รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสวท. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ดำเนินงาน PISA แห่งชาติของประเทศไทย ดำเนินงานโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ซึ่งการประเมินดังกล่าวริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมการประเมิน PISA มาตั้งแต่รอบแรก (PISA 2000) ในปี พ.ศ. 2543 จนถึงรอบ
การประเมินปัจจุบัน คือ PISA 2022 ซึ่งเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) สำหรับการดำเนินงาน PISA 2022 ของประเทศไทยนั้น ได้ดำเนินการ
เก็บรวบรวมข้อมูลรอบการวิจัยหลัก (Main Survey) เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินดังกล่าว จำนวน 8,509 คน จาก 280 โรงเรียน ทั่วประเทศในทุกสังกัดการศึกษา
ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผลการประเมินด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของ PISA 2022 ในเดือนธันวาคม 2566 และเผยแพร่ผลการประเมินด้านความคิดสร้างสรรค์ ในเดือนธันวาคม 2567 ต่อไป
สำหรับในรอบการประเมินถัดไป คือ PISA 2025 จะเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล (Learning in the Digital World) โดยจะมีการจัดสอบรอบทดลองใช้เครื่องมือ (Field Trial) ในปี ค.ศ. 2024 และสอบรอบ Main Survey ในปี ค.ศ. 2025 สำหรับประเทศไทยการประเมิน PISA 2025 จะมีการจัดสอบรอบทดลองใช้เครื่องมือในเดือนสิงหาคม 2567 และจัดสอบรอบการวิจัยหลักในเดือนสิงหาคม 2568
นอกจากนี้ ในการประชุมสภาบริหารของโปรแกรม PISA (PISA Governing Board หรือ PGB) ครั้งที่ 54 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2565 ในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Meeting) ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วยแอปพลิเคชัน Zoom นั้น ได้มีการพิจารณาความถี่ในการจัดสอบ PISA หลังจากรอบการประเมิน PISA 2025 ซึ่งเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 จากการหารือร่วมกันของทุกประเทศในกลุ่ม OECD และประเทศสมาชิกสมทบ (Associates) ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการขยายระยะห่างของแต่ละรอบ
การประเมินเป็นทุก 4 ปี จากเดิมที่มีการประเมินทุก 3 ปี เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของศูนย์แห่งชาติ โดยยังคงสามารถรักษามาตรฐานของการประเมินระดับนานาชาติร่วมกัน ดังนั้น รอบการประเมินถัดจาก PISA 2025 จะเป็น PISA 2029 ซึ่งเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นหลัก