[INFOGRAPHICS] ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย” ตอนที่ 4/7

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 4/7

“การมีความเพลิดเพลินในการอ่าน” 


การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว

แต่จำเป็นต้องส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด

อินโฟกราฟฟิกฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัย “การมีความเพลิดเพลินในการอ่าน” เพื่อใช้ในการส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย

นักเรียนที่รายงานว่าเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความที่ว่า “การอ่านเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ชอบ” และ “ชอบพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือกับคนอื่น” ซึ่งเป็นเจตคติเชิงบวกต่อการอ่าน จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความดังกล่าว  

ในขณะที่ นักเรียนที่รายงานว่า “การอ่านเป็นเรื่องเสียเวลา” ซึ่งเป็นเจตคติเชิงลบต่อการอ่าน จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่รายงานว่า “การอ่านไม่ใช่เรื่องเสียเวลา” ถึงเกือบ 50 คะแนน

รวมถึงนักเรียนที่ไม่ค่อยสนใจการอ่าน นั่นคือ นักเรียนที่รายงานว่าจะอ่านเฉพาะ “เมื่อจำเป็นต้องหาข้อมูลเท่านั้น” และ “เมื่อจำเป็นต้องอ่านเท่านั้น” จะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความดังกล่าว

โดยนักเรียนที่มีความสนใจการอ่านน้อยและอ่านเมื่อมีความจำเป็นจะทำให้มีประสบการณ์ในการอ่านและใช้เวลาในการฝึกฝนทักษะการอ่านน้อยตามไปด้วย ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าหากนักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการอ่านแล้วจะยิ่งส่งผลเชิงลบต่อคะแนนการอ่านเป็นอย่างมาก

เมื่อพิจารณาเวลาที่ใช้ในการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน พบว่า นักเรียนที่ใช้เวลาในการอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินจะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้อ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินเลยหรือใช้เวลาในการอ่านดังกล่าวไม่มากนัก โดยคะแนนการอ่านจะยิ่งมากขึ้นหากใช้เวลาในการอ่านมากขึ้น

จากข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การมีเจตคติเชิงลบต่อการอ่านและการใช้เวลาในการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสมรรถนะการอ่านและคะแนนการอ่านของนักเรียน

ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมให้มีการรู้กลวิธีในการอ่านแล้ว ควรมีการส่งเสริมการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินให้แก่นักเรียนด้วย โดยส่งเสริมควบคู่ไปกับการให้นักเรียนได้อ่านบทอ่านที่มีความหลากหลายเพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์การอ่านที่มีรูปแบบแตกต่างกัน


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/100064706947347/posts/310456664454563/?d=n