ความสัมพันธ์ในโรงเรียนกับผลการประเมินการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ

คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนหนึ่ง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะครู นักเรียน หลักสูตร หรือตำราเรียนเท่านั้น หากยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของนักเรียนและมีผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเอกสารฉบับนี้จะอ้างถึงผลการประเมินการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ (Collaborative Problem Solving) ของนักเรียน ซึ่งต่อไปนี้จะใช้คำย่อว่า CPS (OECD, 2017b) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คนเราจะทำงานร่วมกันได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน ซึ่งข้อมูลจาก PISA 2015 ชี้บอกว่า ไม่ใช่เฉพาะความสัมพันธ์ระดับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ของทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงเรียนด้วยทั้งในด้านความสัมพันธ์เชิงบวกและเชิงลบต่างส่งผลต่อการประเมินการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของนักเรียน

PISA 2015 ตั้งสมมติฐานว่า โรงเรียนที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่รู้จักกันดีและมีความเคารพซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน สามารถช่วยนักเรียนให้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและสร้างเจตคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นมีผลต่อประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของนักเรียน ข้อมูลที่พบจะยืนยันสมมติฐานนี้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งในฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู

สาระสำคัญ

  • การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทั้งหมด ตัวทำนายผลการประเมิน CPS ที่ดีที่สุด คือ ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยตรง รวมทั้งความสัมพันธ์ที่นักเรียนมีกับครู พ่อแม่ผู้ปกครอง และเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน
  • การข่มขู่รังแกกันในโรงเรียนส่งผลเชิงลบอย่างเป็นรูปธรรม โดยค่าเฉลี่ย OECD พบว่า นักเรียนที่ถูกเพื่อนข่มขู่รังแกมีคะแนน CPS ต่ำกว่านักเรียนที่ไม่เคยถูกเพื่อนข่มขู่รังแกอยู่ 18 คะแนน และนักเรียนมีคะแนนสูงขึ้น 11 คะแนน เมื่อมีจำนวนนักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยถูกเพื่อนข่มขู่รังแกเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10 %
  • ครูใหญ่ไทยรายงานว่า มีนักเรียนในโรงเรียนไม่ถึงครึ่ง (40%) ไม่มีปัญหาจากการถูกเพื่อนข่มขู่รังแกเลย แสดงว่า นักเรียนในโรงเรียนยังมีปัญหาการถูกเพื่อนข่มขู่รังแก
  • ผลจากพฤติกรรมของครู พบว่า นักเรียนมีคะแนน CPS สูงขึ้น เมื่อครูปฏิบัติต่อนักเรียนด้วยความยุติธรรม แม้ว่าจะอธิบายด้วยผลการประเมินสามวิชาหลักแล้วก็ตาม

 
เมื่อนักเรียน ครู และครูใหญ่ ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองรู้จักกัน มีความไว้วางใจกัน ทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูล สาระ ความคิด และเป้าหมายร่วมกันจะทำให้นักเรียนได้ประโยชน์ โดยเฉพาะนักเรียนที่ด้อยเปรียบทางสังคมและจะทำให้มีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น ซึ่งมีการศึกษาวิจัยหลายเรื่องพบว่า นักเรียนที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นในเป้าหมายเดียวกันสามารถพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้ทำงานร่วมกับนักเรียนที่มีความสามารถสูงกว่า

PISA ตรวจสอบความสัมพันธ์ในโรงเรียนของทุกฝ่ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในโรงเรียน เช่น ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองกับครู ครูกับครูใหญ่ และโรงเรียนกับชุมชน) คำถามส่วนใหญ่ถามเกี่ยวกับลักษณะและคุณภาพของความสัมพันธ์ โดยใช้แบบสอบถามที่มีคำถามเกี่ยวกับมิตรภาพในโรงเรียน ความรู้สึกโดดเดี่ยว และการข่มขู่รังแกกัน ซึ่งการสำรวจนี้ครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องในโรงเรียน

ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน

PISA สอบถามนักเรียนถึงความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกข่มขู่รังแก โดยข้อคำถามเกี่ยวกับมิตรภาพ ความรู้สึกโดดเดี่ยว และการข่มขู่รังแกกันในโรงเรียน และสอบถามครูใหญ่เกี่ยวกับบรรยากาศในโรงเรียนว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

ผลการสำรวจชี้ว่า ส่วนใหญ่นักเรียนมีความรู้สึกเชิงบวกต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนนักเรียน โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียน 4 ใน 5 คน (ประมาณ 80%) ที่เห็นด้วยว่า ตนเป็นที่ชอบพอของเพื่อน ๆ หาเพื่อนได้ง่ายเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ที่โรงเรียน ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกข่มขู่รังแก และไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนตีหรือรุมทำร้าย แต่มีนักเรียนประมาณ 70% ที่รายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนล้อเลียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีนักเรียนอีกมากไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในจีนสี่มณฑล ลิทัวเนีย และไทย มีนักเรียนประมาณ 60% เท่านั้นที่คิดว่าเพื่อน ๆ ชอบพอตนเอง และในฮ่องกง(จีน) มาเก๊า(จีน) นิวซีแลนด์ ลัตเวีย และสิงคโปร์ มีนักเรียนมากกว่า 40% รายงานว่า เคยถูกเพื่อนล้อเลียนอย่างน้อยสองถึงสามครั้งต่อปี

ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับผลการประเมิน CPS พบว่า นักเรียนที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างนักเรียนกับนักเรียนมีคะแนน CPS สูง ค่าเฉลี่ย OECD ของนักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกข่มขู่รังแกมีคะแนน CPS สูงกว่านักเรียนที่รายงานว่า เคยถูกข่มขู่รังแกอยู่ 18 คะแนน หลังจากอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนแล้ว (รูป 1) เช่นเดียวกับนักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนตีหรือรุมทำร้ายมีคะแนน CPS สูงกว่าอยู่ 14 คะแนน ซึ่งความสัมพันธ์รูปแบบนี้พบในเกือบทุกระบบโรงเรียน


รูป 1 นักเรียนที่ถูกเพื่อนข่มขู่รังแกกับผลการประเมิน CPS
การเปลี่ยนแปลงของคะแนน CPS หลังจากอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียน
นักเรียนที่รายงานว่า “ไม่เคยหรือเกือบไม่เคย” ถูกเพื่อนนักเรียนข่มขู่รังแก

1 หมายถึง การเปลี่ยนแปลงของคะแนน CPS ต่อการเพิ่มขึ้น 10% ของจำนวนเพื่อนที่รายงานดังข้างต้น
แถบที่มีสีเข้ม หมายถึง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ที่มา: OECD, 2017b


สำหรับในระดับโรงเรียน ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนดีมากขึ้นเท่าใดยิ่งทำให้มีผลการประเมิน CPS ที่ดีขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับในระดับนักเรียน แม้จะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนในคำถามที่นักเรียนต้องตอบเชิงลบก็ตาม (เช่น ฉันถูกเพื่อนข่มขู่รังแก ตีหรือรุมทำร้าย) ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า นักเรียนมีคะแนน CPS สูงขึ้น 11 คะแนน เมื่อมีนักเรียนรายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนตีหรือรุมทำร้ายเพิ่มขึ้นทุก ๆ 10% (รูป 1) หลังจากอธิบายด้วยผลการประเมินสามวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์) แล้ว นั่นคือ ในกลุ่มนักเรียนที่มีผลการประเมินสามวิชาหลักนี้เท่ากัน นักเรียนจะมีคะแนน CPS สูงขึ้นเมื่อนักเรียนหรือเพื่อนนักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนข่มขู่รังแก ตีหรือรุมทำร้ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น ในสาธารณรัฐเช็กและสเปน นักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนข่มขู่รังแกมีคะแนน CPS สูงกว่าที่คาดไว้ 14 คะแนน เมื่อดูจากคะแนนวิชาหลัก และยังมีคะแนนสูงขึ้นอีกเมื่อเพื่อน ๆ นักเรียนเห็นด้วยว่า ตนเป็นที่ชอบพอของเพื่อน ๆ และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ที่โรงเรียน หรือไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกเพื่อนล้อเลียน

เมื่อนักเรียนรายงานถึงความสัมพันธ์เชิงบวกมากขึ้นระหว่างนักเรียนกับนักเรียน การให้คุณค่ากับความสัมพันธ์และการทำงานเป็นกลุ่มก็สูงขึ้นด้วย ความสัมพันธ์เชิงบวกพบในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เช่น นักเรียนญี่ปุ่นที่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ตนเป็นที่ชอบพอของเพื่อน ๆ มีค่าดัชนีการให้คุณค่ากับความสัมพันธ์สูงกว่านักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อนี้อยู่ 0.43 หน่วย นักเรียนที่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า ตนหาเพื่อนได้ง่ายเมื่ออยู่ที่โรงเรียนมีค่าดัชนีการให้คุณค่ากับการทำงานเป็นกลุ่มสูงกว่านักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อนี้อยู่ 0.55 หน่วย

สำหรับบรรยากาศความสัมพันธ์ในโรงเรียนของนักเรียนไทยพบว่า มีหลายอย่างที่ส่งผลทางลบและควรได้รับการแก้ไข เป็นต้นว่า นักเรียนเกือบ 20% รู้สึกว่าไม่มีเพื่อนและโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ที่โรงเรียน 38% เคยถูกเพื่อนล้อเลียน 19% ถูกข่มขู่รังแก และ 15% ถูกตีหรือรุมทำร้าย ส่วนครูใหญ่รายงานว่า มีนักเรียนในโรงเรียนเพียง 40% ที่ไม่เคยถูกข่มขู่รังแก (ค่าเฉลี่ย OECD เป็น 24.7%) นั่นแสดงว่า ครูใหญ่เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่ (60%) ถูกข่มขู่รังแกในโรงเรียน

ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน

ในแต่ละวันนักเรียนใช้เวลาอยู่กับครูค่อนข้างมาก ความสัมพันธ์เชิงบวกและสร้างสรรค์ระหว่างครูกับนักเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนและสวัสดิภาพของนักเรียน (OECD, 2017a) เมื่อครูเอาใจใส่และให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักเรียนก็จะรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจมากขึ้น รู้สึกผูกพันกับโรงเรียน และสามารถเรียนรู้วิชาการได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมีความไม่ไว้ใจกัน นักเรียนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และไม่เคารพกัน นั่นเป็นต้นเหตุของพฤติกรรมความไม่ผูกพันกับโรงเรียน ไม่ร่วมกิจกรรมโรงเรียน และการเรียนล้มเหลว เนื่องจากครูสามารถชดเชยประสบการณ์เลวร้ายที่นักเรียนเคยพบมาในชีวิต ความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยนักเรียนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงได้

PISA 2015 ได้สอบถามความคิดเห็นของนักเรียนว่า ครูวิทยาศาสตร์ให้การสนับสนุนเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนที่มีความยากลำบากในการเรียน หรือครูสอนจนกว่านักเรียนจะเข้าใจหรือไม่ (การสนับสนุนของครู) ครูตำหนิฉันอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่น หรือครูพูดบางสิ่งที่ดูถูกฉันต่อหน้าคนอื่นหรือไม่ (ความไม่เป็นธรรมของครู) และนักเรียนไม่ฟังสิ่งที่ครูสอน หรือครูต้องคอยเป็นเวลานานกว่านักเรียนในชั้นเรียนจะเงียบหรือไม่ (บรรยากาศทางระเบียบวินัย) นอกจากนี้ยังสอบถามครูใหญ่ด้วยว่า การเรียนในโรงเรียนมีปัญหาอุปสรรคจากการที่นักเรียนขาดความเคารพครูหรือครูเข้มงวดกับนักเรียนมากเกินไปหรือไม่

โดยทั่วไปนักเรียนจากประเทศในเอเชียตะวันออกคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีส่วนมากรายงานถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับครู เป็นต้นว่า นักเรียนในญี่ปุ่น 83% รายงานว่า ครูไม่เคยหรือเกือบไม่เคยตำหนิตัวนักเรียนอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่น (ค่าเฉลี่ย OECD เป็น 69%) และนักเรียนในญี่ปุ่น 64% รายงานว่า ครูไม่เคยหรือเกือบไม่เคยต้องคอยเป็นเวลานานกว่านักเรียนในชั้นเรียนจะเงียบ (ค่าเฉลี่ย OECD เป็น 27%) แสดงถึงวินัยและความสัมพันธ์ที่ดีในโรงเรียนญี่ปุ่น ซึ่งมีภาพที่ดีกว่าโรงเรียนในยุโรปที่มีบรรยากาศทางระเบียบวินัยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD

สำหรับโรงเรียนไทยจากการรายงานของนักเรียนพบว่า มีนักเรียน 32% เคยถูกครูตำหนิอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่น มีนักเรียน 30% เคยถูกครูพูดบางสิ่งที่ดูถูกต่อหน้าคนอื่น และมีนักเรียน 68% รายงานว่า ครูต้องคอยเป็นเวลานานกว่านักเรียนในชั้นเรียนจะเงียบ ส่วนที่รายงานว่านักเรียนไม่ฟังสิ่งที่ครูสอนมีถึง 71% (ค่าเฉลี่ย OECD เป็น 82%) นอกจากนี้ การรายงานของครูใหญ่ถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนของนักเรียนพบว่า มีนักเรียน 36% ไม่มีปัญหาจากการขาดความเคารพครูซึ่งแสดงว่านักเรียนอีก 64% มีปัญหานี้ และมีนักเรียน 26% ไม่มีปัญหาจากการที่ครูเข้มงวดกับนักเรียนมากเกินไปซึ่งแสดงว่านักเรียนส่วนใหญ่ 74% เรียนกับครูที่เข้มงวดเกินไปจนเป็นปัญหาอุปสรรคในการเรียนของนักเรียน

ไม่ว่าความเห็นของนักเรียนหรือของครูใหญ่จะเป็นเช่นไร แต่พบว่าตัวทำนายที่ดีที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ ได้แก่ ความเห็นของนักเรียนต่อความไม่เป็นธรรมของครู ตัวอย่างเช่น ค่าเฉลี่ย OECD ของนักเรียนที่รายงานว่า เคยถูกครูพูดบางสิ่งที่ดูถูกต่อหน้าคนอื่นอย่างน้อยปีละสองถึงสามครั้งมีคะแนน CPS ต่ำกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกครูทำเช่นนั้นอยู่ 23 คะแนน เช่นเดียวกับนักเรียนที่รายงานว่า เคยถูกครูตำหนิอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่นมีคะแนน CPS ต่ำกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยถูกครูทำเช่นนั้นอยู่ 25 คะแนน

ไม่เพียงแต่นักเรียนที่รายงานว่า ครูมีความเป็นธรรมจะมีคะแนนสูงกว่า แต่นักเรียนจะมีคะแนนสูงขึ้นอีกถ้าเพื่อนของนักเรียนรายงานเช่นเดียวกัน เช่น นักเรียนจะมีคะแนน CPS สูงขึ้น 7 คะแนน ต่อการเพิ่มขึ้นทุก 10% ของเพื่อนของนักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยมีครูพูดบางสิ่งที่ดูถูกตนเองต่อหน้าคนอื่น และจะมีคะแนน CPS สูงขึ้น 10 คะแนน ต่อการเพิ่มขึ้นทุก 10% ของเพื่อนของนักเรียนที่รายงานว่า ไม่เคยถูกครูตำหนิอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่น

เมื่อนักเรียนหรือเพื่อนของนักเรียนเชื่อว่า ตนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ผลการประเมิน CPS จะลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังเช่นใน 25 จาก 47 ระบบการศึกษา นักเรียนที่รายงานว่า ครูไม่เคยหรือเกือบไม่เคยตำหนิอย่างรุนแรงมากกว่านักเรียนคนอื่นมีคะแนน CPS สูงกว่านักเรียนที่รายงานว่า เคยถูกทำเช่นนั้นสองถึงสามครั้งต่อปีหลังจากอธิบายด้วยผลการประเมินสามวิชาหลักแล้ว

ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงเรียนส่งผลทำให้คะแนน CPS สูงขึ้น ซึ่งพบทั้งในระดับนักเรียน ระดับโรงเรียน และระดับระบบโรงเรียน สำหรับความสัมพันธ์ในโรงเรียนไทย ข้อมูลไม่ชี้ถึงความสัมพันธ์ที่ดีมากนัก ส่วนความเชื่อมโยงต่าง ๆ เกือบทั้งหมดระหว่างคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนชี้ถึงบรรยากาศทางวินัยของโรงเรียน และชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมีผลกระทบต่อคะแนน CPS เช่นเดียวกับที่มีความสำคัญต่อการเรียนวิชาหลัก (วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์) ที่สำคัญ ผลการวิเคราะห์ชี้ว่า ตัวแปรที่ส่งผลกระทบรุนแรงและเป็นตัวทำนายผลที่ดีที่สุดคือ การปฏิบัติตัวและความไม่เป็นธรรมของครู

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)