เทคโนโลยีการสื่อสารกับการเรียนรู้

ความเห็นของนักการศึกษานานาชาติเชื่อว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งหลายเป็นตัวการทำให้ผลการเรียนวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ลดต่ำลงในทั่วโลก (Bolton R., 2019)

จากการประเมิน PISA นับตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (PISA 2000) เป็นต้นมา ผลการประเมินวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั่วโลกลดต่ำลงรวมทั้งในประเทศสมาชิก OECD ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) เป็นต้นมา เมื่อโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนได้เข้ามาครองตลาดทั่วโลก ผลการประเมิน PISA มีแนวโน้มลดต่ำลงซึ่งพบในประเทศสมาชิก OECD แม้แต่ประเทศฟินแลนด์ที่มีคะแนนสูงที่สุดในการประเมินครั้งแรกของ PISA และที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ประเทศออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ในกลุ่มประเทศคะแนนสูง Dr.Pasi Sahlberg ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการศึกษาแห่งสถาบัน Gonski Institute for Education ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า สมาร์ทโฟน คือ ปัจจัยเดียวที่สำคัญที่สุดในการอธิบายการเรียนรู้ที่ลดต่ำลงของนักเรียน ทั้งนี้ เพราะจากการวิจัยต่าง ๆ พบแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลกไม่ว่ากลยุทธ์ทางการศึกษาของประเทศต่าง ๆ จะแตกต่างกันอย่างไร คะแนนก็ลดต่ำลงเหมือน ๆ กัน โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนจึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ (Bolton R., 2019)

เหตุผลที่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนทำให้การเรียนรู้ตกต่ำลงน่าจะมาจากเหตุผลสองประการ คือ ผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของสื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ที่ส่งผลต่อจิตใจในการเพิ่มระดับความวิตกกังวลและความเครียด รวมถึงการจดจ่ออยู่กับสื่อต่าง ๆ จนขาดสมาธิในการเรียนรู้ และอีกประการหนึ่ง คือ การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจของวัยรุ่น เนื่องจากพบว่า เด็กวัยรุ่นปัจจุบันมีเวลานอนน้อยกว่าเวลาในการที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน (Bolton R., 2019)

สมาร์ทโฟนกับการเรียนรู้

หลายคนยังโต้แย้งว่า โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนนั้นมีประโยชน์ แต่การใช้มากเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาการนอนไม่เพียงพอ โดยกุมารแพทย์ชาวออสเตรเลียแนะนำว่า วัยรุ่นควรจะต้องนอน 9-10 ชั่วโมงต่อวัน แต่วัยรุ่นของออสเตรเลียมีเวลานอนเฉลี่ยเพียง 7.30 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณาสุขแนะนำว่า วัยรุ่นควรนอน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน แต่จริง ๆ แล้วทุกวันนี้เกือบไม่มีวัยรุ่นคนใดนอนได้ตามคำแนะนำดังกล่าว ซึ่งผลเสียของการนอนไม่เพียงพอที่เห็นได้อย่างชัดเจนตามที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวไว้คือ “ร่างกายเจริญเติบโตช้า ไม่มีสมาธิในการเรียน ง่วงเหงาหาวนอน เรียนไม่รู้เรื่อง ประสิทธิภาพในการเรียนและการจดจำลดลง” (Bolton R., 2019; ธีรพงษ์ คำพุฒ และคณะ, 2560; สสส., 2552)

ด้วยเหตุนี้นักวิจัยในออสเตรเลียจึงกล่าวว่า ปัจจัยที่อธิบายผลการเรียนที่แย่ลง คือ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้กันมากที่สุด คือ โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน โดยพบว่า การมีโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนใช้ส่วนตัวของเด็กและวัยรุ่นนั้นมีสัดส่วนสูงมาก ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีสูงถึง 75% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด และในสหราชอาณาจักรมีสูงถึง 90% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด

ถ้าพิจารณาจากการประเมิน PISA ในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาที่โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนมีการใช้อย่างแพร่หลายมากจะเห็นแนวโน้มผลการประเมินวิทยาศาสตร์ของนักเรียนอายุ 15 ปี ดังแสดงในรูป 1 ผลการประเมินวิทยาศาสตร์ของประเทศออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีแนวโน้มลดต่ำลง ซึ่งแนวโน้มการลดต่ำลงนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านของประเทศออสเตรเลียและฟินแลนด์ด้วย


รูป 1 แนวโน้มผลการประเมินวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร ใน PISA 2009 และ PISA 2015


สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ (2561) รายงานว่า คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือถึง 89.6% โดยเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟน 69.6% และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ได้แก่ โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนที่นิยมใช้เพื่อเข้าอินเทอร์เน็ตสูงสุดถึง 94.7% ดังนั้น ผลการประเมินของนักเรียนไทยที่แสดงออกในการประเมิน PISA ก็ไม่ได้แตกต่างจากแนวโน้มนานาชาติ เพราะมีการลดต่ำลงเช่นเดียวกันทั้งสามวิชา ดังรูป 2 และที่น่าวิตกกังวล คือ การอ่านของนักเรียนไทยที่ลดต่ำลงมากที่สุด ทั้งนี้ เพราะการอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในทุกวิชาและและส่งผลต่อการเรียนรู้ทุกด้านของชีวิต


รูป 2 แนวโน้มผลการประเมินสามวิชาหลักของนักเรียนไทยใน PISA 2009 และ PISA 2015


ในประเทศอังกฤษได้ทำการวิจัยเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือใน 4 เมืองหลัก ได้แก่ เบอร์มิงแฮม ลอนดอน เลสเตอร์ และแมนเชสเตอร์ โดยตั้งสมมติฐานว่า การอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ในโรงเรียนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ และเก็บข้อมูลทั้งในด้านนโยบายของโรงเรียนในการอนุญาตให้ใช้โทรศัพท์และการสอบวัดผลแห่งชาติ พบว่า การห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนทำให้นักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น และยังพบด้วยว่า นักเรียนที่คะแนนสูงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำมาก่อน โดยคะแนนของกลุ่มนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าของนักเรียนกลุ่มที่มีผลการเรียนปานกลาง จึงสรุปได้ว่า การห้ามนักเรียนไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือในอังกฤษช่วยเพิ่มคุณภาพการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น โดยนักเรียนกลุ่มที่มีผลการเรียนต่ำและนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะมีผลการเรียนต่ำจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการห้ามไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ เทียบเท่าการสอนเพิ่มเติม 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเพิ่มวันเรียน 5 วันใน 1 ปีการศึกษา

The London School of Economics (Beland L.P. and Murphy R., 2015) ได้รายงานถึงความเชื่อมโยงระหว่างผลการเรียนกับการใช้โทรศัพท์มือถือว่า การห้ามนักเรียนไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือส่งผลให้คะแนนสูงขึ้นเฉลี่ย 6.41% ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสำหรับนักเรียนกลุ่มที่มีผลการเรียนต่ำมีคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 14.23% ของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม รายงานกล่าวว่า การห้ามนักเรียนไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือไม่มีประโยชน์สำหรับนักเรียนกลุ่มที่มีผลการเรียนสูง และยอมรับว่า สำหรับนักเรียนกลุ่มนี้โทรศัพท์มือถือน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการเรียนรู้

ในออสเตรเลียมีนักเรียนถึง 89% ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนในห้องเรียน ซึ่งรัฐบาลของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียได้ออกกฎห้ามไม่ให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนประถมศึกษาทุกแห่งเต็มรูปแบบ (Henebery B., 2018) สาเหตุของการข่มขู่รังแกกันของนักเรียนเนื่องมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือทำให้โรงเรียนในออสเตรเลียเริ่มห้ามไม่ให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายแห่ง (Ahillon P., 2018) ส่วนในประเทศอื่น ๆ เช่น รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสได้ประกาศกฎบังคับ “ห้าม” นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2561 (Busby E., 2018)

สำหรับประเทศไทยได้มีการศึกษาพฤติกรรมและผลกระทบของการใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนกันมากพอสมควร แต่ส่วนมากเป็นโครงการย่อย ๆ เฉพาะกลุ่ม เฉพาะโรงเรียน แม้กระนั้นก็ตามเกือบทั้งหมดก็ไม่ชี้ชัดถึงผลกระทบทางบวกต่อการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการได้เคยมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา เมื่อ 13 กรกฎาคม 2560 นายกรัฐมนตรีได้มีความเป็นห่วงนักเรียน นักศึกษา ในเรื่องการใช้มือถือถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงแทนการจดบันทึกทำให้ลดสมองในการช่วยคิดช่วยจำ ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับ เข้มงวดเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน โดยอนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนที่มีความจำเป็นในการติดต่อผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว (สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, 2560 อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

ในปัจจุบันที่โลกใบนี้มีการติดต่อถึงกันหมด ทุกอย่างจึงถูกสร้างและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน เทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในเรื่องความสะดวกสบายแก่มนุษย์ให้มากที่สุด ซึ่งด้านการเรียนรู้ก็ได้รับความสะดวกสบายไม่ต่างกัน แต่ทุกอย่างกลับกลายเป็นดาบสองคมที่ให้ทั้งประโยชน์และโทษได้ ประเด็นการให้นักเรียนใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนหรือไม่นั้นมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวอาจถูกใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการเรียน แต่ก็จะเกิดประโยชน์ได้ตราบเท่าที่ผู้ใช้รู้ดีว่าจะใช้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยก็สนับสนุนว่า กลุ่มนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์สูง การใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนสามารถให้ประโยชน์ในการเรียนรู้ได้ แต่ตรงกันข้ามกับกลุ่มนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำและผลสัมฤทธิ์ปานกลาง การใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนกลับเป็นผลเสียต่อการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม การใช้หรือไม่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนนั้นขึ้นกับครู โดยครูจะต้องวางเป้าหมายและรูปแบบของการใช้ให้ชัดเจนว่าจะใช้ทำอะไร อย่างไร การใช้โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ทโฟนนั้นจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

อ่านเพิ่มเติม

  • Ahillon, P., (2018), Australia’s top private schools ban mobile phones-to reduce stress in the classroom, (Online), Available: https://www.dailymail.co.uk/news/article-6423621/Why-Australias-schools-banning-mobile-phones-classroom.html, Retrieved April 11, 2019.
  • Beland, L.P. and Murphy, R., (2015), CEP Discussion Paper No 1350 May 2015 Ill Communication: Technology, Distraction & Student Performance, (Online), Available: https://cep.lse.ac.uk/pubs/download/dp1350.pdf, Retrieved April 11, 2019.
  • Bolton, R. (March 29, 2019), Smartphones are making kids dumber, (Online), Available: https://www.afr.com/news/policy/education/smartphones-are-making-kids-dumber-20190328-p518ig, Retrieved April 11, 2019.
  • Busby, E., (September 4, 2018), French school mobile phone ban comes into force, (Online), Available: https://www.independent.co.uk/news/education/education-news/france-mobile-phone-ban-school-french-government-students-a8521961.html, Retrieved April 11, 2019.
  • Henebery, B. (December 14, 2018), Government bans mobile phones from schools, (Online), Available: https://www.theeducatoronline.com/k12/breaking-news/government-bans-mobile-phones-from-schools/258642, Retrieved April 11, 2019.
  • ธีรพงษ์ คำพุฒ; และคณะ, (พฤศจิกายน, 2560), หนังสือข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย การลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับสำหรับวัยเรียนและวัยรุ่น (6-17 ปี), (ออนไลน์), แหล่งที่มา: https://pbs.ac.th/pbsweb/book/pdf/15162543486-17.pdf, วันที่สืบค้น 11 เมษายน 2562.
  • สสส. (มิถุนายน 22, 2552), ห่วงวัยรุ่นนอนดึก-ติดเกม-จ้อเพื่อน ทำสมองช้า, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.thaihealth.or.th/Content/5540-ห่วงวัยรุ่นนอนดึก-ติดเกม-จ้อเพื่อนทำสมองช้า.html, วันที่สืบค้น 11 เมษายน 2562.
  • สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, (กรกฎาคม 17, 2560), ศธ.สั่งคุมเข้มใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน, (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.ops.moe.go.th/home/index.php?option=com_content&view=article&id=6449:2017-07-17-07-58-03&catid=53:2014-10-07-06-57-22, วันที่สืบค้น 11เมษายน 2562.
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2561), สรุปผลที่สําคัญ สํารวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2561 (ไตรมาส 1), (ออนไลน์), แหล่งที่มา: http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านICT/เทคโนโลยีในครัวเรือน/2561/ict61-สรุปผลที่สำคัญ_Q1.pdf, วันที่สืบค้น 11 เมษายน 2562.

 ดาวน์โหลด (PDF, 965KB)