นักเรียนไทยล้าหลังเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน

ผลการประเมินนักเรียนร่วมกับนานาชาติ PISA 2015 เปิดเผยว่า นักเรียนไทยมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียด้วยกัน ประเทศที่มีผลการประเมินสูงสุดคือสิงคโปร์ซึ่งมีผลการประเมินต่างกับไทยแบบสุดขั้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของสิงคโปร์กับไทยแล้วก็ห่างกันสุดขั้วเช่นกัน สิงคโปร์มีค่า GDP สูงกว่าไทยประมาณสิบเท่า แต่เมื่อคำนวณเปรียบเทียบเป็นค่าอำนาจการซื้อ (Purchasing Power Parity: PPP) แล้ว GDP per capita ของสิงคโปร์ยังสูงกว่าไทยมากกว่าห้าเท่า (ค่าเงินที่อ้างถึงต่อไปนี้ได้เทียบเป็นค่าอำนาจการซื้อ PPP ทั้งสิ้น) ความแตกต่างนี้จึงทำให้ระบบโรงเรียนไทยมีข้ออ้างได้ว่าไม่ต้องกังวลกับผลการประเมินของนักเรียนสิงคโปร์มากนักเพราะสิงคโปร์มีต้นทุนมากกว่าหลายเท่า

แต่เมื่อมองประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงอีกประเทศหนึ่งคือเวียดนาม ซึ่งมีค่า GDP ต่ำกว่าไทยเกินกว่า 2.5 เท่า และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสม (6,969 USD) ประมาณเพียงครึ่งหนึ่งของไทย (13,964 USD) แต่นักเรียนเวียดนามมีผลการศึกษาที่สูงกว่านักเรียนไทยมาก โดยเฉพาะด้านวิชาวิทยาศาสตร์ที่นักเรียนเวียดนามมีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรก (Top 10) ด้านคณิตศาสตร์เวียดนามมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ส่วนการอ่านมีคะแนนเท่ากับค่าเฉลี่ย OECD เวียดนามเป็นประเทศเศรษฐกิจต่ำและนักเรียนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ เมื่อเทียบกับนานาชาตินักเรียนเวียดนามก็ยังคงอยู่ในกลุ่มสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่า ข้อมูลใน PISA 2015 เวียดนามมีนักเรียนที่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำอยู่ถึง 80% ในขณะที่เกาหลี ญี่ปุ่น มีไม่ถึง 10% ตามปกตินักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำมักสัมพันธ์กับคะแนนต่ำ จึงคาดการณ์ได้ว่านักเรียนเวียดนามจะมีผลการประเมินต่ำ แต่ผลที่นักเรียนเวียดนามแสดงออกใน PISA 2015 ทำให้เรียกว่าเกิด “Vietnam effect” และเป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ชี้ว่าเงินไม่ใช่คำตอบของคุณภาพการเรียนรู้ เพราะเวียดนามมีต้นทุนต่ำ เงินสะสมทางการศึกษาต่ำเพียงครึ่งหนึ่งของไทย แต่นักเรียนมีคะแนนสูงกว่านักเรียนไทย

เป้าหมายหลักของ PISA

เป้าหมายหลักของ PISA คือต้องการหาตัวชี้วัดบอกให้ระบบการศึกษารู้ถึงคุณภาพการศึกษาในระบบว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต และเพื่อชี้ตัวแปรที่ส่งผลกระทบ ผลการประเมินที่เปิดเผยออกมาทำให้ระดับนโยบายหลายฝ่ายของไทยไม่สบายใจนัก จึงมีข้อเสนอให้พิจารณาการสุ่มตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม ในการสุ่มตัวอย่างนักเรียนเพื่อเข้าสอบ PISA ทุกประเทศต้องทำตามมาตรฐานที่ตกลงกันในระดับนานาชาติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผลการประเมินของแต่ละประเทศเปรียบเทียบได้กับนานาชาติใน International report จึงต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน เวียดนามกับไทยแม้จะกำหนดกรอบการสุ่มต่างกัน กล่าวคือ เวียดนามกำหนดเป็นภาคภูมิศาสตร์ (เช่น เวียดนามเหนือกับใต้) และไทยมีสังกัดของโรงเรียนเป็นตัวแปรหลัก แต่ผลการประเมินจะถูกรายงานออกมาแบบเดียวกัน ทั้งค่าเฉลี่ยประเทศ ความแตกต่างระหว่างกลุ่มนักเรียน ระหว่างเพศ ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของโรงเรียนและของนักเรียน ฯลฯ ทั้งนี้ PISA ยังเก็บข้อมูลและรายงานถึงผลกระทบของตัวแปรที่มีต่อคุณภาพการศึกษาด้วย ทำให้เรียนรู้ได้ว่าระบบที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ PISA ยังกำหนดมาตรฐานการดำเนินการด้านอื่น ๆ ที่ต้องทำโดยเทคนิคเดียวกัน เป็นต้นว่า การสุ่มนักเรียนในโรงเรียน การติดตามนักเรียน การสอบ การแจกข้อสอบให้นักเรียน การดำเนินการระหว่างการสอบ ฯลฯ และในแต่ละประเทศ PISA ยังจ้าง Monitor ภายในประเทศ และเจ้าหน้าที่จาก OECD ก็มาเยี่ยมติดตามการทำงานด้านเทคนิคด้วย ทั้งนี้ เพื่อจะให้ทุกประเทศทำงานบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้ผลการประเมินสามารถเปรียบเทียบกันได้ ถ้าประเทศใดทำผิดจากมาตรฐาน ผลการประเมินประเทศนั้นจะไม่ถูกรายงานเทียบกับนานาชาติ



การประเมิน PISA บอกเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ต้องการระบุว่าใครได้ที่เท่าไร แต่ต้องการให้ข้อมูลแก่ระบบการศึกษาหรือเป็นกระจกสะท้อนความจริงที่เป็นอยู่ในระบบว่า ระบบได้เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้เยาวชนของชาติเพียงพอหรือไม่ อย่างไร และการศึกษาตัวแปรต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบทางบวกหรือทางลบก็เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา หรือการคงไว้ในแนวปฏิบัติถ้าหากมีความเป็นเลิศดีอยู่แล้ว ที่สำคัญประการหนึ่งคือเพื่อให้ระบบฯที่ยังไม่ประสบความสำเร็จได้เรียนรู้แนวปฏิบัติของระบบที่ประสบความสำเร็จว่าเขาทำกันอย่างไร PISA จึงไม่ได้รายงานเฉพาะผลการสอบ แต่วิเคราะห์ทุกตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ในกรณีของเวียดนามมีหลายปัจจัยที่ระบบการโรงเรียนไทยสามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้

ตัวแปรใดทำให้ระบบนักเรียนของเวียดนามมีคะแนนสูง

ประเทศในโครงการ PISA ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งมีประเทศรายได้ต่ำเข้าร่วมโครงการด้วยไม่กี่ประเทศ ใน PISA 2012 มีประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ต่ำเข้าร่วมโครงการเพียง 8 ประเทศ (เวียดนาม แอลบาเนีย โคลอมเบีย อินโดนีเซีย จอร์แดน เปรู ตูนิเซีย และรวมทั้งประเทศไทยด้วย) ใน PISA 2012 เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนเวียดนามกับนักเรียนในประเทศรายได้ต่ำอีก 7 ประเทศ (Dev 7) นักเรียนเวียดนามก็มีคะแนนสูงกว่าทุกวิชา

ผลการประเมินชี้ว่า เวียดนามมีผลการเรียนรู้ที่ดีกว่าประเทศที่มั่งคั่งและมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูง เช่นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาและผู้กำหนดนโยบายในระบบอื่น ๆ ทั่วโลก และเริ่มทำให้เปลี่ยนความคิดที่เคยเชื่อว่า “การศึกษาไม่อาจเป็นเลิศได้หากขาดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” ประกอบกับที่เวียดนามเคยถูกกล่าวหาจากองค์กร Global Education Network Transparency ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Transparency International ว่า การศึกษาของเวียดนามมีการทุจริตมากถึงมากที่สุด (M.I., 2013) การทุจริตดังกล่าว ได้แก่ การที่ครูรับเงินจากนักเรียนเพื่อสอนพิเศษ การที่โรงเรียนดังรับเงินนักเรียนเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียน และการที่พ่อแม่จ่ายเงินค่าเรียนกวดวิชาพิเศษสำหรับลูกหลาน เพราะถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบสังคมและไม่เป็นธรรมทางการศึกษา แต่ทั้ง ๆ ที่ถูกหาว่าทุจริตเช่นนั้น เวียดนามยังคงอยู่ในกลุ่มคะแนนสูง (ข้อสังเกตคือการทุจริตดังกล่าวนั้นมีอยู่เป็นอยู่และถือกันว่าเป็นเรื่องปกติในระบบการศึกษาไทย) อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา เวียดนามพยายามแก้ไขการทุจริตดังกล่าว หนึ่งในมาตรการนั้นคือห้ามครูสอนพิเศษและรับเงินนักเรียนไม่ว่าจะทั้งในหรือนอกโรงเรียน และมีโทษหนักถึงขั้นจำคุก

การศึกษาเวียดนาม: อะไรคือคำอธิบาย

Schleicher (2015) ซึ่งเป็น OECD director of education and skills ได้ให้ข้อมูลใน BBC ว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของเวียดนามต้องยกให้รัฐบาลที่คิดแบบมองไปข้างหน้า ลงทุนด้านการศึกษาสูง (เช่น ประมาณ 21% ของงบประมาณรัฐบาลในปี ค.ศ. 2010) เวียดนามทำให้ครูมีสถานะทางสังคมที่สูง และอีกหนึ่งปัจจัยมาจากหลักสูตรที่สอนแบบลงลึกไม่ใช่อย่างตื้นและกว้างแบบตะวันตก ทำให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานและทักษะจริง ๆ ในเรื่องที่เรียน ครูได้รับการส่งเสริมให้การสอนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องนับถือในสังคม ครูในโรงเรียนที่ด้อยกว่า มีโอกาสได้รับการพัฒนาวิชาชีพสูงกว่า ส่วนทางฝ่ายนักการเมืองเวียดนามเห็นพ้องกันทุกฝ่ายว่า การศึกษาคือ National Priority (London, 2011)

นักเรียน ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างคือนักเรียน นักเรียนเวียดนามเรียนสัปดาห์ละ 6 วัน (จันทร์ – เสาร์) แต่ที่สำคัญกว่าคือ วัฒนธรรมความขยันและการทำงานหนักของคนเวียดนาม PISA 2015 เปิดเผยว่า นักเรียนเวียดนามที่ด้อยโอกาส มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีปัจจัยการเรียนต่ำซึ่งปกติควรจะมีคะแนนต่ำ แต่กลับมีคะแนนสูง (resilient) ถึง 75.5% ในขณะที่นักเรียนไทยมีเพียง 18% นอกจากนี้นักเรียนเวียดนามยังแสดงว่ามีวินัยสูง ดัชนีระเบียบวินัยมีค่าสูงกว่าของนักเรียนไทยมาก (ค่าดัชนีระเบียบวินัยเวียดนาม 0.36 ไทย 0.07) ในเอเชียเวียดนามเป็นรองเฉพาะญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งทุกประเทศในโครงการ PISA นักเรียนญี่ปุ่นมีดัชนีระเบียบวินัยสูงที่สุด และนักเรียนอายุ 15 ปี ของเวียดนามประมาณ 99% ยังเรียนอยู่ในสายวิชาการระดับมัธยมศึกษา

การวิจัยของธนาคารโลกซึ่งใช้ฐานข้อมูลของ PISA 2012 พบว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมความขยันและการทำงานหนัก และการลงทุนทางการศึกษาคือ ส่วนหนึ่งของคำอธิบายในความสำเร็จของระบบการศึกษาเวียดนาม (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016) จากผลของการวิจัยนั้นทำให้เห็นว่า เพราะเหตุใดระบบการศึกษาของเวียดนามจึงสามารถสร้างความแตกต่างได้

ต้นทุนทั้งหมดที่มีในระบบการศึกษารวมทั้งทรัพยากร นักเรียน ครู โรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครอง และวัฒนธรรมในสองระบบต่างมีความแตกต่างกัน เวียดนามแม้จะมีตัวเงินไม่มาก แต่พยายามลงทุนทางการศึกษาโดยการทำโรงเรียนให้เข้าสู่มาตรฐาน โดยเฉพาะการสนับสนุนโรงเรียนเล็ก คอมพิวเตอร์ในโรงเรียนเวียดนามเกือบทั้งหมด เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ข้อนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบของนักเรียนเวียดนามในการสอบ PISA 2015 ซึ่งเป็นการสอบบนคอมพิวเตอร์

พ่อแม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความแตกต่าง แม้ว่าพ่อแม่นักเรียนเวียดนามจะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่พ่อแม่กลับมีความคาดหวังอย่างสูงกับการศึกษาของลูกหลานและมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษาของลูกหลาน คือ ทั้งมีความคาดหวังสูง ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)

อีกเหตุผลหนึ่งที่อธิบายผลการประเมินที่สูงก็คือ ด้านพื้นฐานของนักเรียน ประการแรก คือข้อสังเกตที่เวียดนามมีสถิติอัตราการเรียนต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีเพียง 60% เท่านั้น (ไทยมี 98%) ซึ่งก็ชัดเจนว่า นักเรียนที่ได้เรียนต่อส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ได้เปรียบกว่าทางวิชาการและทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ส่วนนักเรียนยากจนและนักเรียนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์นั้นมีการเรียนต่อต่ำ เพราะนักเรียนกลุ่มนี้จำนวนมากออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาหรืออย่างสูงก็เพียงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีอัตราการเรียนต่อมัธยมศึกษาปลายเพียง 20% เท่านั้น (M.I., 2013) ความจริงข้อนี้จึงชี้ว่านักเรียนที่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ถูกคัดเลือกมาแล้วโดยธรรมชาติทางสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้น นักเรียนที่ได้เรียนต่อเหล่านี้มีภูมิหลัง

ทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบ ซึ่งส่งผลกระทบทางบวกต่อผลการเรียนรู้อยู่แล้ว จึงเป็นที่แน่นอนว่ากลุ่มตัวอย่าง PISA ของเวียดนามถือว่าคัดเลือกมาแล้วโดยอัตโนมัติจากระบบฯ กล่าวคือ คัดเลือกมาจากกลุ่มที่มีพื้นฐานดีทางวิชาการและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบกว่าอยู่แล้ว

ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจกับผลการประเมินของเวียดนามที่สวนทางกับอีกหลายประเทศ ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือความพยายามของเวียดนามที่มีนโยบายให้การศึกษาเป็น National Priority และให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในลำดับต้น ๆ อีกทั้งเวียดนามยังได้เงินกู้จากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาวิชาชีพครู

บทเรียนนี้เคยเห็นมาแล้วจากเกาหลีที่เคยเชื่อมั่นว่าการศึกษาคือความหวังเดียวของชาติ ซึ่งทำให้เกาหลีประสบความสำเร็จทุกวันนี้ ประเทศเพื่อนบ้านค่อย ๆ แซงและทิ้งห่างเราไปเรื่อย ๆ ถ้าระบบสังคมไทยยังเชื่อว่าเรายังดีกว่าเพื่อนบ้าน และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกระดับอย่างรีบด่วน สักวันหนึ่งคงเหลียวหลังแล้วจะไม่พบใครอีก

การประเมินผลคุณภาพการศึกษา คือ การตรวจสอบผลของทั้งระบบเพื่อจะได้ทราบแนวโน้มว่าระบบฯ ได้เตรียมเยาวชนให้เป็นกำลังของชาติเพียงพอหรือไม่ การศึกษาจึงต้องดูแลนักเรียนทั้งระบบ นักเรียนไทยล้าหลังเพื่อนบ้านอยู่จึงเป็นเรื่องที่ต้องรับรู้และแก้ไขให้ขึ้นมาเท่าเทียมกัน ในประเทศเราเอง นักเรียนกลุ่มเก่งกับกลุ่มอ่อนมีการเรียนรู้ต่างกันมาก แล้วระบบจะทอดทิ้งเด็กกลุ่มอ่อนเหล่านั้นหรือ ในเมื่อพวกเขาเหล่านั้นถูกคาดหวังว่าจะเติบโตเป็นกำลังของชาติที่มีคุณภาพในอนาคตแทนที่จะเป็นตัวถ่วงหรือเป็นภาระของชาติ ระบบจึงไม่อาจทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มใดได้ หากแต่มีหน้าที่ต้องเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกทุกคนของสังคม

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 768KB)