การเรียนซ้ำชั้นทำให้การเรียนรู้ดีขึ้นหรือไม่

การซ้ำชั้นเป็นการแยกกลุ่มนักเรียนตามแนวตั้งรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผลการวิจัยชี้ว่า การคัดแยกกลุ่มนักเรียน มักเป็นอันตรายต่อความเท่าเทียมทางการศึกษา (OECD, 2013b) การซ้ำชั้นเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ทำให้เกิดการคัดแยกนักเรียนตามแนวตั้ง เพราะนักเรียนที่ต้องซ้ำชั้นย่อมมีความจำเป็นต้องการการเรียนที่แตกต่างจากเพื่อน ครูจึงต้องมีวิธีการที่จะใช้กับนักเรียนกลุ่มนี้ต่างจากกลุ่มหลัก การซ้ำชั้นมีความสัมพันธ์เชิงลบกับความเสมอภาคทางการศึกษา และในระบบที่นักเรียนมีการซ้ำชั้นมาก มักมีตัวแปรด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมส่งผลกระทบค่อนข้างแรงต่อผลการเรียนรู้ของนักเรียน

การเรียนซ้ำชั้นทำให้ผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่

การซ้ำชั้นมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร มีผลการศึกษาที่เกี่ยวข้อง (Schwerdt and West, 2012) ให้ข้อมูลว่า ผลของการเรียนซ้ำชั้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับว่าการซ้ำชั้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงเวลาใดและเกิดในการเรียนประเภทใด แต่ส่วนใหญ่ผลการวิจัยชี้ว่า การซ้ำชั้นไม่เป็นผลดีต่อการเรียน (Hauser, 2004; Alexander, Entwisle and Dauber, 2003; Jacob and Lefgren, 2009; Manacorda, 2012) และการซ้ำชั้นเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของระบบโรงเรียน (West, 2012; OECD, 2011) อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็ยังมีนโยบายการซ้ำชั้น เพราะคาดหวังว่าการเรียนซ้ำเป็นครั้งที่สองจะทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้นเพราะการศึกษาพบว่า นักเรียนที่เรียนซ้ำชั้นไม่มีผลการเรียนที่ดีขึ้นไม่ว่าจะซ้ำชั้นกี่ครั้งก็ตาม

  • การที่นักเรียนซ้ำชั้นส่งผลกระทบทางลบ ค่าสหสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้เท่ากับ -0.26 และเมื่ออธิบายด้วยค่า GDP ของประเทศแล้ว มีค่าสหสัมพันธ์เพิ่มเป็น -0.34 (มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสองค่า) และไม่ว่านักเรียนจะซ้ำชั้นกี่ครั้งผลการเรียนไม่ดีขึ้น แต่กลับจะต่ำลง

PISA สำรวจการซ้ำชั้นในระดับระบบโรงเรียน พบว่า การซ้ำชั้นแสดงแนวโน้มว่ามีความสัมพันธ์เชิงลบกับความเสมอภาคทางการศึกษา และในประเทศสมาชิก OECD มีผลกระทบจากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนที่มีการซ้ำชั้น นักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ มีโอกาสที่จะซ้ำชั้นสูงกว่าถึงประมาณ 20% แม้จะปรับด้วยค่า GDP แล้วก็ตาม นอกจากนั้นยังพบด้วยว่า การซ้ำชั้นไม่สามารถยกระดับผลการเรียนรู้ให้สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นในประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั้งหมดในโครงการ PISA 2012 ที่มีนักเรียนซ้ำชั้นในสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ยังพบว่า นักเรียนซ้ำชั้นเป็นนักเรียนที่มีผลการประเมินเฉลี่ยลดต่ำลง

การซ้ำชั้นเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร

เป็นที่ชัดเจนว่า การซ้ำชั้นเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่รัฐต้องใช้สำหรับให้นักเรียนเรียนซ้ำอีกหนึ่งปี ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นความสิ้นเปลืองของสังคมที่ต้องชะลอเวลาอย่างน้อยอีกหนึ่งปีสำหรับบุคคลหนึ่งคนที่จะได้เข้าสู่ตลาดแรงงาน ในประเทศที่มีการซ้ำชั้นมากและมีข้อมูลเพียงพอ บางประเทศ เช่น ในเอสโตเนีย ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ และอิสราเอล ค่าใช้จ่ายโดยตรงและค่าเสียโอกาสของการซ้ำชั้นของนักเรียนกลุ่มอายุหนึ่ง ๆ มีประมาณ 0.5% ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาประจำปีนั้น ๆ หรือประมาณ 9,300 USD จนถึง 35,100 USD ต่อนักเรียนซ้ำชั้นหนึ่งคน (OECD, 2013b) บางประเทศก็สูงกว่ามาก เช่น ในเบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองอีกโดยประมาณอย่างน้อย 10% ของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาประจำปีการศึกษาของระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา หรือสูงเท่ากับ 48,900 USD ต่อนักเรียนซ้ำชั้นหนึ่งคน (การประมาณค่าใช้จ่ายนี้อยู่บนข้อตกลงเบื้องต้นว่า นักเรียนส่วนใหญ่ซ้ำชั้นในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ถ้าเป็นการซ้ำชั้นในระดับสูงค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงกว่านี้)

แนวโน้มผลการเรียนของนักเรียนซ้ำชั้นในระบบโรงเรียนอื่น ๆ เป็นอย่างไร

จาก PISA 2003 จนถึง PISA 2012 มีอยู่ 11 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีข้อมูลให้ติดตามและเปรียบเทียบได้ โดยเฉลี่ยใน 11 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ การเรียนซ้ำชั้นไม่พิสูจน์ว่าทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ใน PISA 2003 คะแนนคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เคยเรียนซ้ำชั้นต่ำกว่านักเรียนที่ไม่เคยซ้ำชั้นอยู่ 90 คะแนน (Score points) และใน PISA 2012 คะแนนคณิตศาสตร์ของนักเรียนที่เคยเรียนซ้ำชั้นลดต่ำลงอีกทำให้ช่องว่างของความแตกต่างเพิ่มขึ้นเป็น 94 คะแนน


รูป 1 ความแตกต่างของคะแนนคณิตศาสตร์ระหว่างนักเรียนที่เคยเรียนซ้ำชั้นกับที่ไม่เคยเรียนซ้ำชั้น

หมายเหตุ: ค่าการเปลี่ยนแปลงของความแตกต่างของคะแนนคณิตศาสตร์ ระหว่าง PISA 2003 กับ PISA 2012
ที่อยู่ด้านบนชื่อประเทศ แสดงเฉพาะประเทศที่ความแตกต่างมีนัยสำคัญทางสถิติเท่านั้น (ที่มา: OECD, 2013b)


ในแบบสอบถามนักเรียนของ PISA ได้ขอให้นักเรียนตอบว่าเคยเรียนซ้ำชั้นหรือไม่ ไม่ว่าในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นหรือตอนปลายก็ตาม ค่าเฉลี่ย OECD พบว่า นักเรียน 12% ตอบว่าเคยซ้ำชั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยเคยซ้ำชั้นจำนวน 7% ในระดับประถมศึกษา 6% ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ 2% ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในญี่ปุ่น มาเลเซีย และนอร์เวย์ ไม่มีนักเรียนอายุ 15 ปี รายงานว่าเคยเรียนซ้ำชั้น แต่ในอีก 24 ประเทศ นักเรียนต่ำกว่า 5% เคยเรียนเคยซ้ำชั้น ตรงกันข้าม มีนักเรียนระหว่าง 20% ถึง 29% ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เปรู ชิลี และเยอรมนี เคยเรียนซ้ำชั้น n ในตูนิเซีย อุรุกวัย อาร์เจนตินา เบลเยียม บราซิล ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส คอสตาริกา และสเปน มีนักเรียนระหว่าง 30% ถึง 39% เคยซ้ำชั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ในขณะที่ มาเก๊า-จีน และโคลอมเบีย มีนักเรียนมากกว่า 40% เคยซ้ำชั้นอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

ในระบบที่มีนักเรียนซ้ำชั้นในอัตราสูงเหล่านี้ นักเรียน 20% เคยซ้ำชั้นในระดับประถมศึกษา (ในโปรตุเกส มาเก๊า-จีน โคลอมเบีย อุรุกวัย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ บราซิล และเบลเยียม) นักเรียนมากกว่า 20% เคยซ้ำชั้น ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ในตูนิเซีย มาเก๊า-จีน โคลอมเบีย สเปน อุรุกวัย อาร์เจนตินา และคอสตาริกา) และนักเรียนมากกว่า 10% เคยซ้ำชั้นในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ในตุรกี ชิลี และอิตาลี) อย่างไรก็ตาม ในระบบการศึกษาที่ต่างกัน โครงสร้างระบบการศึกษาหรือจำนวนปีในการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแต่ละระบบไม่เท่ากัน

ในหลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ มาเก๊า-จีน ลักเซมเบิร์ก โปรตุเกส สเปน และฝรั่งเศส (รวมทั้งสวีเดนกับฮังการีที่มีอัตราการซ้ำชั้นต่ำด้วย) ในประเทศเหล่านี้มีอัตราการเรียนซ้ำชั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ เพราะถือเป็นมาตรการลงโทษสำหรับนักเรียนที่สอบไม่ผ่าน หรือนักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำ โดยมีสมมติฐานว่านักเรียนจะมีผลการเรียนดีขึ้น แต่ข้อมูลจากการวิจัยไม่สนับสนุนสมมติฐานนั้น (OECD, 2013b)

การซ้ำชั้นมีความเกี่ยวข้องกับภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่

ผลการสำรวจ พบว่า นักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเกี่ยวข้องกับโอกาสการซ้ำชั้น หมายความว่า ในหมู่นักเรียนที่มีผลการประเมินคณิตศาสตร์คล้ายกัน นักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่ามักมีโอกาสการซ้ำชั้นมากกว่านักเรียนที่มีภูมิหลังด้านนี้สูงกว่า เช่น ค่าเฉลี่ย OECD ในกลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ 300 คะแนน โอกาสการซ้ำชั้นของนักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า เป็น 35 จาก 100 ในขณะที่ นักเรียนที่มีคะแนนคล้ายกันแต่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำกว่า โอกาสที่จะซ้ำชั้นมีถึง 45 จาก 100

ส่วนในกลุ่มนักเรียนยิ่งมีคะแนนสูงขึ้น โอกาสที่จะมีนักเรียนซ้ำชั้นก็ลดต่ำลง เช่น ในกลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ 400 โอกาสที่จะซ้ำชั้นของนักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่า ลดลงเป็น 14 จาก 100 และโอกาสที่จะซ้ำชั้นของนักเรียนที่มีภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ ลดลงเป็น 19 จาก 100 (OECD, 2013b)

ผลการสำรวจของ PISA สอดคล้องกับการศึกษาอื่นที่เคยมีมาแล้ว ซึ่งชี้เหมือนกันว่า การเรียนซ้ำชั้นมีมากที่สุดในกลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ (Gome-Nero et.al, 1994) และสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลจาก PISA 2009 พบว่า เกือบครึ่งของประเทศที่สำรวจสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเกี่ยวข้องกับโอกาสการซ้ำชั้น ซึ่งข้อมูลจาก PISA 2009 ชี้ว่า ในประเทศสมาชิก OECD ความแปรปรวนของโอกาสการซ้ำชั้นระดับประถมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม สำหรับในระดับนักเรียนมี 53% ในระดับโรงเรียน 28% และระดับระบบโรงเรียนมี 9% (OECD, 2013b)


รูป 2 โอกาสการเรียนซ้ำชั้นกับภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (ค่าเฉลี่ย OECD)


ที่มา: OECD, 2013b


  • การเรียนซ้ำชั้นไม่ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นไม่ว่าจะซ้ำชั้นกี่ครั้งก็ตาม
  • การซ้ำชั้นมีความเกี่ยวข้องกับภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนที่มีผลการประเมินคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกัน นักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมด้อยกว่ามีโอกาสซ้ำชั้นมากกว่า
  • การซ้ำชั้นเป็นผลเสียในระดับระบบโรงเรียน เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณและสิ้นเปลืองทางสังคมในตลาดแรงงาน
  • ตั้งแต่ปี 2003 จนถึงปี 2012 การเรียนซ้ำชั้นมีแนวโน้มลดลง

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 987KB)