[INFOGRAPHICS] PISA 2022 กับการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประเมิน PISA 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งจะเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) เป็นหลักเช่นเดียวกับ PISA 2003 และ PISA 2012 


PISA 2022 กับการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์

ตอนนี้จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 ในประเด็นที่น่าสนใจต่อไปนี้

๐ ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร
๐ กรอบการประเมินคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร
๐ ลักษณะข้อสอบคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร
๐ แนวทางการส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์

ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร

PISA ได้นิยามความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 ไว้ว่า “ความสามารถของแต่ละบุคคลในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ และสามารถแปลงปัญหา ใช้คณิตศาสตร์ และตีความผลลัพธ์ทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในบริบทของโลกชีวิตจริง รวมถึงการใช้แนวคิด กระบวนการ ข้อเท็จจริง และเครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อบรรยาย อธิบาย และคาดการณ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้แต่ละบุคคลทราบถึงบทบาทของคณิตศาสตร์ที่มีต่อโลกนี้และสร้างพื้นฐานที่ดีในการลงข้อสรุปและการตัดสินใจซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมีความสร้างสรรค์ ไตร่ตรองสะท้อนคิด และมีส่วนร่วมต่อสังคมส่วนรวม”

กรอบการประเมินคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร

PISA คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น และการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 จึงทำให้มีการเน้นความสามารถในการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking)

ซึ่งเป็นกระบวนการในการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลเป็นขั้นตอน รวมถึงบริบทที่สอดคล้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรอบการประเมินนี้ โดยผนวกการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์เข้ากับกระบวนการแก้ปัญหาโดยใช้หลักการ กระบวนการ และเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ไว้ด้วยกัน

กรอบการประเมินคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการประเมิน PISA 2022 มี 3 องค์ประกอบ

1) การให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ และกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งรวมถึงกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่แสดงถึงสิ่งที่แต่ละบุคคลกระทำเพื่อเชื่อมโยงบริบทของปัญหาด้วยคณิตศาสตร์ แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหานั้น

2) เนื้อหาคณิตศาสตร์ที่ต้องนำมาใช้ในการแก้ปัญหา

3) บริบทที่ใช้ในแบบทดสอบซึ่งสัมพันธ์กับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

นอกจากนี้ PISA ได้ออกแบบกรอบการประเมินเพื่อให้สามารถวัดความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ได้สอดคล้องกับระดับความสามารถของนักเรียนและครอบคลุมทุกระดับสมรรถนะ

ความสัมพันธ์ระหว่างการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ กระบวนการแก้ปัญหา เนื้อหาคณิตศาสตร์ บริบท และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ตามกรอบการประเมินคณิตศาสตร์ PISA 2022

จากภาพแสดงให้เห็นว่า นักเรียนต้องสามารถนำความรู้จากเนื้อหาคณิตศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหาในบริบทที่ท้าทายหรือปัญหาที่พบเจอในโลกชีวิตจริง เริ่มตั้งแต่การแปลงสถานการณ์ของปัญหาให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถใช้คณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาได้ แล้วใช้หลักการ กระบวนการ และการเลือกใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อหาวิธีแก้ปัญหานั้น

จากนั้นประเมินวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาและตีความผลลัพธ์ที่ได้ให้อยู่ในบริบทของโลกชีวิตจริง ซึ่งในแต่ละกระบวนการแก้ปัญหาต้องอาศัยการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ รวมถึงการคิดไตร่ตรองถึงกระบวนการแก้ปัญหาและผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินและตัดสินความน่าเชื่อถือของข้อมูล

นอกจากนี้ นักเรียนยังต้องนำกระบวนการคิดเชิงคำนวณมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา เพื่อแยกส่วนและย่อยปัญหา เลือกใช้เครื่องมือคำนวณที่สามารถช่วยในการวิเคราะห์หรือแก้ปัญหา และสร้างหรือระบุลำดับขั้นตอนของวิธีการแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์สำหรับพลเมืองในศตวรรษที่ 21

ลักษณะข้อสอบคณิตศาสตร์ของ PISA 2022 เป็นอย่างไร

PISA ได้พัฒนาข้อสอบเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน และเนื่องจากการประเมินด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับแบบทดสอบได้มากขึ้นและมีรูปแบบข้อสอบที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

เช่น มีการจำลองสถานการณ์ มีการนำเสนอข้อมูลของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในโลกให้กับนักเรียน ดังตัวอย่างข้อสอบเรื่อง การใช้สมาร์ทโฟน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ในด้านคณิตศาสตร์

ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์สามารถฝึกฝนได้

จากกรอบการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ไม่ใช่คุณลักษณะที่ติดตัวมาในแต่ละบุคคล หากแต่เป็นคุณลักษณะที่ต้องเกิดจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา

แนวทางการส่งเสริมความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์

นักเรียนควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้การคิดเชิงคณิตศาสตร์ โดยใช้การให้เหตุผลร่วมกับหลักการพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ผ่านสถานการณ์ในชีวิตจริง ซึ่งกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้จะช่วยเสริมสร้างกรอบแนวคิดด้านจำนวนและตัวเลข

พร้อมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ผ่านกิจกรรมและแบบฝึกที่สนับสนุนทักษะการคิดเชิงคำนวณ ซึ่งจะเป็นการฝึกคิดฝึกแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบจนกลายเป็นทักษะความรู้เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

รวมถึงการสอนนักเรียนให้กล้าที่จะแสดงข้อคิดเห็นในการสนับสนุนหรือโต้แย้ง ด้วยการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์อย่างเหมาะสมโดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/100064706947347/posts/325709152929314/?d=n