PISA กับประเทศไทย: ความจริงที่ต้องยอมรับ

คุณภาพการศึกษาไทยยังห่างไกลความเป็นเลิศ การแก้ไขปรับปรุงจึงเป็นเรื่องรีบด่วน ผลการวิจัยที่ชี้ ความอ่อนด้อยน่าจะเป็นจุดเริ่มของการแก้ไขที่ถูกจุดทั้งในด้านการจัดการทางการศึกษา สังคมและวัฒนธรรม ทั้งวัฒนธรรมการไม่คิด เชิงวิพากษ์วิจารณ์ ความนิยมในการที่ต้องให้ผู้อื่นบอก การกวดวิชาก็เป็นผลพวงจากความนิยมนี้ ตัวแปรเหล่านี้ ผลการวิจัยชี้ชัดว่า ส่งผลกระทบทางลบต่อคุณภาพการศึกษา

ประเด็นหลักจากผลการประเมิน PISA 2015

ผลการประเมินวิทยาศาสตร์เฉลี่ยของนักเรียนในประเทศบอกนัยถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งยกระดับ ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนที่มีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ดีมักต้องการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลการประเมินยังชี้ถึงผลกระทบของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอันมาจากสาเหตุต่าง ๆ ซึ่งสามารถทำให้ผลกระทบลดหรืออ่อนลงได้โดยการส่งเสริมสนับสนุนนักเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าด้วยการเสริมทรัพยากรทางการเรียนที่มีคุณภาพต่อการเรียนรู้

ข้อมูลและผลการวิจัยของ PISA ได้มาอย่างไร

PISA เป็นโครงการวิจัยด้านการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ แต่ก็ยังมีลักษณะเช่นเดียวกับงานวิจัยอื่น ๆ นั่นคือ ต้องมีการตั้งสมมติฐานและมีข้อจำกัด ทั้งในการดำเนินงานและการตีความผลการวิจัย การนำผลการประเมิน PISA ไปใช้ในระดับนโยบายจึงควรสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และคำนึงถึงข้อจำกัดที่มีด้วย

นักเรียนไทยล้าหลังเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน

ผลการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ PISA 2015 เปิดเผยว่า นักเรียนไทยมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน เป็นเรื่องที่ต้องรับรู้และแก้ไขให้ขึ้นมาเท่าเทียมกัน ในประเทศเราเอง นักเรียนกลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนมีการเรียนรู้ต่างกันมาก แล้วระบบจะทอดทิ้งเด็กกลุ่มอ่อนเหล่านั้นหรือ ในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นถูกคาดหวังว่าจะเติบโตเป็นกำลังของชาติที่มีคุณภาพในอนาคตแทนที่จะเป็นตัวถ่วงหรือเป็นภาระของชาติ ระบบจึงไม่อาจทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มใดได้

ผลการประเมิน PISA 2015 บอกอะไรถึงระดับนโยบาย

PISA ได้เก็บข้อมูลอื่น ๆ นอกเหนือจากผลการทดสอบของนักเรียน ทั้งวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของข้อมูลเหล่านั้นกับผลการประเมินทำให้สามารถชี้นัยถึงระดับนโยบายได้ว่า ระบบฯ สามารถทำอะไรได้บ้างเพี่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ถึงแม้จะมีข้อมูลด้านตัวแปรต่าง ๆ มากมาย แต่ระบบมักไม่ให้ความสำคัญ และคงแนวปฏิบัติแบบเดิมมาตลอดทำให้ผลการประเมินชี้ถึงความไม่ก้าวหน้าและไม่มีการยกระดับเกิดขึ้นในระบบโรงเรียน

การอ่านดิจิทัล: นักเรียนไทยพร้อมหรือยัง?

เมื่อโลกเดินทางมาถึงยุคดิจิทัล นักเรียนควรได้รับการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือได้และดำเนินชีวิตอย่างปกติในโลกยุคใหม่ PISA 2018 ต้องการหาตัวชี้วัดว่านักเรียนในแต่ละระบบการศึกษามีความพร้อมเพียงใดในการรู้เรื่องการอ่านดิจิทัล (Digital reading literacy) โดยทั่วไปพบว่า นักเรียนสนใจและมีความสามารถการอ่านดิจิทัลสูงกว่าการอ่านสิ่งพิมพ์

PISA ที่ผ่านมาบอกอะไรให้เราทราบบ้าง

การศึกษาของไทยถือว่ามีคุณภาพระดับเทียบเคียงนานาชาติได้ระดับหนึ่ง แต่การศึกษาที่มีคุณภาพนั้นอยู่เพียงใน กทม. เท่านั้น หากสามารถขยายตัวแบบการศึกษาใน กทม. ออกไปใช้ทั่วประเทศอาจทำให้ผลการประเมินสูงขึ้นได้ อนึ่ง PISA ได้ชี้ถึงจุดอ่อนที่ระบบฯ สามารถนำมาพิจารณาเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านครู ทรัพยากรการศึกษา ความเท่าเทียมหรือความเป็นธรรมทางการศึกษา การเปลี่ยนหลักสูตรอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบ แต่การศึกษาต้องปรับทุกประเด็นแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่เห็นคุณค่าอย่างสูงของการศึกษา การเคารพครู ความขยันและการทำงานหนักก็เป็นองค์ประกอบของการยกระดับคุณภาพการศึกษา

การศึกษาเวียดนาม: ทำไมนักเรียนจึงมีผลการประเมินสูง

ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการยกระดับนั้นมีข้อมูลที่ชี้บอกถึงจุดอ่อนของระบบของชาติ และจุดแข็งของระบบอื่น ๆ ที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ข้อมูลและสาระดี ๆ เหล่านั้นไม่เคยถูกใช้ เพราะระบบไทยมักตัดสินอยู่บนฐานความคิดเห็นและความพอใจมากกว่าบนฐานของข้อมูล

ความเป็นธรรมทางการศึกษาเป็นอย่างไร

ข้อมูลจากการวิจัยนานาชาติชี้ว่า ทรัพยากรการเรียนเป็นตัวแปรที่อิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม สามารถลดอิทธิพลของตัวแปรนี้ลงได้ ความเป็นธรรมทางการศึกษา มิได้มีความหมายถึงการให้ทรัพยากรที่เท่ากันหมด เพราะว่าการให้ที่เท่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพราะคนที่มีต้นทุนเดิมมากยังคงมีมากเหนือคนอื่นอยู่ดี และคนที่มีต้นทุนเดิมน้อยก็ยังมีน้อยเหมือนเดิม ระบบที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบ แต่ให้การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม

นักเรียนเกาหลีใต้เขาเรียนหนังสือกันอย่างไร

ระบบของฟินแลนด์กับของเกาหลีใต้ที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดในโลก แต่วิธีการที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายของสองระบบนี้แตกต่างกัน จะมีสิ่งที่ร่วมกันอยู่ก็เพียงการให้ความสำคัญและให้คุณค่าแก่ครู เลือกคนที่ดีที่สุดมาเป็นครู และเก็บครูเก่งไว้ในระบบ ที่สำคัญอีกอย่างก็คือนักเรียนและความทุ่มเทของผู้ปกครองโดยเฉพาะในเกาหลีใต้ นักเรียนเกาหลีใต้มีการเรียนที่สุดโหดและทรหดอดทน ไทยที่มีบริบทที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จึงต้องดูปัญหาของตนเองให้ถูกจุด และค่อย ๆ ปรับเท่าที่ทำได้ บทเรียนจากสองประเทศชี้นัยว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการศึกษาของลูกให้มากที่สุด กระตุ้นครูให้ทำงานหนักและทำดีที่สุดในแต่ละวัน ให้นักเรียนกระหายที่จะเรียน และให้เรียนให้ดีที่สุดทุก ๆ วัน ระบบการศึกษาไม่ควรมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนหลักสูตรและคิดว่าการเปลี่ยนหลักสูตร คือ คำตอบ

1 4 5 6