Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 5/7
“การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน”

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย
การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด
อินโฟกราฟิกฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัย “การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน” เพื่อใช้ในการส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย

การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
จากการประเมินของ PISA 2018 พบว่า นักเรียนที่มีความรู้สึกเชิงบวกหรือรู้สึกได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน เช่น เช่น เมื่ออยู่ที่โรงเรียนดูเหมือนนักเรียนคนอื่น ๆ ชอบตนเอง สามารถหาเพื่อนได้ง่าย หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน นักเรียนเหล่านี้จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนี้
สำหรับนักเรียนที่มีความรู้สึกเชิงลบหรือรู้สึกแปลกแยกเมื่ออยู่ที่โรงเรียน เช่น นักเรียนรู้สึกโดดเดี่ยว เก้อเขินและผิดที่ผิดทาง หรือคล้ายกับว่าถูกทอดทิ้งเมื่ออยู่ที่โรงเรียน นักเรียนเหล่านี้จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนี้อยู่มากอย่างชัดเจน
ซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่นักเรียนมีความรู้สึกเชิงบวกหรือความรู้สึกที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดีและส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่าน สิ่งที่น่าสนใจก็คือความรู้สึกเชิงลบหรือการรู้สึกแปลกแยกกลับส่งผลต่อคะแนนการอ่านมากกว่าความรู้สึกเชิงบวกอย่างมาก ดังนั้น การลดความรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว หรือความรู้สึกผิดที่ผิดทางของนักเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่โรงเรียนควรคำนึงถึง

ปัญหาการกลั่นแกล้งกันของนักเรียน
จากการรายงานของ PISA 2018 พบว่า นักเรียนที่ไม่เคยหรือไม่ค่อยถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ไม่ว่าจะทั้งทางร่างกาย วาจา หรือทางสังคม นักเรียนเหล่านี้จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่ามักจะถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนเป็นประจำอย่างชัดเจนมาก
จากข้อค้นพบข้างต้นแสดงให้เห็นว่า นอกจากความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนหรือการรู้สึกแปลกแยกที่ส่งผลทางลบต่อคะแนนการอ่านแล้ว ปัญหาการกลั่นแกล้งกันของนักเรียนในทุกประเภททั้งทางร่างกาย วาจา และสังคม ก็ทำให้นักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีคะแนนการอ่านต่ำกว่านักเรียนที่ไม่เคยถูกแกล้งเช่นกัน
นั่นหมายความว่า ทั้งความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและการถูกกลั่นแกล้งก็สามารถเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความรู้สึกเชิงลบกับโรงเรียน ซึ่งสองปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์กันและต่างก็ลดทอนสมรรถนะหรือความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมากอีกด้วย

การส่งเสริมให้นักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนและลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน
การที่นักเรียนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนและอยู่ในโรงเรียนที่มีปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนส่งผลเชิงลบต่อคะแนนการอ่านของนักเรียน ดังนั้น จึงควรมีการส่งเสริมให้นักเรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนให้น้อยลง รวมทั้งสร้างบรรยากาศความร่วมมือในโรงเรียนและความมีระเบียบวินัยในห้องเรียนให้มากขึ้น

ตัวอย่างแนวทางการมีส่วนร่วมในการการลดปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนของโรงเรียนและผู้ปกครอง
ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง
https://www.facebook.com/100064706947347/posts/337970565036506/?d=n