สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก (Global Competence): การประเมินด้านใหม่ของ PISA 2018
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ดำเนินงานโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดย PISA ได้ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี เพื่อติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาและมุ่งให้ข้อมูลแก่ระดับนโยบาย
นอกจากการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการประเมินแล้ว ใน PISA 2018 ยังได้เพิ่มการประเมินมิติใหม่อีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การประเมิน “สมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก” (Global Competence) ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และเป็นความท้าทายสำหรับระบบการศึกษาในการสร้างเยาวชนให้มีความสามารถที่จะปฏิบัติตนให้มีคุณภาพและประสบความสำเร็จไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม โดยนิยามสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกได้ครอบคลุมความสามารถใน 4 ด้าน ได้แก่
1) ความสามารถในการประเมินความสำคัญของประเด็นปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น ระดับโลก หรือทางวัฒนธรรม (เช่น ความยากจน การพึ่งพากันทางเศรษฐกิจ การอพยพย้ายถิ่น ความเหลื่อมล้ำ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาพลักษณ์)
2) ความสามารถในการเข้าใจและเห็นคุณค่าของมุมมองและโลกทัศน์ที่แตกต่างกัน
3) ความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้คนที่มีพื้นฐานทางสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา สังคม หรือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และ
4) ความสามารถและอุปนิสัยที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
ใน PISA 2018 มี 27 ประเทศ** รวมทั้งประเทศไทยที่เข้าร่วมทำแบบทดสอบเพื่อประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลก พบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมของทั้ง 27 ประเทศ เท่ากับ 474 คะแนน สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (576 คะแนน) แคนาดา (554 คะแนน) ฮ่องกง (542 คะแนน) สกอตแลนด์ (534 คะแนน) และจีนไทเป (527 คะแนน)
สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกเท่ากับ 423 คะแนน โดยกลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนน 569 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก (Top 5) และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนน 516 คะแนน ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวม ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยรวม
ผลการประเมินสมรรถนะการอยู่ในสังคมโลกของ 27 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประเมิน
** ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจ
ดาวน์โหลดไฟล์ข่าวสารนี้ (PDF, 238KB)