ข้อค้นพบจาก PISA 2018: ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการประเมินด้านการอ่าน

การอ่านเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของเราทุกคนเนื่องจากช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตและช่วยให้เราได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทักษะการอ่านเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้วิธีการอ่านและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่มีเพียงการอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น โดย PISA 2018 เป็นรอบการประเมินล่าสุดที่เน้นการประเมินด้านการอ่านเป็นหลักซึ่งได้ประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลในปัจจุบัน โดยมีทั้งการใช้แหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล รวมถึงมีการใช้บทอ่านที่หลากหลายด้วย เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกใน PISA 2000 จนถึง PISA 2018 พบว่า ผลการประเมินด้านการอ่านของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และนักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำต่างก็มีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน ดังนั้น การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนจึงถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับระบบการศึกษาไทย

จากการวิเคราะห์ทาง Data Science ด้วยเทคนิค Random Forest โดยใช้ข้อมูลของ PISA 2018 เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลการประเมินของประเทศ ซึ่งตัวแปรที่นำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนและการตอบแบบสอบถามจากผู้บริหารโรงเรียน ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ของกลุ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน ได้ข้อค้นพบว่า มี 3 ปัจจัยที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านของประเทศไทย ได้แก่ การรู้คิด (Meta-cognition) ในการอ่านของนักเรียน  ความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียน  และความหลากหลายของการอ่านทั้งในแง่ของรูปแบบของบทอ่านและประเภทของบทอ่าน โดยมีรายละเอียดดังนี้

การรู้คิด (Meta-cognition) ในการอ่านของนักเรียน

PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนถึงกลวิธีหรือกลยุทธ์ (Strategies) ที่นักเรียนใช้ในการอ่านและทำความเข้าใจบทความต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการอ่าน 3 ด้าน ได้แก่ การเข้าใจและจดจำ (Understandingand remembering)  การสรุปความ (Summarizing)  และการประเมินความน่าเชื่อถือ (Assess credibility)  ซึ่งคำตอบของนักเรียนจะถูกนำไปสร้างเป็นดัชนีการรู้คิดโดยใช้กลยุทธ์การอ่าน 3 ด้านดังกล่าว  ผลการวิเคราะห์พบว่า ดัชนีการรู้คิดในการอ่านทั้ง 3 ด้าน มีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านของนักเรียนไทย โดยเป็นตัวแปรที่มีความสัมพันธ์สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน และเมื่อพิจารณาค่าดัชนีการรู้คิดในแต่ละด้าน พบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีการรู้คิดด้านการเข้าใจและจดจำ (-0.31) มากที่สุด รองลงมาคือค่าดัชนีการรู้คิดด้านการสรุปความ (-0.54) และค่าดัชนีการรู้คิดด้านการประเมินความน่าเชื่อถือ (-0.71) ตามลำดับ โดยทั้ง 3 ด้าน มีค่าดัชนีน้อยกว่าค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD[1]  แต่เมื่อพิจารณาตามกลุ่มโรงเรียน[2] พบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย มีค่าดัชนีการรู้คิดในแต่ละด้านมากกว่าค่าดัชนีของประเทศ ดังแสดงในรูป 1 


รูป 1  ค่าดัชนีการรู้คิดในการอ่านของนักเรียนไทย จำแนกตามกลุ่มโรงเรียน


  • [1] PISA กำหนดให้ค่าดัชนีเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD เท่ากับ 0 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 1
  • [2] กลุ่มโรงเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (อปท.) กลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย (สาธิต) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกลุ่มโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (เน้นวิทย์)

ความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียน

PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนเกี่ยวกับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินในแง่มุมต่าง ๆ โดยสอบถามว่า นักเรียนเห็นด้วยมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับการอ่าน เช่น การอ่านหนังสือเป็นงานอดิเรก และการพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือกับผู้อื่น แล้วนำคำตอบที่ได้ไปสร้างเป็นดัชนีความเพลิดเพลินในการอ่าน  ผลการวิเคราะห์พบว่า ความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนหรือการที่นักเรียนได้อ่านสิ่งที่ตนเองสนใจมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่าน  นอกจากนี้ ยังพบว่า ดัชนีความสนใจของครูและดัชนีการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่านมีความสัมพันธ์กับความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียน กล่าวคือ หากนักเรียนรับรู้ว่าครูมีความกระตือรืนร้นให้ความสนใจในการสอน และครูคอยกระตุ้นและชี้แนะให้นักเรียนเกิดความสนใจในการอ่านก็จะส่งผลต่อความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนด้วย ดังนั้น ปัจจัยด้านความเพลิดเพลินในการอ่าน ความสนใจของครู และการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่านของครู ล้วนมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่าน เมื่อพิจารณาค่าดัชนีของแต่ละปัจจัยพบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีความเพลิดเพลินในการอ่าน (0.27) ค่าดัชนีความสนใจของครู (0.33) และค่าดัชนีการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน (0.42) มากกว่านักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD

ความหลากหลายของการอ่าน

นอกจากการรู้คิดในการอ่านและความเพลิดเพลินในการอ่านของนักเรียนแล้ว ผลการวิเคราะห์ยังพบว่า การอ่านเนื้อเรื่องที่หลากหลายทั้งในแง่ของรูปแบบของบทอ่านและประเภทของบทอ่านมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านด้วย  สำหรับความหลากหลายของรูปแบบของบทอ่านเพื่อการเรียน PISA ได้สอบถามนักเรียนว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นักเรียนต้องอ่านบทอ่านประเภทต่าง ๆ เพื่อการเรียนบ่อยเพียงใด โดยพบว่า ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนสอบ นักเรียนไทยประมาณ 30% รายงานว่าได้อ่านบทอ่านในแต่ละรูปแบบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบทอ่านในรูปแบบดิจิทัลและหนังสืออ่านเล่น (41% และ 33% ตามลำดับ)  อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเรียนไทยประมาณ 15% ที่รายงานว่าไม่ได้อ่านบทอ่านในแต่ละรูปแบบเลย  ดังแสดงในรูป 2


รูป 2  ร้อยละของนักเรียนไทยที่รายงานถึงความบ่อยครั้งในการอ่านบทอ่านแต่ละรูปแบบเพื่อการเรียน ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนสอบ


สำหรับความหลากหลายของประเภทของบทอ่าน PISA ได้สอบถามนักเรียนว่า นักเรียนอ่านบทอ่านแต่ละประเภทตามความต้องการของนักเรียนเองบ่อยเพียงใด ทั้งที่เป็นกระดาษและบนอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งพบว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่อ่านหนังสือการ์ตูนและหนังสืออ่านเล่นมากที่สุด (54%) รองลงมาคือหนังสือที่ไม่ใช่หนังสืออ่านเล่น เช่น หนังสือที่ให้ความรู้และสารคดี (43%) นิตยสาร (25%) และหนังสือพิมพ์ (24%) ตามลำดับ  ดังแสดงในรูป 3 


รูป 3 ร้อยละของนักเรียนไทยที่รายงานว่าได้อ่านบทอ่านแต่ละประเภทตามความต้องการของตนเอง
หลายครั้งต่อเดือนหรือมากกว่า


การส่งเสริมสมรรถนะด้านการอ่าน

ผลการประเมินของ PISA ในแต่ละรอบการประเมิน พบว่า ความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ สมรรถนะด้านการอ่านคือรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในด้านอื่น ๆ ของนักเรียนนั่นเอง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบดิจิทัลของโลกในปัจจุบันส่งผลให้ในแต่ละวันประชากรโลกจำเป็นต้องอ่านข้อมูลในปริมาณมหาศาลที่ต่างมีความสำคัญ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยงแปลงดังกล่าว ระบบการศึกษาจึงควรเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ซึ่งไม่เฉพาะสำหรับการอ่านบนสื่อสิ่งพิมพ์แต่รวมถึงการอ่านบนสื่อดิจิทัลด้วย โดยนักเรียนจะต้องสามารถทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคมได้

เมื่อพิจารณาผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการประเมินด้านการอ่านใน PISA 2018 ของประเทศไทยข้างต้น จึงมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมสมรรถนะด้านการอ่านของนักเรียนไทย ดังนี้ 

ส่งเสริมให้มีการรู้คิดในการอ่าน

การรู้คิดในการอ่านมีความสัมพันธ์กับคะแนนการอ่านมากที่สุด และในภาพรวมนักเรียนไทยมีค่าดัชนีการรู้คิดในการอ่านต่ำในทุกด้าน

  • ครูควรจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีกลยุทธ์หรือเทคนิคในการอ่าน เช่น การอภิปรายสิ่งที่อ่านกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน การสรุปสาระสำคัญจากสิ่งที่อ่านเป็นคำพูดของตนเอง และการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้นักเรียนสามารถจดจำ เข้าใจ สรุปความ หรือวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของบทอ่านได้ 

ส่งเสริมการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินและความหลากหลายของการอ่าน

นอกจากการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินจะมีความเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้ว ข้อมูลจากหลายการวิจัยยังพบว่า การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินช่วยส่งเสริมทักษะทางสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียนด้วย ทั้งนี้ จากผลการวิจัยอื่นพบว่า คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้ปกครอง และคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู มีความสัมพันธ์กับการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินของนักเรียน ดังนั้น การส่งเสริมการอ่านเพื่อความเพลิดเพลินจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากที่บ้านและโรงเรียน อีกทั้ง นักเรียนยังควรได้รับการส่งเสริมให้ได้อ่านเนื้อเรื่องที่มีการให้ข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการอ่านจากบทอ่านหลากหลายประเภทควบคู่กันไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการอ่านในชีวิตจริง

  • ครูและผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการอ่านเพื่อความเพลิดเพลิน โดยอาจเริ่มต้นจากการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้อ่านในสิ่งที่นักเรียนสนใจ เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความเพลิดเพลินในการอ่านซึ่งอาจนำไปสู่การอ่านเพื่อความเพลิดเพลินด้วยตัวนักเรียนเองในอนาคต
  • ส่งเสริมให้อ่านเนื้อเรื่องที่มีการให้ข้อมูลในหลากหลายรูปแบบ เช่น กราฟ แผนภาพ แผนผัง ตาราง อินโฟกราฟิก ลิงก์ข้อมูล และการโต้ตอบทางอีเมล
  • ส่งเสริมให้อ่านจากบทอ่านหลากหลายประเภท เช่น บทความ บทวิเคราะห์ ข่าว หนังสือการ์ตูน นิตยสาร นิยาย แผ่นพับ ป้ายประกาศ บล็อกส่วนตัว โพสต์บนกระดานสนทนา และการสนทนาทางเครือข่ายสังคมออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม


ดาวน์โหลด (PDF, 707KB)