FAKE News กับความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA

โลกยุคดิจิทัลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จึงทำให้ธรรมชาติของการอ่านได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  การอ่านในปัจจุบันจึงไม่เพียงเกี่ยวข้องกับสื่อสิ่งพิมพ์บนหน้ากระดาษแต่ยังเกี่ยวข้องกับการอ่านจากสื่อดิจิทัล  ในอดีตหากนักเรียนต้องการหาข้อมูลหรือหาคำตอบใด ๆ ก็จะค้นคว้าหาอ่านตามหนังสือหรือสารานุกรมและมักจะเชื่อว่าคำตอบที่พบนั้นถูกต้องแล้ว  แต่ในทุกวันนี้ หากนักเรียนสืบค้นข้อมูลบนสื่อออนไลน์ก็จะได้คำตอบนับล้านคำตอบซึ่งแล้วแต่ว่านักเรียนจะเลือกเชื่อว่าคำตอบใดถูกต้อง เป็นจริง และข้อมูลใดใช้ได้หรือใช้ไม่ได้  ดังนั้น การอ่านในโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้นเนื่องจากมีทั้งสื่อและการบริโภคเนื้อหาจากสื่อต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น  บางครั้งจึงดูเหมือนว่าความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลจะมาก่อนคุณภาพของข้อมูล สิ่งนี้จึงก่อให้เกิด “ข่าวปลอม” (FAKE News)  หรือข้อมูลที่อาจจะบิดเบือนจากความเป็นจริง  ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่ความเชื่อหรือความคิดเห็นส่วนบุคคลมีอิทธิพลในการกำหนดความเห็นของสาธารณชน

จากที่กล่าวมาข้างต้น PISA จึงได้ปรับวิธีการวัดความสามารถทางการอ่านหรือความฉลาดรู้ด้านการอ่านให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ซึ่งจากผลการประเมินของ PISA 2018 พบว่า นักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD มีเพียง 9% ที่มีระดับความสามารถด้านการอ่านมากพอในการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนไม่ถึง 1% ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์หรือแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็นได้   ดังนั้น การสอนของครูในปัจจุบันจึงไม่ใช่เพียงแค่การสอนนักเรียนเพื่อให้ความรู้อีกต่อไป แต่ควรเป็นการช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูล การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น เป็นต้น

ประสบการณ์การเรียนรู้ทักษะความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในโรงเรียน

ใน PISA 2018 ได้มีการสอบถามนักเรียนถึงประสบการณ์ที่นักเรียนเคยได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาหรือใช้ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ พบว่า นักเรียนไทยที่รายงานว่าเคยได้รับการสอนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD  ถือได้ว่านักเรียนไทยเคยได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ มาพอสมควร เช่น วิธีการใช้คำสำคัญเมื่อต้องใช้เครื่องมือสืบค้นข้อมูล และวิธีการตัดสินใจว่าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งมีนักเรียนไทยประมาณ 88% เคยได้เรียนเรื่องดังกล่าว ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนประมาณ 56% และ 69% ตามลำดับ  แต่สำหรับทักษะในการตรวจสอบอีเมลหลอกลวงหรืออีเมลขยะพบว่า เป็นเรื่องที่นักเรียนไทยและนักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD เคยได้รับการสอนน้อยที่สุด ดังรูป 1


รูป 1  ร้อยละของนักเรียนที่รายงานว่าในโรงเรียนนักเรียนเคยได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการสืบค้นข้อมูลหรือการใช้ข้อมูลทางสื่อออนไลน์


การรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลจากสื่อออนไลน์

จากข้อมูลข้างต้น สอดคล้องกับดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ที่ได้จากการสอบถามนักเรียนโดยให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์จำลองว่า “นักเรียนได้รับอีเมลจากผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่มีชื่อเสียง ซึ่งแจ้งว่า นักเรียนเป็นผู้โชคดีได้รับสมาร์ทโฟน โดยผู้ส่งข้อความขอให้นักเรียนคลิกที่ลิงก์เพื่อกรอกข้อมูลของนักเรียนลงในแบบฟอร์ม แล้วพวกเขาจะส่งสมาร์ทโฟนมาให้นักเรียน”  แล้วให้นักเรียนวิเคราะห์ว่าวิธีปฏิบัติแต่ละวิธีต่อไปนี้มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ได้แก่ 1) ตรวจสอบที่อยู่อีเมลของผู้ส่งข้อความ  2) ลบอีเมลโดยไม่คลิกที่ลิงก์ 3) ตรวจสอบเว็ปไซต์ของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อดูว่ามีการแจกสมาร์ทโฟนหรือไม่ 4) ตอบกลับอีเมลและขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาร์ทโฟน และ 5) คลิกที่ลิงก์เพื่อกรอกแบบฟอร์มโดยเร็ว  จากนั้นนำคำตอบของนักเรียนมาสร้างเป็นดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (Index of knowledge of strategies for assessing the credibility of sources)

เมื่อพิจารณาถึงวิธีปฏิบัติในการตอบสนองต่ออีเมลในสถานการณ์ข้างต้น จากการรายงานของนักเรียน พบว่า นักเรียนประมาณ 40% ของประเทศสมาชิก OECD รายงานว่า การคลิกที่ลิงก์เพื่อกรอกแบบฟอร์มโดยเร็วเป็นวิธีที่เหมาะสมพอสมควรหรือเหมาะสมอย่างยิ่งในการตอบสนองต่ออีเมลลักษณะนี้  สำหรับนักเรียนไทยมีนักเรียนที่รายงานเช่นนี้ถึง 67% ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ววิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการตอบสนองต่ออีเมลลักษณะดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าวิธีปฏิบัติใดเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม  อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น ตรวจสอบที่อยู่อีเมลของผู้ส่งข้อความ  ตรวจสอบเว็ปไซต์ของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อดูว่ามีการแจกสมาร์ทโฟนหรือไม่ และลบอีเมลโดยไม่คลิกที่ลิงก์ พบว่า ในประเทศสมาชิก OECD  มีนักเรียนประมาณ 60 – 80% ที่รายงานว่าวิธีเหล่านี้มีความเหมาะสม สำหรับนักเรียนไทยมีประมาณ 55 – 76%  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยส่วนหนึ่งยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าวิธีปฏิบัติใดเป็นวิธีที่เหมาะสม หรือไม่ทราบถึงวิธีที่ถูกต้องในการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน นั่นคือ การตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน

เมื่อพิจารณาที่ค่าดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการประเมินมีค่าดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD (-0.01) รวมทั้งประเทศไทยซึ่งถือว่ามีค่าดัชนีค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ (-0.71)  นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนแล้ว พบว่า ในประเทศที่มีค่าดัชนีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนในทุกกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมจะมีค่าดัชนีดังกล่าวต่ำเช่นเดียวกันแม้ว่านักเรียนจะมาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบก็ตาม  ดังรูป 2


รูป 2  ค่าดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลของประเทศต่าง ๆ
จำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา: OECD, 4 May 2021


เมื่อทำการวิเคราะห์เพื่อหาว่าการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือส่งผลต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยมากน้อยเพียงใด พบว่า เมื่อค่าดัชนีนี้เพิ่มขึ้น 1 หน่วย จะส่งผลให้คะแนนการอ่านของนักเรียนไทยเพิ่มขึ้น 17 คะแนน โดยหากนักเรียนรู้ถึงวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสมในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือเมื่อได้รับข้อมูลทางอีเมลก่อนที่ตอบสนองต่อข้อมูลนั้น กลุ่มนักเรียนเหล่านี้ก็จะมีคะแนนการอ่านมากกว่ากลุ่มนักเรียนที่ไม่ได้คำนึงถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน โดยนักเรียนที่รายงานว่า “การตรวจสอบอีเมลของผู้ส่ง” เป็นวิธีที่เหมาะสมจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าวิธีการปฏิบัติเช่นนั้นไม่เหมาะสมถึง 60 คะแนน  ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่รู้ถึงวิธีที่ถูกต้องในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือจะสามารถทำคะแนนการอ่านได้ดีกว่านักเรียนที่คิดว่าวิธีเหล่านี้ไม่เหมาะสม  ในขณะที่ “การลบอีเมลโดยไม่คลิกที่ลิงก์” ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการตอบสนองกับอีเมลลักษณะนี้ หรือ “การคลิกลิงก์เพื่อกรอกข้อมูลแบบฟอร์มโดยเร็ว” ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง  แต่กลับพบว่า ในทั้งสองวิธีปฏิบัตินี้ไม่พบความแตกต่างของคะแนนการอ่านระหว่างนักเรียนที่รายงานว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม นั่นแสดงให้เห็นว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสองวิธีนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ในการจัดการกับอีเมลหลอกลวง

จากข้อค้นพบจะเห็นได้ว่า นักเรียนไทยยังมีความรู้ที่ไม่เพียงพอหรือไม่ทราบถึงวิธีที่ถูกต้องในการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะที่จำเป็นมากต่อการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น จึงควรมีกิจกรรมหรือการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมการรู้ถึงวิธีปฏิบัติหรือวิธีตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้าไปในห้องเรียนด้วย เพื่อให้นักเรียนได้ทราบและฝึกฝนกลยุทธ์หรือวิธีการอ่านในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการประเมินความน่าเชื่อถือ เช่น การสอนให้นักเรียนทราบถึงแนวทางในการประเมินความน่าเชื่อถือสิ่งที่อ่านอย่างถูกต้อง นั่นคือ การตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่านเพื่อให้การอ่านของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD  (2021),  21st-Century Readers: Developing Literacy Skills in a Digital World,  PISA,  OECD Publishing, Paris,  (Online),  https://doi.org/10.1787/a83d84cb-en,  Retrieved May 28, 2021.
  • OECD  (4 May 2021),  Are 15-year-olds prepared to deal with fake news and misinformation?,  PISA in Focus,  No. 113,  OECD Publishing,  Paris,  (Online),  https://doi.org/10.1787/6ad5395e-en,  Retrieved May 28, 2021.

ดาวน์โหลด (PDF, 611KB)