Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 55 “ข้อค้นพบจาก PISA 2018: ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการประเมินด้านการอ่าน“
การอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเราทุกคนเนื่องจากช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและช่วยให้เราได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
ผลการประเมินด้านการอ่านของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนจึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับระบบการศึกษาไทย

จากการวิเคราะห์ทาง Data Science โดยใช้ข้อมูลของ PISA 2018 เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลการประเมินของประเทศ ซึ่งตัวแปรที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนและการตอบแบบสอบถามจากผู้บริหารโรงเรียน
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ของกลุ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ได้ข้อค้นพบว่า มี 3 ปัจจัยที่มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านของประเทศไทย ได้แก่ การรู้คิด (Meta-cognition) ในการอ่านของนักเรียน ความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียน และความหลากหลายของการอ่านทั้งในแง่ของรูปแบบของบทอ่านและประเภทของบทอ่าน

PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนถึงกลวิธีหรือกลยุทธ์ (Strategies) ที่นักเรียนใช้ในการอ่านและทำความเข้าใจบทความต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการอ่าน 3 ด้าน ได้แก่ การเข้าใจและจดจำ (Understanding and remembering) การสรุปความ (Summarizing) และการประเมินความน่าเชื่อถือ (Assess credibility)
ผลการวิเคราะห์พบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีการรู้คิดด้านการเข้าใจและจดจำ (-0.31) มากที่สุด รองลงมาคือค่าดัชนีการรู้คิดด้านการสรุปความ (-0.54) และค่าดัชนีการรู้คิดด้านการประเมินความน่าเชื่อถือ (-0.71) ตามลำดับ โดยทั้ง 3 ด้าน มีค่าดัชนีน้อยกว่าค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนเกี่ยวกับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในแง่มุมต่าง ๆ แล้วนำคำตอบที่ได้ไปสร้างเป็นดัชนีความเพลิดเพลินในการอ่าน ผลการวิเคราะห์พบว่า ความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนหรือการที่นักเรียนได้อ่านสิ่งที่ตนเองสนใจมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่าน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ดัชนีความสนใจของครูและดัชนีการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่านมีความสัมพันธ์กับความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียน เมื่อพิจารณาค่าดัชนีของแต่ละปัจจัยพบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีความเพลิดเพลินในการอ่าน (0.27) ค่าดัชนีความสนใจของครู (0.33) และค่าดัชนีการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน (0.42) มากกว่านักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD

นอกจากการรู้คิดในการอ่านและความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนแล้ว ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า การอ่านเนื้อเรื่องที่หลากหลายทั้งในแง่ของรูปแบบของบทอ่านและประเภทของบทอ่านมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านด้วย
สำหรับความหลากหลายของรูปแบบของบทอ่านเพื่อการเรียน PISA ได้สอบถามนักเรียนว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักเรียนต้องอ่านบทอ่านประเภทต่าง ๆ เพื่อการเรียนบ่อยเพียงใด
โดยพบว่า ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนสอบ นักเรียนไทยประมาณ 30% รายงานว่าได้อ่านบทอ่านในแต่ละรูปแบบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบทอ่านในรูปแบบดิจิทัลและหนังสืออ่านเล่น (41% และ 33% ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนไทยประมาณ 15% ที่รายงานว่าไม่ได้อ่านบทอ่านในแต่ละรูปแบบเลย

สำหรับความหลากหลายของประเภทของบทอ่าน PISA ได้สอบถามนักเรียนว่า นักเรียนอ่านบทอ่านแต่ละประเภทตามความต้องการของนักเรียนเองบ่อยเพียงใด ทั้งที่เป็นกระดาษและบนอุปกรณ์ดิจิทัล
ซึ่งพบว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือการ์ตูนและหนังสืออ่านเล่นมากที่สุด (54%) รองลงมาคือหนังสือที่ไม่ใช่หนังสืออ่านเล่น เช่น หนังสือที่ให้ความรู้และสารคดี (43%) นิตยสาร (25%) และหนังสือพิมพ์ (24%) ตามลำดับ

สมรรถนะด้านการอ่านคือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ของนักเรียน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของโลกในปัจจุบันส่งผลให้ในแต่ละวันประชากรโลกจำเป็นต้องอ่านข้อมูลในปริมาณมหาศาลที่ต่างมีความสำคัญ
เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยงแปลงดังกล่าว ระบบการศึกษาจึงควรเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีความฉลาดรู้ด้านการอ่าน โดยนักเรียนจะต้องสามารถทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคมได้

ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/145276782175385/posts/3234522633250769/