การใช้อินเทอร์เน็ตและผลกระทบต่อคะแนนวิทยาศาสตร์

  • จากปี ค.ศ. 2012 ถึง 2015 นักเรียนวัย 15 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD เพิ่มขึ้นจาก 21 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 29 ชั่วโมง/สัปดาห์
  • ข้อมูลจาก PISA 2015 ในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่านักเรียนที่มีสถานะได้เปรียบกว่า โดยเฉลี่ยประมาณสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง
  • ในทุกระบบโรงเรียน นักเรียนที่รายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยมากมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยน้อยกว่า โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตปานกลางมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตและนักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยมาก
  • นักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตนอกโรงเรียนมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันในวันที่มีเรียน รายงานว่าไม่มีความสุขในชีวิต และรู้สึกว่าไม่มีเพื่อนที่โรงเรียน และมีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ต่ำ
  • นักเรียนจากประเทศที่คาดกันว่าน่าจะใช้อินเทอร์เน็ตมาก คือ เกาหลี และญี่ปุ่น กลับรายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตน้อยเมื่อเทียบกับนักเรียนจากประเทศอื่น ๆ

ในโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกอย่างจะพูดกันถึงแต่ความเร็ว ในทศวรรษหลังนี้ตัวประมวลผลคอมพิวเตอร์
มีสมรรถนะสูงขึ้นเป็นสองเท่าทุก ๆ สองปี คาดว่าโทรศัพท์มือถือ 5G จะมีความเร็วกว่ารุ่น 4G ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนับเป็นร้อยเท่า และเร็วกว่ารุ่น 3G ประมาณ 20,000 เท่า ข้อมูลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union) ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของประชากรโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้เพิ่มจาก 34% เป็น 48% การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ได้เปลี่ยนชีวิตของเด็กวัยรุ่นอย่างรวดเร็วเกินไปแล้วหรือไม่ นักเรียนวัยนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถลบล้างความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่นี้หรือไม่

การใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงอย่างไรจาก PISA 2012 ถึง PISA 2015

รายงานของ OECD (2017) พบว่า ค่าเฉลี่ย OECD สัดส่วนของนักเรียนที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 75% ใน PISA 2006 เป็น 95% ใน PISA 2015 จากการสอบถามนักเรียนถึงความถี่ของการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดพบว่า ในเวลาสามปีนับจาก PISA 2012 ถึง PISA 2015 ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มจาก 21 ชั่วโมง/สัปดาห์ เป็น 29 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือเพิ่มมากกว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวัน และส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในวันที่มีเรียน การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นมากในชิลี คอสตาริกา ไอร์แลนด์ และอิตาลี ส่วนที่เพิ่มน้อยที่สุดคือ กรีซ ฮ่องกง(จีน) มาเก๊า(จีน) และสโลวีเนีย นักเรียนในคอสตาริการายงานว่า ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 36 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในขณะที่เมื่อสามปีที่แล้วใช้เพียง 19 ชั่วโมง/สัปดาห์

แม้ว่าค่าเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตในวันที่มีเรียนจะแตกต่างกันมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่านักเรียนจากเกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งคาดกันว่าน่าจะใช้อินเทอร์เน็ตมากแต่กลับใช้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นักเรียนรายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตต่ำกว่า 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ และในจำนวนนี้ประมาณหนึ่งในสามเป็นการใช้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ตรงกันข้ามกับในชิลี คอสตาริกา เดนมาร์ก และสวีเดนที่นักเรียนรายงานว่า ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งประมาณหนึ่งในสี่เป็นการใช้ในวันหยุดสุดสัปดาห์


รูป 1* เวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต

หมายเหตุ * ใน PISA 2012 ประเทศไทยไม่ได้เก็บข้อมูลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียน

ที่มา : OECD, 2018


ความเหลื่อมล้ำทางด้านการใช้อินเทอร์เน็ต

ระหว่างประเทศสมาชิก OECD ด้วยกันไม่ค่อยมีความเหลื่อมล้ำในการใช้อินเทอร์เน็ตนับตั้งแต่ปี 2012 มาแล้ว ข้อมูลชี้ว่า นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งด้อยเปรียบและได้เปรียบต่างก็รายงานการใช้อินเทอร์เน็ตคล้ายกัน ทั้งนี้เพราะว่าการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติสำหรับประเทศกลุ่มนี้ แต่ถ้ารวมทุกประเทศในโครงการ พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในปี 2015 กลุ่มนักเรียนที่มีสถานะด้อยเปรียบกว่ากลับใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่านักเรียนกลุ่มได้เปรียบประมาณ 2 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยเฉพาะในเบลเยียมและจีนไทเป นักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบรายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่ามาตั้งแต่ในปี 2012 แล้ว ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าในวันที่มีเรียนปกติ แต่การใช้อินเทอร์เน็ตในวันหยุดสุดสัปดาห์ไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม ในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยียังคงมีอยู่มาก ได้แก่ ชิลี คอสตาริกา ลัตเวีย เม็กซิโก และอุรุกวัย นักเรียนกลุ่มได้เปรียบกว่ารายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่านักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบ เช่น ในเม็กซิโกต่างกันเกือบ 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ และมีความเหลื่อมล้ำมากในด้านกิจกรรมออนไลน์ที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ (Enriching) เช่น การอ่านข่าวบนอินเทอร์เน็ต


รูป 2** เวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างนักเรียนที่แตกต่างกันด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

หมายเหตุ ** ใน PISA 2012 ประเทศไทยไม่ได้เก็บข้อมูลด้านการใช้อินเทอร์เน็ตของนักเรียน

ที่มา : OECD, 2018


ผลกระทบของการใช้อินเทอร์เน็ตต่อผลการเรียน

อย่างไรก็ตาม การที่นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นอาจไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะยิ่งนักเรียนใช้มากเท่าใดก็ไม่ทำให้การเรียนดีขึ้น ข้อมูลบอกถึงผลการใช้อินเทอร์เน็ตว่าไม่ส่งผลดีสักเท่าไร เพราะปรากฏว่าในทุกระบบโรงเรียน นักเรียนที่รายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตบ่อยมากมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำกว่านักเรียนที่ใช้ปานกลาง โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนมีคะแนนวิทยาศาสตร์ต่ำลงสองคะแนนต่อการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นหนึ่งชั่วโมง/สัปดาห์ ข้อมูลชี้ด้วยว่า การใช้อินเทอร์เน็ตนอกโรงเรียนบ่อย ๆ ก็มีผลเชิงลบต่อผลการเรียนวิทยาศาสตร์ โดยจะมีผลเชิงลบต่อเมื่อนักเรียนออกไปใช้นอกโรงเรียนในวันที่มีเรียนปกติ แต่นักเรียนที่รายงานว่าใช้อินเทอร์เน็ตในวันหยุดสุดสัปดาห์มากกว่ามีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการใช้ในวันหยุดไม่รบกวนหรือกระทบกับเวลาเรียน

โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียนอายุ 15 ปีที่ใช้อินเทอร์เน็ตปานกลาง คือ ใช้ประมาณ 30 นาทีในวันที่มีเรียนในโรงเรียน หรือใช้นอกโรงเรียน 1 – 4 ชั่วโมงในวันที่มีเรียน และ 2 – 4 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์ มีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่านักเรียนกลุ่มที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตหรือกลุ่มที่ใช้อย่างหมกมุ่น (มากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน) การหมกมุ่นกับการใช้อินเทอร์เน็ต ยังมีผลทางด้านจิตใจทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง นักเรียนมักมาโรงเรียนสายและมีความคาดหมายต่อการศึกษาต่ำ ตามรายงานของ OECD (2017) นี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พ่อแม่และนักเรียนจากเกาหลีกับญี่ปุ่นใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตไม่มากเมื่อเทียบกับนักเรียนจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่มีเรียน


รูป 3 เวลาที่นักเรียนแต่ละประเทศใช้อินเทอร์เน็ตกับผลการประเมินวิทยาศาสตร์

ที่มา : OECD, 2018


สำหรับนักเรียนไทย ข้อมูลจาก PISA 2006 ชี้ว่านักเรียน 32% สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แต่ใน PISA 2015 มีนักเรียนมากกว่า 70% สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ในขณะที่เวียดนามยังคงมีนักเรียนที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ประมาณเท่ากับไทยในปี 2006 ถ้าเทียบกับสิงคโปร์และประเทศสมาชิก OECD ที่ใน PISA 2015 มีนักเรียนมากกว่า 90% ถึง 100% สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของสิงคโปร์ชี้ว่านักเรียนมีคะแนนลดลง 2 คะแนนต่อเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตในวันที่มีเรียนที่เพิ่มขึ้น 1 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนของไทยคะแนนลดลง 1 คะแนนต่อการใช้อินเทอร์เน็ตหนึ่งชั่วโมง/สัปดาห์ (เพราะคะแนนเฉลี่ยของไทยต่ำกว่าสิงคโปร์มากอยู่แล้ว)

แม้ว่า PISA จะไม่ได้หาคำตอบว่าเพราะเหตุใดนักเรียนที่ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากจึงมีคะแนนต่ำลง แต่มีการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่าอุปกรณ์ดิจิทัลและเครื่องมือลักษณะเดียวกันนี้ไปเบี่ยงเบนความสนใจจากกิจกรรมการเรียนหลักและอาจเป็นสาเหตุทำให้ความสามารถในการสังเคราะห์สาระและข้อมูลลดลง งานวิจัยพบด้วยว่าครูเองก็ไม่ได้ผ่านการเตรียมความพร้อมมาดีพอสำหรับการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเรียนการสอน อีกสมมติฐานหนึ่งก็เสนอว่านักเรียนที่เล่นอินเทอร์เน็ตมากเป็นเพราะเบื่อการเรียนและการทำการบ้าน แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุใดก็ตาม ก็ปฏิเสธข้อมูลไม่ได้ว่านักเรียนที่มีผลการประเมินสูงใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตน้อยกว่านักเรียนที่มีผลการประเมินต่ำโดยเฉพาะในวันที่มีเรียน


รูป 4 เวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ตกับผลการประเมินวิทยาศาสตร์

ที่มา : OECD, 2018


นักเรียนทั่วโลกต่างสนใจและใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นทุกทีทั้งในและนอกโรงเรียน และนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยเปรียบใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นเป็นอัตราแบบยกกำลัง ซึ่งเรื่องนี้แม้ในทศวรรษที่แล้วคิดกันในเชิงบวก แต่ ณ เวลานี้เริ่มสับสนเพราะข้อมูลชี้ว่า ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนต่ำลงโดยเฉพาะเมื่อใช้ในวันที่มีเรียน นอกจากนั้นนักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากยังรายงานว่าระดับความผาสุกในชีวิตต่ำลง แม้จะมีนวัตกรรมมากมายเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการศึกษา แต่ก่อนที่จะกลายเป็นเรื่องปกติที่นิยมใช้กันทั่วไป น่าจะลองนำวิธีการของเกาหลีคือ ใช้อินเทอร์เน็ตปานกลางและใช้อินเทอร์เน็ตในวันที่มีเรียนให้น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยนี้ไม่ได้ชี้นัยที่จะเรียกร้องให้งดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แต่เรียกร้องให้มีการใช้พอประมาณอย่างมีการวางแผนที่เหมาะสม และมีการเตรียมครูให้มีความพร้อมพอเพียงที่จะใช้เทคโนโลยีนี้

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 1MB)