นักเรียนที่ด้อยเปรียบกับผลการประเมินที่เหนือความคาดหมาย

สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักเรียนมีความแตกต่างกัน ข้อมูลจากแบบสอบถามของ PISA สามารถจำแนกนักเรียนออกเป็นกลุ่มตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนได้ โดยนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบ หมายถึง นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (ตั้งแต่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีความพร้อมทั้งในด้านภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ครอบครัว ตลอดจนทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งตรงกันข้ามกับนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบ หรือ นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (ต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) โดยข้อมูลของ PISA รายงานว่า นักเรียนที่ด้อยเปรียบเหล่านี้ มักจะมีพ่อแม่ที่จบการศึกษาระดับไม่สูงนักและประกอบอาชีพที่มีรายได้น้อยและเป็นอาชีพที่มักจะไม่ได้รับความเคารพนับถือในสังคม ขาดแคลนทรัพยากรการเรียนรู้ที่บ้าน และใช้ภาษาที่บ้านแตกต่างกับภาษาที่ใช้ในการเรียนการสอนที่โรงเรียน เช่น นักเรียนที่เป็นผู้อพยพ นอกจากนี้ พวกเขามักจะได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบซึ่งขาดแคลนทรัพยากรในการเรียนการสอนด้วย ลักษณะที่กล่าวมานี้ล้วนบั่นทอนศักยภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น การตกอยู่ในสถานะที่ด้อยเปรียบเช่นนี้จึงทำให้พวกเขามักถูกทำนายว่าจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำและมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่ด้อยเปรียบบางส่วนไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา จนสามารถเอาชนะความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญและสามารถประสบความสำเร็จทางการศึกษาได้ ซึ่ง PISA เรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า นักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษา (Academic Resilient Students) หรือที่ในประเทศไทยนิยมเรียกกันว่า นักเรียนกลุ่มช้างเผือก ซึ่งในที่นี้หมายถึง นักเรียนที่มีภูมิหลังด้อยเปรียบแต่มีผลการประเมินสูง กล่าวคือ เป็นนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ แต่มีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ (มีคะแนนอยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป)

PISA 2018 รายงานถึงนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาว่าอย่างไร

จากผลการประเมิน PISA 2018 ในภาพรวมพบว่า ในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปรียบจะมีผลการประเมินสูงกว่านักเรียนที่ด้อยเปรียบ แต่นักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้มีช่องว่างของคะแนนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะในกลุ่มของนักเรียนที่ด้อยเปรียบกลับพบว่า มีนักเรียนบางส่วนสามารถทำคะแนนได้สูงอย่างเหนือความคาดหมาย

ใน PISA 2018 ที่เน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นหลัก เมื่อวิเคราะห์ในกลุ่มนักเรียนที่ด้อยเปรียบพบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนที่ด้อยเปรียบประมาณ 11% ที่มีคะแนนการอ่านอยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ/เขตเศรษฐกิจหรือเป็นนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษา ในขณะที่ข้อมูลของไทยพบว่า มีนักเรียนในกลุ่มนี้ประมาณ 13% และเมื่อพิจารณาในกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาสูง (15% ขึ้นไป) พบว่า มีหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนการอ่านสูง เช่น มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย นอกจากนี้ ยังพบหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ต่ำกว่าประเทศสมาชิก OECD เช่น โคโซโว และ บากู (อาเซอร์ไบจาน)[1] แต่ยังมีกลุ่มของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาในสัดส่วนสูงด้วย ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่า ความยากจนไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่กำหนดความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน นักเรียนที่ด้อยเปรียบก็สามารถมีผลการประเมินที่เป็นเลิศได้หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม


[1] ใน PISA 2018 ประเทศอาเซอร์ไบจาน ได้เข้าร่วมการประเมินเพียง “เมืองบากู” เท่านั้น

ปัจจัยใดบ้างที่สัมพันธ์กับความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียนที่ด้อยเปรียบ

การที่นักเรียนที่ด้อยเปรียบมีผลการเรียนรู้ที่สูงได้เป็นผลมาจากหลายปัจจัยร่วมกันทั้งในบริบทของครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน จากข้อมูลของ PISA 2018 พบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความไม่ย่อท้อทางการศึกษาของนักเรียน ดังนี้

การสนับสนุนจากพ่อแม่

พ่อแม่เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อนักเรียนทั้งในแง่ของการเป็นแบบอย่าง รวมถึงการเป็นที่พึ่งทั้งทางร่างกายและทางจิตใจของนักเรียน

ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามของนักเรียนใน PISA 2018 บ่งชี้ว่า นักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่มากจะพบสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษามากกว่านักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่น้อย โดยใน 25 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษามากที่สุดในกลุ่มนักเรียนที่มีค่าดัชนีการสนับสนุนของพ่อแม่อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (มีค่าดัชนีอยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) เช่น ในประเทศโคโซโว พบว่า ในกลุ่มนักเรียนที่มีค่าดัชนีการสนับสนุนของพ่อแม่อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ มีนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาถึง 29% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนที่พบในนักเรียนที่มีค่าดัชนีการสนับสนุนของพ่อแม่อยู่ในกลุ่มล่างสุดของประเทศ (มีค่าดัชนีอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) ที่มีเพียง 9% สำหรับข้อมูลของนักเรียนไทยพบว่า ในกลุ่มนักเรียนที่มีค่าดัชนีการสนับสนุนของพ่อแม่อยู่ในกลุ่มบนสุดของประเทศ มีนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาถึง 16% ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าในกลุ่มล่างสุดที่มีเพียง 6% แต่เมื่อพิจารณาค่าดัชนีพบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีการสนับสนุนของพ่อแม่เพียง -0.15 ซึ่งน้อยกว่าค่าดัชนีของนักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD (0.00)

บรรยากาศในโรงเรียน

บรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียนสามารถช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนที่ด้อยเปรียบมีผลการประเมินสูงได้ โดย PISA 2018 ได้รายงานถึงดัชนีที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศในโรงเรียน 3 ดัชนี ได้แก่ บรรยากาศทางระเบียบวินัย ความร่วมมือของนักเรียน และการแข่งขันของนักเรียนในโรงเรียน จากข้อมูลพบว่าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเป็นดัชนีหลักที่มีความสัมพันธ์กับนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษา

เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่า ในกลุ่มของนักเรียนที่รายงานว่าโรงเรียนมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยสูงกว่าจะมีสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษามากกว่าในกลุ่มของนักเรียนที่รายงานว่าโรงเรียนมีบรรยากาศทางระเบียบวินัยต่ำ โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่าในกลุ่มของนักเรียนที่มีค่าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยอยู่ในกลุ่มบนสุด (มีค่าดัชนีอยู่ในตำแหน่งเปอร์เซ็นไทล์ที่ 75 ขึ้นไป) จะมีสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษามากกว่าในกลุ่มล่างสุด (มีค่าดัชนีอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 25) ของประเทศอยู่ 6% สำหรับประเทศไทยพบว่า มีสัดส่วนนักเรียนกลุ่มบนสุดและล่างสุดต่างกัน 5% ในขณะที่บางประเทศมีสัดส่วนดังกล่าวต่างกันมากกว่า 10% เช่น บอสเนีย (15%) สโลวีเนีย (12%) โครเอเชีย (12%) และอิตาลี (12%) เมื่อพิจารณาค่าดัชนีพบว่า นักเรียนไทยมีค่าดัชนีบรรยากาศทางระเบียบวินัยเท่ากับ 0.31 ซึ่งมากกว่าค่าดัชนีของประเทศสมาชิก OECD[2] (0.04)


[2] ค่าดัชนีของประเทศสมาชิก OECD จะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับศูนย์ โดยประมาณ เพื่อเป็นค่ากลางในการเปรียบเทียบ

กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)

หรือความเชื่อว่าความสามารถหรือสติปัญญาของบุคคลสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา สามารถช่วยเสริมสร้างให้นักเรียนที่ด้อยเปรียบมีผลการประเมินสูงได้ เนื่องจากนักเรียนที่มีกรอบความคิดดังกล่าวจะมองเห็นว่าตนเองสามารถเผชิญหน้าและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ ซึ่ง PISA 2018 พบว่า การมีกรอบความคิดแบบเติบโตยังช่วยให้นักเรียนมีคุณลักษณะอื่น ๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่า แม้ว่านักเรียนจะมีศักยภาพที่เพียงพอ แต่หากพวกเขาไม่เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้ พวกเขาก็จะไม่นำศักยภาพเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

โดยข้อมูลของ PISA 2018 บ่งชี้ว่า ในกลุ่มของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจาก 64 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ จะมีสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษามากกว่าในกลุ่มของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว โดยค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD พบว่า มีความแตกต่างของสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาระหว่างนักเรียนสองกลุ่มนี้อยู่ 8% ในขณะที่ ข้อมูลของนักเรียนไทยพบว่า มีความแตกต่างของสัดส่วนของนักเรียนที่มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษาระหว่างกลุ่มนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตและกรอบความคิดแบบตายตัวเท่ากับ 12% ซึ่งความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นว่า กรอบความคิดแบบเติบโตเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความไม่ย่อท้อทางการศึกษาของนักเรียน นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตในแต่ละประเทศ/เขตเศรษฐกิจ พบว่า นักเรียนไทยยังมีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43% ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD (63%)

“จากข้อมูลที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนจากพ่อแม่ บรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน และกรอบความคิดแบบเติบโต เป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อความไม่ย่อท้อทางการศึกษา นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ยังบ่งชี้ว่า ความไม่ย่อท้อทางการศึกษายังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับทัศนคติและลักษณะนิสัย ได้แก่ ความรู้สึกสนุกกับการอ่าน การมีแรงจูงใจในการทำภาระงาน และการตั้งและบรรลุเป้าหมายของนักเรียนที่ด้อยเปรียบเหล่านี้ด้วย และเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของนักเรียนไทยกับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ใน PISA 2018 พบว่า นักเรียนไทยควรได้รับการส่งเสริมเพิ่มเติมใน 2 ด้าน ได้แก่ (1) การสนับสนุนจากพ่อแม่ เช่น พ่อแม่ควรสนับสนุนให้นักเรียนมีความพยายามในการศึกษาหรือให้การสนับสนุนเมื่อนักเรียนต้องรับมือกับความยากลำบากที่โรงเรียน รวมถึงการส่งเสริมความมั่นใจของนักเรียน และ (2) การเสริมสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับนักเรียน (สสวท., 14 กุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งการส่งเสริมดังกล่าวจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่ด้อยเปรียบของไทยมีโอกาสในการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ให้สูงขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับอนาคต เนื่องจากการมอบโอกาสที่ดีทางการศึกษาให้นักเรียนที่ด้อยเปรียบเหล่านี้จะเป็นการสร้างประชากรคุณภาพที่สามารถเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตและเป็นการลดโอกาสในการเกิดปัญหาจากการมีประชากรที่ไม่มีคุณภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย”

อ่านเพิ่มเติม

  • OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume II): Where All Students Can Succeed, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/b5fd1b8f-en.
  • OECD (2019), PISA 2018 Results (Volume III): What School Life Means for Students’ Lives, PISA, OECD Publishing, Paris, https://doi.org/10.1787/acd78851-en.
  • สสวท., (14 กุมภาพันธ์ 2563), ข้อค้นพบจาก PISA 2018 เกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset), FOCUS ประเด็นจาก PISA, ฉบับที่ 49 (มกราคม 2563), (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://pisathailand.ipst.ac.th/issue-2020-49/, วันที่สืบค้น 15 กุมภาพันธ์ 2563.

ดาวน์โหลด (PDF, 591KB)