ผลการประเมิน PISA 2018: นักเรียนไทยวัย 15 ปี รู้และทำอะไรได้บ้าง

โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) ริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

PISA ประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี เพื่อนำเสนอภาพที่ชัดเจนของระบบการศึกษาแก่ระดับนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามแนวโน้มของความรู้และทักษะของนักเรียนภายในประเทศหนึ่ง ๆ ได้ การประเมินของ PISA เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน หรือเรียกว่า “ความฉลาดรู้” (Literacy) โดย PISA จะวัดความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ไปพร้อมกัน แต่จะเน้นหนักด้านใดด้านหนึ่งในแต่ละรอบการประเมิน ซึ่งความฉลาดรู้ทั้งสามด้านนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเป็นสิ่งที่ประชากรจำเป็นต้องมีเพื่อการพัฒนาและการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับรอบการประเมิน PISA 2018 เน้นการประเมินด้านการอ่าน มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 600,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวนประมาณ 32 ล้านคนทั่วโลก จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ได้ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,633 คน จาก 290 โรงเรียนในทุกสังกัดการศึกษาเข้าร่วมการประเมินในรอบนี้ โดยนักเรียนได้ทำแบบทดสอบและแบบสอบถามทางคอมพิวเตอร์ผ่านแฟลชไดรฟ์ข้อสอบ นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านแบบสอบถามทางออนไลน์ด้วย

PISA รายงานผลการประเมินเป็นคะแนนเฉลี่ย โดยมีค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ในรูปของคะแนนมาตรฐานที่ 500 ในการประเมินรอบแรก (PISA 2000) และคะแนนเฉลี่ยได้เปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยในการประเมินรอบต่อ ๆ มาตามผลการประเมินของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งใน PISA 2018 ประเทศสมาชิก OECD[1] มีคะแนนเฉลี่ยด้านการอ่านเท่ากับ 487 คะแนน ด้านคณิตศาสตร์เท่ากับ 489 คะแนน และด้านวิทยาศาสตร์เท่ากับ 489 คะแนน นอกจาก PISA จะรายงานผลการประเมินเป็นคะแนนเฉลี่ยแล้ว ยังรายงานในรูปของระดับความสามารถเพื่อขยายให้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ระบบการศึกษามากขึ้น ซึ่งจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่านักเรียนมีความสามารถในแต่ละด้านมากน้อยต่างกันอย่างไร ซึ่งแบ่งระดับความสามารถของนักเรียนในแต่ละด้านเป็น 6 ระดับ โดยความสามารถที่ระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนเริ่มแสดงว่ารู้และสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ได้ในชีวิตจริง


[1] ปัจจุบันประเทศสมาชิก OECD มีจำนวน 37 ประเทศ

ผลการประเมิน PISA 2018 ในระดับนานาชาติ

นักเรียนจากจีนสี่มณฑล (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียง) และสิงคโปร์ มีคะแนนทั้งสามด้านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วม PISA 2018 มีผลการประเมินในด้านต่าง ๆ ดังแสดงตามรูปด้านล่าง


ผลการประเมิน PISA 2018 ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์


สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก (Top 5) ในด้านการอ่านซึ่งเป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้ ได้แก่ จีนสี่มณฑล สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง และเอสโตเนีย

ผลการประเมิน PISA 2018 ของไทย

นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้าน (การอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD เมื่อเปรียบเทียบผลการประเมิน PISA 2015 กับ PISA 2018 พบว่า ด้านการอ่านมีคะแนนลดลงประมาณ 16 คะแนน ส่วนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีคะแนนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 คะแนน และ 4 คะแนน ตามลำดับ ซึ่งในการทดสอบทางสถิติถือว่าด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับรอบการประเมินที่ผ่านมา


แนวโน้มผลการประเมินด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทย


อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยไม่เปลี่ยนแปลง แต่ผลการประเมินด้านการอ่านมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ความสามารถด้านการอ่านของไทยใน PISA 2018

ร้อยละของนักเรียนที่มีความสามารถด้านการอ่านในระดับต่าง ๆ

  • นักเรียนไทย 40% มีความสามารถด้านการอ่านตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ซึ่งมีสัดส่วนที่ลดลงจากการประเมิน PISA 2015 ที่ผ่านมา ที่มีนักเรียนประมาณ 50% แสดงความสามารถในระดับดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 77% ที่มีความสามารถตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป โดยที่ระดับ 2 นี้ นักเรียนสามารถหาใจความสำคัญของบทความที่ไม่ยาวมากได้ หาข้อมูลที่บอกไว้อย่างชัดเจนจนถึงข้อมูลที่มีความซับซ้อนเพียงเล็กน้อยได้ และสามารถสะท้อนถึงจุดประสงค์และรูปแบบของบทความได้ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน
  • นักเรียนไทย 0.2% มีความสามารถด้านการอ่านในระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6) ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 8.7% ที่มีความสามารถในระดับนี้ โดยที่ระดับสูงนี้ นักเรียนสามารถทำความเข้าใจกับบทความที่ยาวและจัดการกับแนวคิดที่เป็นนามธรรมหรือขัดกับความรู้สึกได้ สามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับความคิดเห็นได้จากสิ่งที่ชี้บอกโดยนัยอยู่ในบทความ

ความสามารถด้านคณิตศาสตร์ของไทยใน PISA 2018

ร้อยละของนักเรียนที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ในระดับต่าง ๆ

  • นักเรียนไทย 47% มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 76% ที่มีความสามารถในระดับดังกล่าว โดยที่ระดับ 2 นี้ นักเรียนสามารถตีความและรู้ได้โดยไม่ต้องบอกโดยตรงว่าในสถานการณ์หนึ่ง ๆ (ที่ไม่ซับซ้อน) จะสามารถใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์แทนได้อย่างไร (เช่น เปรียบเทียบระยะทางของเส้นทางสองเส้น หรือแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นสกุลเงินอื่น)
  • นักเรียนไทย 2.3% มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ในระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6) ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 11% ที่มีความสามารถในระดับนี้ โดยที่ระดับสูงนี้ นักเรียนสามารถสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของสถานการณ์ที่ซับซ้อนและสามารถเลือก เปรียบเทียบ และประเมินกลยุทธ์การแก้ปัญหาที่เหมาะสมได้

ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของไทยใน PISA 2018

ร้อยละของนักเรียนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในระดับต่าง ๆ

  • นักเรียนไทยมีแนวโน้มของผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์ดีกว่าด้านการอ่านและคณิตศาสตร์
  • นักเรียนไทยประมาณ 56% มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 78% ที่มีความสามารถในระดับดังกล่าว โดยที่ระดับ 2 นี้ นักเรียนสามารถรู้คำอธิบายที่ถูกต้องของปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่คุ้นเคยและไม่ซับซ้อนเกินไป สามารถใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อบอกว่าการลงข้อสรุปถูกต้องสอดคล้องกับข้อมูลที่มีหรือไม่
  • นักเรียนไทยประมาณ 1% มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในระดับสูง (ระดับ 5 และระดับ 6) ซึ่งค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 6.8% ที่มีความสามารถในระดับนี้ โดยที่ระดับสูงนี้ นักเรียนสามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้อย่างสร้างสรรค์และอิสระในสถานการณ์ที่หลากหลายรวมถึงสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย

คะแนนของนักเรียนไทยในกลุ่มโรงเรียนต่าง ๆ

ผลการวิเคราะห์ตามกลุ่มโรงเรียน[2] พบว่า นักเรียนจากกลุ่มโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนสูงที่สุด ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ/เศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรก (Top 5) รองลงมาคือ กลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า นักเรียนทุกกลุ่มโรงเรียนมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ PISA 2015


[2] การวิเคราะห์ตามกลุ่มโรงเรียนแบ่งตามประเภทและสังกัดโรงเรียน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย และกลุ่มโรงเรียนที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ข้อสังเกตสำคัญจากการประเมิน PISA ที่ผ่านมา

  1. ระบบการศึกษาไทยมีส่วนหนึ่งที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนานักเรียนให้มีความสามารถในระดับสูงได้ หากระดับนโยบายสามารถสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาได้สำเร็จ โดยขยายระบบการศึกษาที่มีคุณภาพไปให้ทั่วถึง ประเทศไทยก็จะสามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้
  2. นักเรียนไทยทั้งกลุ่มที่มีคะแนนสูงและกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมีจุดอ่อนอยู่ที่ด้านการอ่าน ซึ่งใน PISA 2018 เป็นการประเมินการอ่านเนื้อหาสาระที่มาจากทั้งแหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล อีกทั้งสื่อที่นักเรียนได้อ่านส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลซึ่งสะท้อนถึงธรรมชาติของการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ของโลกและสอดคล้องกับการใช้ข้อมูลในชีวิตจริงของผู้คนทั่วโลก ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยจึงควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนในยุคดิจิทัลต่อไป
  3. ความฉลาดรู้ด้านการอ่านมีความสัมพันธ์กับความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่แนวโน้มคะแนนการอ่านของไทยยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วน
  4. PISA พบว่า นักเรียนที่แม้จะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบแต่ก็สามารถทำคะแนนได้ดี ซึ่งเรียกนักเรียนกลุ่มนี้ว่า มีความไม่ย่อท้อทางการศึกษา (academic resilience) โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความไม่ย่อท้อทางการศึกษา คือ การสนับสนุนจากพ่อแม่ บรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน และกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) จากผลการประเมิน PISA 2018 ชี้ว่า นักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD อยู่ที่ 63% แสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยจำนวนมากยังมีความเชื่อว่าสติปัญญาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต หากมีการส่งเสริมเรื่องการสร้างกรอบความคิดแบบเติบโตให้กับนักเรียนก็จะช่วยพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนไทยได้มากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม


ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)