ความคาดหวังในการประกอบอาชีพของนักเรียนวัย 15 ปี

ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วทำให้มีอาชีพเกิดขึ้นมากมาย การเลือกประกอบอาชีพนับว่ามีความความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากการที่บุคคลสามารถเลือกประกอบอาชีพได้เหมาะสมกับตนเองย่อมส่งผลต่อความสุขและโอกาสที่จะประสบผลสำเร็จทั้งในชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว อีกทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศด้วย

สำหรับนักเรียนกลุ่มอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับและกำลังก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะต้องมีการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตในอนาคต เช่น พวกเขาต้องเลือกว่าจะศึกษาต่อในเส้นทางการศึกษาใดหรือสาขาวิชาใด หรือตัดสินใจเลือกว่าจะทำงานหลังสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเลยหรือไม่ โดยหากนักเรียนรู้ถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการทำในอนาคตที่ชัดเจนแล้วย่อมส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตต่อไป

PISA 2018 ได้สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับความคาดหวังในการประกอบอาชีพว่า “เมื่อนักเรียนอายุ 30 ปี นักเรียนคาดหวังว่าจะทํางานอะไร” ซึ่งเป็นคำถามแบบปลายเปิดให้นักเรียนพิมพ์ชื่องานหรืออธิบายลักษณะงานที่ตนเองอยากทำ นอกจากนี้ยังสอบถามว่า “นักเรียนคาดหวังว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดต่อไปนี้” ซึ่งเป็นคำถามแบบเลือกตอบมี 5 ระดับการศึกษา ได้แก่ 1) มัธยมศึกษาตอนต้น 2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ 3) มัธยมศึกษาตอนปลาย 4) อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 5) ปริญญาตรี ปริญญาโท หรือ ปริญญาเอก จากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนไทย พบว่า เมื่ออายุ 30 ปี นักเรียนชายและหญิงของไทยมีความคาดหวังในการประกอบอาชีพใน 5 อันดับแรก ดังแสดงในรูป 1 และนักเรียนไทยมีความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับสูงสุด ดังแสดงในรูป 2


รูป 1: 5 อันดับอาชีพที่นักเรียนชายและหญิงของไทยคาดหวังว่าจะทำเมื่ออายุ 30 ปี

รูป 2: ร้อยละของนักเรียนไทยที่มีความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับสูงสุด


ความคาดหวังในการศึกษาต่อสอดคล้องกับความคาดหวังในการประกอบอาชีพหรือไม่

ข้อมูลจากการประเมินใน PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนประมาณ 76% รายงานว่ามีความคาดหวังที่จะประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง[1] แต่ในกลุ่มนี้กลับมีนักเรียนถึง 20% ไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษาในระดับนี้มักจะจำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะในระดับสูง โดยข้อมูลของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศสมาชิก OECD นั่นคือ นักเรียนไทยประมาณ 75% รายงานว่ามีความคาดหวังที่จะประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง แต่ในกลุ่มนี้มีนักเรียนถึง 20% ไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จากข้อมูลข้างต้นได้แสดงให้เห็นว่า แม้นักเรียนจะแสดงความคิดที่ชัดเจนว่าต้องการประกอบอาชีพอะไรในอนาคต แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องเรียนจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในระดับใดจึงจะบรรลุเป้าหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความคาดหวังในการศึกษาต่อของนักเรียนยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการประกอบอาชีพในอนาคตนั่นเอง


[1] “อาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง” หมายถึง อาชีพที่มีลักษณะงานที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านเทคนิคและการปฏิบัติที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ต้องแก้ไขปัญหาและตัดสินใจบนพื้นฐานของความรู้ในทางทฤษฎีและข้อเท็จจริงในสาขาเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาและตัวเลขตั้งแต่ระดับสูงขึ้นไป และมีทักษะในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ดีเยี่ยม

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน โดยนักเรียนที่ได้เปรียบซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) และนักเรียนที่ด้อยเปรียบซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) พบว่า ในเกือบทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ยกเว้นยูเครน นักเรียนที่ด้อยเปรียบมีความคาดหวังที่จะการประกอบอาชีพในอนาคตไม่สอดคล้องกับความคาดหวังในการศึกษาต่อมากกว่านักเรียนที่ได้เปรียบ สำหรับประเทศไทย กลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบมีนักเรียนถึง 34% ที่รายงานว่ามีความคาดหวังในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกัน ขณะที่กลุ่มนักเรียนที่ได้เปรียบมีนักเรียนเพียง 6% ดังแสดงในรูป 3


รูป 3: ร้อยละของนักเรียนที่มีความคาดหวังที่จะประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง แต่ไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ตัวเลขในแถบสีฟ้าที่อยู่ถัดจากชื่อประเทศ/เขตเศรษฐกิจ คือ ร้อยละของนักเรียนที่มีความคาดหวังที่จะประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง

สัญลักษณ์ที่มีสีเข้มกว่า หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ที่มา: OECD, 2019


จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่มีความคาดหวังในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกันนี้ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ด้อยเปรียบ จึงอาจคาดการณ์ได้ว่า นักเรียนเหล่านี้มีโอกาสน้อยที่จะได้ทำงานในกลุ่มอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูงตามที่พวกเขาได้คาดหวังไว้

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พบว่า ในเกือบทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ยกเว้นยูเครน นักเรียนที่ได้เปรียบมีความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบ โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สัดส่วนของนักเรียนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันประมาณ 35% สำหรับประเทศไทย สัดส่วนของนักเรียนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันถึง 38% ดังแสดงในรูป 4


รูป 4: ร้อยละของนักเรียนที่มีความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา


จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระหว่างนักเรียนที่ด้อยเปรียบกับนักเรียนที่ได้เปรียบมีช่องว่างกว้างมาก ดังนั้น หากนักเรียนกลุ่มที่ด้อยเปรียบมีความคาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากขึ้น นอกจากจะเป็นการลดความแตกต่างดังกล่าวแล้วยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับตนเองในการเลือกประกอบอาชีพและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต

นักเรียนที่ด้อยเปรียบไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้จะมีผลการประเมินสูงก็ตาม

เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมิน PISA สูง ซึ่งหมายถึงนักเรียนที่มีคะแนนถึงระดับ 4 อย่างน้อยหนึ่งในสามด้าน (การอ่าน คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์) โดยในด้านที่เหลือมีคะแนนอยู่ในระดับ 2 ขึ้นไป พบว่า ในเกือบทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ กลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบรายงานว่าไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่านักเรียนที่ได้เปรียบ โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD กลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบมีนักเรียนถึง 28% ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ได้เปรียบมีนักเรียนเพียง 8% ที่รายงานว่าไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ประเทศไทย กลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบมีนักเรียนถึง 18% ส่วนกลุ่มนักเรียนที่ได้เปรียบมีนักเรียนเพียง 1% ที่รายงานว่าไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังแสดงในรูป 5


รูป 5: ร้อยละของนักเรียนที่มีผลการประเมิน PISA สูง แต่ไม่คาดหวังที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ตัวเลขในแถบสีฟ้าที่อยู่ถัดจากชื่อประเทศ/เขตเศรษฐกิจ คือ ร้อยละของนักเรียนที่มีผลการประเมิน PISA สูง

สัญลักษณ์ที่มีสีเข้มกว่า หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ที่มา: OECD, 2019


จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้นักเรียนที่ด้อยเปรียบจะมีผลการประเมินที่ดี แต่นักเรียนเหล่านี้ก็ยังมีจำนวนค่อนข้างมากที่ไม่คาดหวังว่าจะสำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

การเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต

การเตรียมความพร้อมให้นักเรียนได้ตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถ และความถนัดของแต่ละบุคคล รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก โดยพบว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกประกอบอาชีพของนักเรียน เช่น ผลการเรียน วิชาที่เรียนได้ดี เจตคติต่อวิชา การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเรียนหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ โอกาสในการจ้างงานของอาชีพที่ต้องการ อาชีพของบิดามารดา สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้ โรงเรียนสามารถมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในเรื่องดังกล่าวได้ โดยการกระตุ้นให้นักเรียนรู้ศักยภาพและความต้องการประกอบอาชีพของตนเอง มีความรู้เกี่ยวกับอาชีพที่หลากหลาย และรู้ทิศทางของตลาดแรงงานร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการจัดกิจกรรมแนะแนว เช่น สำรวจความถนัดและต้องการของนักเรียน จัดการอภิปรายกลุ่มและการบรรยายเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ พาเยี่ยมชมสถานประกอบการและตลาดนัดพบแรงงาน รวมถึงให้ฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการที่นักเรียนสนใจ โดยข้อมูลจาก PISA พบว่า การที่นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพด้วยการได้รับประสบการณ์ตรง จะเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพในตลาดแรงงานมากขึ้น ช่วยให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจ และเห็นภาพของอาชีพที่ตนเองสนใจอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น (OECD, 2019; อ้างอิงจาก Neumark and Rothstein, 2006)

การได้รับการแนะแนวอาชีพที่ดีจากโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นักเรียนสามารถวางแผนในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การแนะแนวจากโรงเรียนยังต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้นักเรียนมีความคาดหวังในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการในการประกอบอาชีพด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาทักษะระดับสูงของกำลังแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนซึ่งด้อยเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโรงเรียนยิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญและแนะแนวช่องทางการสนับสนุนอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาตนเองเข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นกำลังสำคัญที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume II): Where All Students Can Succeed, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/b5fd1b8f-en.
  • OECD (2020), Are students’ career expectations aligned with their skills?, PISA in Focus, No. 104, OECD Publishing, Paris, (Online), https://doi.org/10.1787/ed790c76-en, Retrieved March 1, 2020.
  • กรมการจัดหางาน (มิถุนายน 2561), คู่มือการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน: การบริการแนะแนวอาชีพของกรมการจัดหางาน, (ออนไลน์) https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/vgnew_th/b5dc9e4b64db8d73895ffd0ffaae2e1a.pdf, สืบค้นเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563.

ดาวน์โหลด (PDF, 823KB)