- ผลการประเมินของ PISA 2018 ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีกำหนดเผยแพร่ในวันที่ 3 ธันวาคม 2562
- นักเรียนมากกว่า 600,000 คน จาก 79 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้เข้าร่วมการประเมิน PISA 2018 ทั้งนี้ ประเทศที่เข้าร่วมการประเมินเป็นครั้งแรกใน PISA 2018 ได้แก่ เบลารุส บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บรูไนดารุสซาลาม โมร็อกโก ยูเครน ฟิลิปปินส์ ซาอุดีอาระเบีย และมณฑลเจ้อเจียง(จีน)
- PISA 2018 เน้นประเมินความสามารถในการอ่านเป็นหลัก โดยมีการพัฒนาปรับปรุงกรอบโครงสร้างการประเมินด้านการอ่านใหม่ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการอ่านมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโดดเด่นของการอ่านสื่อในสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัลได้สะท้อนออกมาให้เห็นจากการอ่านสื่อที่มาจากหลายแหล่ง
PISA หมุนเวียนการประเมินวิชาหลักทุก ๆ สามปี และใน PISA 2018 เป็นรอบที่มีการประเมินด้านการอ่านเป็นการประเมินหลักเช่นเดียวกับใน PISA 2000 และ PISA 2009 โดย PISA ได้ปรับกรอบโครงสร้างการประเมินให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันอยู่เสมอ PISA 2018 จึงมีการพัฒนากรอบโครงสร้างการประเมินด้านการอ่านใหม่ซึ่งมีนิยามความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading literacy) คือ ความสามารถที่จะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ได้อ่าน สามารถนำไปใช้ ประเมิน สะท้อนออกมาเป็นความคิดเห็นของตนเอง และมีความรักและผูกพันกับการอ่าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาความรู้และศักยภาพ และการมีส่วนร่วมในสังคม เพื่อให้ครอบคลุมความสามารถด้านการอ่านในแง่มุมต่าง ๆ PISA จึงประเมินกระบวนการอ่าน โดยเน้นที่ความสามารถในสามกระบวนการ ดังนี้
ตำแหน่งข้อสนเทศในเนื้อเรื่อง (Locate information) | มีความเข้าใจในเนื้อเรื่อง (Understand) | ประเมินและสะท้อนความคิดเห็นต่อเนื้อเรื่อง (Evaluate and reflect) |
---|---|---|
|
|
|
การอ่านของผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่ PISA 2009 เป็นต้นมา เพราะในปัจจุบันการอ่านไม่ได้มีเฉพาะในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์แต่ยังมีการอ่านในรูปแบบของสื่อดิจิทัล ซึ่งทำให้สิ่งที่ได้อ่านในแต่ละวันมีปริมาณมากมายมหาศาลและต่างมีความสำคัญ ดังนั้น นักเรียนต้องแยกแยะได้ว่าสิ่งใดเป็นข้อเท็จจริงและสิ่งใดเป็นความคิดเห็น และต้องเข้าไปอ่านเนื้อความจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพื่อจะได้สร้างความเข้าใจสำหรับตนเองได้
PISA 2018 จะประเมินการอ่านทั้งจากการใช้แหล่งข้อมูลเดียวและหลายแหล่งข้อมูล ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่มีในข้อสอบของ PISA เช่น แผ่นพับ ป้ายประกาศ การโพสต์ข้อความหลาย ๆ โพสต์บนกระดานสนทนา การเขียนบล็อกส่วนตัว การโต้ตอบทางอีเมล การสนทนาทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ บทความออนไลน์ (บทความทางวิชาการ บทความจากหนังสือพิมพ์ เอกสารทางประวัติศาสตร์) เป็นต้น ซึ่งการสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถใช้สื่อดิจิทัลได้หลายแบบและสามารถกดลิงก์ หรือกดแท็บหรือเมนูต่าง ๆ เพื่อดูข้อมูลบนเว็บไซต์ที่อยู่ในสถานการณ์ของข้อสอบที่สร้างขึ้น
ทาง OECD ได้เผยแพร่ข้อสอบการอ่านเรื่อง “ราปานุย” ที่ใช้ในการประเมิน PISA 2018 ซึ่งข้อสอบเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการใช้เนื้อเรื่องจากหลายแหล่งข้อมูลในการตอบคำถาม ซึ่งสถานการณ์ของข้อสอบเรื่อง “ราปานุย” เป็นการสมมติเหตุการณ์ว่า นักเรียนจะเข้าฟังบรรยายของอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเกี่ยวกับงานภาคสนามบนเกาะราปานุย และครูได้ให้นักเรียนไปค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ของเกาะราปานุยก่อนจะเข้าฟังการบรรยายดังกล่าว โดยข้อสอบเรื่องนี้มีแหล่งข้อมูล 3 แหล่ง ให้นักเรียนอ่านเพื่อตอบคำถาม ได้แก่ แหล่งข้อมูลที่หนึ่งเป็น บล็อกของอาจารย์ ซึ่งอาจารย์ท่านนี้ได้เขียนในขณะที่เธออาศัยอยู่ที่ราปานุย แหล่งข้อมูลที่สองเป็น บทวิจารณ์ของหนังสือ “ล่มสลาย” ซึ่งในบล็อกของอาจารย์ได้โพสต์ลิงก์ของบทวิจารณ์นี้ไว้ และแหล่งข้อมูลที่สามเป็น บทความ “หนูจี๊ดทำลายต้นไม้ของราปานุยใช่หรือไม่” ซึ่งมาจากผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในบล็อกของอาจารย์ได้แนะนำบทความโดยโพสต์ลิงก์ดังกล่าวไว้
ข้อสอบเรื่อง “ราปานุย” มีคำถามทั้งหมด 7 ข้อ ในคำถามที่ 1 ถึง 5 นักเรียนจะใช้แหล่งข้อมูลเพียงหนึ่งแหล่งในการตอบคำถามแต่ละข้อ แต่สำหรับคำถามที่ 6 และ 7 จะต้องใช้เนื้อเรื่องจากทั้งสามแหล่งข้อมูลในการตอบคำถาม
ดังตัวอย่างในคำถามที่ 6 ซึ่งต้องการให้นักเรียนระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้หายไปและผลกระทบที่เกิดขึ้น ในการตอบคำถามนี้นักเรียนจะต้องแสดงความเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านโดยบูรณาการสาระจากบล็อก บทวิจารณ์หนังสือ และบทความข่าววิทยาศาสตร์เพื่อบอกถึงสาเหตุที่แตกต่างกัน และระบุผลกระทบที่เกิดขึ้นเหมือนกันตามที่แหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งได้นำเสนอไว้โดยไม่ต้องสนใจข้อความอื่น ๆ ที่อาจดึงความสนใจของนักเรียนไปยังประเด็นอื่น ๆ
รูป 1 ข้อสอบการอ่าน เรื่อง “ราปานุย” ซึ่งแสดงคำถามที่ 6 และ 7 พร้อมแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตอบคำถาม
ที่มา: https://ipst-pisatest.ipst.ac.th/
สำหรับคำถามที่ 7 นักเรียนต้องเปรียบเทียบข้อมูลจากทั้งสามแหล่งแล้วแสดงความคิดเห็นว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่บนราปานุยหายไป โดยต้องระบุข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเพื่อสนับสนุนคำตอบของนักเรียน ซึ่งข้อสอบข้อนี้จะสะท้อนความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือและความสมเหตุสมผล และตัดสินความเหมาะสมที่เป็นไปได้ของคำกล่าวอ้าง
การอ่านจากหลายแหล่งข้อมูลไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวในกรอบโครงสร้างการประเมินด้านการอ่านใน PISA 2018 แต่ยังมีการประเมินความคล่องของการอ่าน (Reading fluency) ซึ่งมีนิยามว่า ความสามารถที่จะอ่านประโยคหนึ่ง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและมีประสิทธิภาพ ในการประเมินจะให้นักเรียนตัดสินว่า ประโยคข้อความที่นักเรียนได้อ่านในแต่ละประโยคนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่
ทั้งนี้ ใน PISA 2018 ข้อสอบการอ่านเป็นการสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ (Adaptive testing) ซึ่งเป็นการสอบที่ให้นักเรียนทำข้อสอบที่มีความยากเหมาะสมกับระดับความสามารถของนักเรียนโดยพิจารณาจากการตอบข้อสอบข้อแรกหรือข้อที่ผ่านมาของนักเรียน การสอบด้วยวิธีนี้ยังช่วยให้สามารถวัดระดับความสามารถของนักเรียนได้แม่นยำยิ่งขึ้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน PISA 2018 Assessment and Analytical Framework (OECD, 2019)
ผลการประเมินที่จะประกาศในวันที่ 3 ธันวาคม 2562 นี้ จะให้คำตอบต่อคำถามที่นักการศึกษาให้ความสนใจมานับทศวรรษแล้วคือคำถามที่ว่า
- ประเทศใดสามารถเพิ่มสัดส่วนจำนวนนักเรียนกลุ่มที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับสูงของ PISA และประเทศใดสามารถลดสัดส่วนจำนวนนักเรียนกลุ่มที่มีผลการประเมินในระดับต่ำลงได้
- ประเทศ/เขตเศรษฐกิจใดสามารถทำให้นักเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสในการที่จะลบล้างความเสียเปรียบและมีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มสูงของประเทศ/เขตเศรษฐกิจได้
- นักเรียนมีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในและนอกโรงเรียนหรือไม่ อย่างไร
อ่านเพิ่มเติม
- OECD (2019), PISA 2018 Assessment and Analytical Framework, PISA, OECD Publishing, Paris. https://doi.org/10.1787/b25efab8-en.
- OECD (2019), How does PISA define and measure reading literacy?, PISA in Focus, No. 101, OECD Publishing, Paris, (Online), https://doi.org/10.1787/efc4d0fe-en, Retrieved October 22, 2019.
ดาวน์โหลด (PDF, 2MB)