ความเป็นธรรมทางการศึกษาเป็นอย่างไร

ความไม่เท่าเทียมกันของภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (Economic, Social and Cultural Status; ESCS) เป็นเรื่องปกติในทุกสังคม แต่ประเด็นนี้มีความสำคัญทางการศึกษา เนื่องจากเป็นตัวแปรตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นธรรมดาที่นักเรียนที่มีภูมิหลังที่ด้อยเปรียบกว่ามักมีผลการประเมินต่ำ ความเป็นจริงในสังคมไทยเท่าที่พบจากการสำรวจ พบว่า ระบบโรงเรียนไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างสูงในโรงเรียนต่างกลุ่มกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดจากในโรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงสุดกับต่ำสุดของไทย ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนสาธิตซึ่งเป็นโรงเรียนในเมืองใหญ่ (ดัชนี ESCS = 0.66) กับโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ซึ่งเป็นโรงเรียนในชนบท (ดัชนี ESCS = -2.24) โรงเรียนสองกลุ่มนี้มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันถึงสามหน่วยดัชนี ซึ่งเป็นช่องว่างที่กว้างมาก ระบบโรงเรียนจึงมีภาระหน้าที่ที่จะต้องลดอิทธิพลของตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคมนี้ ข้อมูลจาก PISA สามารถชี้ว่า ถ้าโรงเรียนหรือนักเรียนที่ด้อยเปรียบกว่าทางด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม มีทรัพยากรการเรียนที่เหมาะสมและพอเพียงจะสามารถลดอิทธิพลจากตัวแปรนี้ลงได้ (OECD, 2013b)


รูป 1 ดัชนีความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียน


แต่ความจริงในระบบโรงเรียนไทยมิได้เป็นเช่นนั้น ข้อมูลทรัพยากรการเรียนของโรงเรียนสองกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็นไปในทำนองที่จะลดผลกระทบของตัวแปรดังกล่าว เพราะพบว่าโรงเรียนที่ด้อยเปรียบเหล่านั้นยังคงเป็นโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรมาก เมื่อเทียบดัชนีทรัพยากรการเรียนของกลุ่มสูงสุดกับกลุ่มต่ำสุด เช่น ระหว่างกลุ่มโรงเรียน สพป. กับ สาธิต ก็พบว่า ค่าดัชนีทรัพยากรแตกต่างกันมากกว่า 2 หน่วย (รูป 1) แสดงว่า โรงเรียนที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรการเรียนที่พอเพียง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูแนวโน้มจะเห็นว่ากลุ่มที่มีทรัพยากรต่ำก็จะยิ่งมีต่ำลงไปอีกตามเวลาที่ผ่านไป สำหรับประเทศไทย ดัชนีความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนมีความสัมพันธ์กับคะแนนคณิตศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ เมื่อค่าดัชนีเปลี่ยนไปหนึ่งหน่วย คะแนนคณิตศาสตร์จะเปลี่ยนไป 8.1 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD คะแนนเปลี่ยนไป 7.7 คะแนน)

ถ้าดูระบบโรงเรียนที่ได้ชื่อว่ามีการศึกษาที่เป็นเลิศ เช่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ และสิงคโปร์ แม้ในระบบฯ เหล่านั้น มีโรงเรียนและนักเรียนที่แตกต่างด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ระบบฯ เหล่านั้นได้จัดสรรทรัพยากรการเรียนให้จนไม่เห็นความแตกต่างหรือบางระบบโรงเรียนที่ยากจนกว่ากลับได้รับการจัดสรรมากกว่า ซึ่งค่าดัชนี ทรัพยากรจะเป็นตัวชี้บอก เช่น ในฟินแลนด์ (ดัชนี ESCS กลุ่มสูงมีค่า 0.35 ส่วนกลุ่มต่ำมีค่า 0.01) เกาหลีใต้ (ดัชนี ESCS กลุ่มสูงมีค่า 0.03 ส่วนกลุ่มต่ำมีค่า 0.02) และสิงคโปร์ (ดัชนี ESCS กลุ่มสูงมีค่า 1.18 ส่วนกลุ่มต่ำมีค่าดัชนี 1.22) ระบบโรงเรียนเหล่านี้จึงมีความเป็นธรรม (Equity) สูงมาก

เมื่อพูดถึงความเป็นธรรมทางการศึกษา มักจะเข้าใจว่าเมื่อจัดสรรทรัพยากรให้แก่โรงเรียนและนักเรียนอย่างเท่าเทียมกันหมด เช่น ให้การศึกษาฟรีเหมือนกันหมด ให้ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทางการศึกษาเท่ากันหมด นั่นคือ ความเสมอภาคหรือความเป็นธรรม แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น การให้ที่เท่ากันนั้นยังไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะผู้ที่ได้เปรียบอยู่หรือผู้มีต้นทุนสูงอยู่แล้วยิ่งได้เปรียบมากขึ้นไปอีก ในขณะที่ผู้ที่ด้อยเปรียบกว่าก็ยังคงความด้อยเปรียบอยู่อย่างเดิมหรือมากกว่าเดิม การจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม จึงต้องคำนึงถึงต้นทุนที่โรงเรียน/นักเรียนมีอยู่แล้วด้วย แล้วจึงจัดสรรให้ตามความเหมาะสมและเป็นธรรม


รูป 2 ความเท่ากันกับความเป็นธรรม

ที่มา: https://www.pinterest.com/pin/109704940897374904/


สถานการณ์ในระบบโรงเรียนไทยเท่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ยังอยู่ห่างไกลจากคำว่าความเป็นธรรมทางการศึกษา เพราะช่องว่างของการมีทรัพยากรกว้างมาก และระบบมักยึดหลัก “ให้เท่ากันหมด” โรงเรียนที่มีสถานะยากจนจึงยังอยู่ห่างไกลจากโรงเรียนที่รวยกว่า ซึ่งเป็นบริบทที่ผู้ด้อยเปรียบถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากรการเรียนที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่ไม่มีกลุ่มใดถูกทิ้ง (No child left behind) จึงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพระบบโรงเรียนทั้งหมดของประเทศ


รูป 3 ความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรการเรียน

ที่มา: OECD, 2013b


รูป 3 แสดงถึงความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรการเรียนของระบบโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นว่าระบบฯ ของประเทศไทยมีค่าดัชนีระหว่างกลุ่มสูงกับกลุ่มต่ำแตกต่างกันมาก และคล้ายคลึงกับประเทศคะแนนต่ำหลายประเทศ เช่น เปรู คอสตาริกา เม็กซิโก บราซิล และอินโดนีเซีย ในขณะที่อีกหลายประเทศ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ เยอรมนี สาธารณรัฐสโลวัก ไม่มีความแตกต่างระหว่างสองกลุ่ม และอีกหลายประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โรงเรียนกลุ่มสูงมีดัชนีทรัพยาการต่ำกว่ากลุ่มต่ำ เช่น ฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เป็นต้น ดังนั้น ข้อมูลนี้จึงชี้นัยว่า ในความพยายามที่จะยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร เป็นอีกประเด็นที่จะต้องได้รับการพิจารณา

สำหรับระบบโรงเรียนของประเทศไทยใช้แนวปฏิบัติที่ “ให้เท่ากัน” คือ การศึกษาฟรีของรัฐที่ให้เท่ากันหมด ไม่ว่าโรงเรียนและนักเรียนจะมีพื้นฐานเดิมอย่างไร ทุกคนทุกที่จะได้สิ่งที่รัฐให้เท่ากัน แต่ในบริบทของสังคมในความเป็นจริง สิ่งที่รัฐให้นั้นมีค่ายิ่งสำหรับนักเรียนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำ แต่อาจจะไม่มีความหมายใด ๆ สำหรับนักเรียนที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ตัวอย่างในรูป 4 จากประกาศของโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐให้นั้นเกือบไม่มีความหมาย หรือผู้รับไม่สนใจที่จะไปรับสวัสดิการส่วนนั้น


รูป 4 ประกาศให้ผู้ปกครองไปรับเงินของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง


แต่ในทางกลับกัน โรงเรียนที่ยากจน ที่ขาดแคลนในพื้นที่ประชาชนยากจน เงินจำนวนนี้มีค่ามหาศาล ดังนั้น ความเท่ากันจึงไม่ใช่ความเป็นธรรม ความเป็นธรรม คือ การส่งเสริมกลุ่มด้อยเปรียบให้มีโอกาสได้มีได้เป็นเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม

คำแนะนำจาก PISA

เนื่องจากข้อมูลชี้ว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนส่วนมากมีพื้นฐานที่ด้อยเปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเขตที่มีข้อมูลทางประชากรที่เสียเปรียบหรืออยู่ในชนบท และมักมีทรัพยากรคุณภาพต่ำกว่าโรงเรียนที่มีนักเรียนที่มีพื้นฐานที่ได้เปรียบด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือโรงเรียนในเมืองและเมืองใหญ่ การจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเท่านั้น แต่การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมยังมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนรู้ของนักเรียนที่แสดงออกในการประเมินด้วย ในระบบโรงเรียนที่มีผลการประเมินสูง เช่น เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ เยอรมนี สิงคโปร์ ครูใหญ่ในโรงเรียนที่ด้อยเปรียบกว่ารายงานว่า มีทรัพยากรการเรียนไม่แตกต่างจากครูใหญ่ในโรงเรียนที่ได้เปรียบกว่าหรือบางแห่งกลับมีมากกว่า แสดงว่าระบบฯ เหล่านั้นได้สนับสนุนให้ผู้ด้อยเปรียบได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันกับผู้ที่ได้เปรียบ และในระบบฯ เหล่านั้นก็มีผลตอบแทน คือ คุณภาพการเรียนรู้ที่สูงของนักเรียนโดยรวมทั้งระบบ (OECD, 2013a)

ข้อมูลจากการวิจัยนานาชาติชี้ว่า ทรัพยากรการเรียนเป็นตัวแปรที่อิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน และชี้ถึงอิทธิพลของภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่อการเรียนรู้ แต่การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม สามารถลดอิทธิพลของตัวแปรนี้ลงได้ ความเป็นธรรมทางการศึกษา มิได้มีความหมายถึงการให้ทรัพยากรที่เท่ากันหมด เพราะว่าการให้ที่เท่ากันไม่ได้ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เพราะคนที่มีต้นทุนเดิมมากยังคงมีมากเหนือคนอื่นอยู่ดี และคนที่มีต้นทุนเดิมน้อยก็ยังมีน้อยเหมือนเดิม และคนที่มีมากกลับได้สิ่งที่ไม่มีความจำเป็นหรือไม่ได้ต้องการ ในขณะที่คนที่มีต้นทุนน้อยยังไม่พอประทังแม้เพียงให้เกิดความเพียงพอ ระบบที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ทอดทิ้งนักเรียนกลุ่มด้อยเปรียบ แต่ให้การกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม ซึ่งทำให้นักเรียนที่เสียเปรียบมีโอกาสเท่าเทียมกับนักเรียนกลุ่มอื่น ดังนั้น ส่วนหนึ่งในความพยายามยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน จึงต้องพิจารณาถึงแนวปฏิบัติด้านนี้ด้วย นั่นคือ การสนับสนุนนักเรียนและโรงเรียนที่ยากจน และที่อยู่ในพื้นที่ประชากรศาสตร์ที่ด้อยเปรียบกว่าด้านสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 895KB)