[INFOGRAPHICS] ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย” ตอนที่ 2/7

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 2/7

“กรอบความคิดแบบเติบโต และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน” 


การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด

สำหรับอินโฟกราฟฟิกฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัย “กรอบความคิดแบบเติบโต และแรงจูงใจ ใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน” เพื่อใช้ในการส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย

ปัจจัยด้านกรอบความคิดแบบเติบโต

ปัจจัยด้านกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนการอ่านของนักเรียนไทยมากที่สุด โดยนักเรียนที่รายงานว่าไม่เห็นด้วยกับข้อความ “สติปัญญาของนักเรียนเป็นสิ่งหนึ่งในตัวของนักเรียนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้มากนัก” ถือได้ว่าเป็นนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต ซึ่งนักเรียนเหล่านี้จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ไม่มีกรอบความคิดแบบเติบโตถึง 47 คะแนน

ปัจจัยด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน

ปัจจัยรองลงมาคือ การมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน โดยพบว่า นักเรียนที่รายงานว่ามีความมุมานะ ทุ่มเทในการทำงานให้สำเร็จจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้รายงานเช่นนั้น

กล่าวคือ นักเรียนที่รายงานว่าเห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความที่ว่า “ส่วนหนึ่งของความสุขที่ได้รับจากการทำสิ่งต่าง ๆ คือ การที่ทำได้ดีกว่าเดิม” และ “รู้สึกพึงพอใจเมื่อได้ทุ่มเทกับงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความดังกล่าวถึง 68 และ 66 คะแนน ตามลำดับ

โดยแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงานเป็นความพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นและทำให้เต็มที่ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกรอบความคิดแบบเติบโต คือ การมีกรอบความคิดแบบเติบโตจะทำให้นักเรียนมีทัศนคติของการก้าวไปข้างหน้าและไม่ยอมแพ้

การส่งเสริมให้นักเรียนมีกรอบความคิดแบบเติบโตและมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน

ตัวอย่างแนวทางในการเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตและสร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้กับนักเรียน เช่น

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโต
สร้างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนสามารถพัฒนาความเชื่อที่ว่า “ความสามารถเป็นสิ่งที่พัฒนาได้” ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโตและการปลูกฝังความเชื่อที่ถูกต้องให้แก่นักเรียน โดยจัดสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกโรงเรียนที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน รวมถึงการจัดหาทรัพยากรและทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายทางการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

การสอนให้นักเรียนมีความเชื่อและเข้าใจเกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต
เป็นการสอนให้นักเรียนให้คุณค่ากับความพยายามและเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพในการเรียนรู้ของสมองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ

การจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโต
เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียนตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และเข้าใจว่า สิ่งที่ตนได้เรียนรู้จากงานที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ในลำดับต่อไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการสร้างความเข้าใจแก่นักเรียนว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้นตอน ดังนั้น ครูควรออกแบบประสบการณ์และสร้างบรรยากาศให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้น เพื่อช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุเป้าหมายผ่านรูปแบบการสอนที่เหมาะสมเต็มศักยภาพของตนเอง


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง

https://www.facebook.com/145276782175385/posts/4567406563295696/?d=n