค่ากับครู แต่ก็มีบางอย่างในระบบของฟินแลนด์ที่อาจเป็นบทเรียนที่มีประโยชน์ เช่น การผลิตครูคุณภาพสูง การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม ความเป็นธรรมทางการเรียนที่ไม่คัดเลือกเฉพาะนักเรียนเก่งเข้าโรงเรียนและปล่อยทิ้งนักเรียนอ่อนให้เป็นพวกเหลือทิ้ง ไม่แบ่งแยกนักเรียนเก่ง-นักเรียนอ่อนออกจากกัน เพราะการแบ่งแยกนักเรียน คือ การแบ่งแยกครูไปด้วยในตัว ถ้าระบบโรงเรียนทำได้ การลงทุนทางการศึกษาอาจคุ้มค่าขึ้นมาบ้างก็ได้

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 697KB)