Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics นำเสนอตัวอย่างข้อสอบความคิดสร้างสรรค์ใน PISA 2022

ใน PISA 2022 นอกจากจะประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีการประเมินนวัตกรรมอีกหนึ่งด้าน คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ด้วย
โดยตัวอย่างข้อสอบความคิดสร้างสรรค์ต่อไปนี้นำมาจากกรอบการประเมินความคิดสร้างสรรค์ของ PISA 2022 ซึ่งประกอบด้วยข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย ข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยภาพ ข้อสอบการแก้ปัญหาด้านสังคม และข้อสอบการแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย เรื่อง “ลูกเต๋าเล่าเรื่อง”
ข้อสอบเรื่อง “ลูกเต๋าเล่าเรื่อง” ประกอบไปด้วยภาระงานที่ต่อเนื่องกันสามภาระงาน
ภาระงานแรก นักเรียนจะต้องแสดงแนวคิดด้วยการสร้างเรื่องเล่าสั้น ๆ ที่ต่างกัน 2 เรื่อง ตามรูปภาพที่ปรากฏบนหน้าของลูกเต๋า โดยภาระงานนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดที่หลากหลาย” ซึ่งนักเรียนจะได้แสดงออกถึงความสามารถในการสร้างแนวคิดที่หลากหลายโดยการเสนอเรื่องเล่าที่เหมาะสมสองเรื่องที่แตกต่างกันมากพอ โดยในข้อสอบจะมีข้อแนะนำในการตอบคำถามเพื่อให้นักเรียนไม่ใช้เวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อนานเกินไป ซึ่งช่วยให้นักเรียนสามารถจัดการเวลาในการทำข้อสอบทั้งหมดได้ดีขึ้น

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย เรื่อง “ลูกเต๋าเล่าเรื่อง” (ต่อ)
ภาระงานที่สองของข้อสอบเป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์” ซึ่งนักเรียนจะต้องเขียนเรื่องเล่าที่สร้างสรรค์ โดยใช้รูปภาพ 6 รูป ที่ปรากฎบนหน้าลูกเต๋า

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย เรื่อง “ลูกเต๋าเล่าเรื่อง” (ต่อ)
สำหรับภาระงานสุดท้ายของข้อสอบเรื่องนี้ นักเรียนจะได้เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้น (รูปภาพ 3 รูป) และจะต้องสร้างเรื่องเล่าที่มีความแปลกใหม่ต่อจากเรื่องเล่าของเพื่อน โดยภาระงานนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การประเมินและปรับปรุงแนวคิด”

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยภาพ เรื่อง “โลโก้งานเทศกาลอาหาร”
ข้อสอบเรื่อง “โลโก้งานเทศกาลอาหาร” ประกอบไปด้วยภาระงานที่ต่อเนื่องกันสองภาระงาน ซึ่งนักเรียนจะต้องแสดงแนวคิดด้วยภาพโดยใช้เครื่องมือวาดรูปที่เป็นรูปแบบที่ใช้ง่ายที่สุด เพื่อให้นักเรียนใช้ทักษะในการวาดรูปด้วยเครื่องมือดิจิทัลน้อยที่สุด โดยที่เครื่องมือนี้ยังมีฟังก์ชันการใช้งานมากพอที่นักเรียนจะสร้างคำตอบที่แตกต่างกันได้
ข้อสอบเรื่องนี้เป็นสถานการณ์จำลองที่นักเรียนจะต้องใช้จินตนาการสร้างสรรค์ภาพโดยการออกแบบโลโก้งานเทศกาลอาหารของเมือง ในภาระงานแรก นักเรียนจะต้องออกแบบโลโก้ที่แตกต่างกันสองแบบเพื่อให้ผู้จัดงานเทศกาลพิจารณา นักเรียนจะมีข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับหัวข้อหลักของงาน และมีเครื่องมือสำหรับออกแบบอย่างง่าย (เช่น รูปร่างพื้นฐาน รูปตราประทับ) ซึ่งนักเรียนสามารถใช้ในการออกแบบได้ พร้อมกับให้คำอธิบายเกี่ยวกับการออกแบบสั้น ๆ

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยภาพ เรื่อง “โลโก้งานเทศกาลอาหาร” (ต่อ)
เมื่อนักเรียนออกแบบโลโก้แบบที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว นักเรียนจะต้องออกแบบโลโก้แบบที่สองที่แตกต่างจากแบบที่หนึ่งให้ได้มากที่สุด ภาระงานนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดด้าน “การสร้างแนวคิดที่หลากหลาย”

ตัวอย่างข้อสอบการแสดงแนวคิดด้วยภาพ เรื่อง “โลโก้งานเทศกาลอาหาร” (ต่อ)
ภาระงานที่สองของข้อสอบเรื่องนี้จะให้นักเรียนทำการปรับปรุงโลโก้ที่ได้มีการออกแบบไว้แล้วให้มีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของงานเทศกาลที่นักเรียนเพิ่งได้ข้อมูลเพิ่มเติมมา (การเฉลิมฉลองอาหารมังสวิรัติและวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ผักในการประกอบอาหาร) และนักเรียนจะต้องปรับปรุงการออกแบบโลโก้ที่มีอยู่เดิมให้สะท้อนถึงข้อมูลที่ได้มาใหม่ให้มากขึ้น ภาระงานนี้จึงเป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การประเมินและปรับปรุงแนวคิด”

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านสังคม เรื่อง “แอปพลิเคชันช่วยประหยัดน้ำ”
สำหรับข้อสอบเรื่อง “แอปพลิเคชันช่วยประหยัดน้ำ” นักเรียนจะได้ทำสามภาระงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาด้านสังคมเรื่องการประหยัดน้ำ แม้ว่าความรู้ก่อนหน้าในประเด็นนี้อาจจะส่งผลต่อความสามารถของนักเรียนในการสร้างวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลายและแปลกใหม่สำหรับชุดข้อสอบนี้ แต่ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความรู้ก่อนหน้าและความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ยังไม่อาจเห็นได้ชัดเจนนัก กล่าวคือ ความรู้ก่อนหน้าอาจทำให้นักเรียนมีคำตอบที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจลดความแปลกใหม่ของคำตอบลงได้
ภาระงานแรก นักเรียนจะต้องคิดหาวิธีการที่แตกต่างกันสามวิธีที่ผู้คนจะสามารถใช้ในการประหยัดน้ำภายในครัวเรือนได้ ภาระงานนี้จึงเป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดที่หลากหลาย

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านสังคม เรื่อง “แอปพลิเคชันช่วยประหยัดน้ำ” (ต่อ)
ภาระงานที่สองของข้อสอบเรื่องนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์” โดยมีการนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่จะให้รางวัลแก่ผู้ใช้เมื่อทำกิจกรรมที่ช่วยประหยัดน้ำ นักเรียนจะต้องหาวิธีการที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ในการโฆษณาแอปพลิเคชันนี้ให้เป็นที่รู้จัก

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านสังคม เรื่อง “แอปพลิเคชันช่วยประหยัดน้ำ” (ต่อ)
ภาระงานสุดท้ายของข้อสอบเรื่องนี้จะให้นักเรียนแนะนำการปรับปรุงที่แปลกใหม่สำหรับแอปพลิเคชันเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหา ผู้ใช้เข้าใช้งานแอปพลิเคชันไม่สม่ำเสมอหรือใช้งานแบบไม่ถาวร (ผู้คนเลิกใช้งานแอปพลิเคชันอย่างรวดเร็วหลังจากดาวน์โหลด)
ภาระงานนี้จะเป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การประเมินและปรับปรุงแนวคิด” โดยนักเรียนควรเข้าใจว่าจะต้องมีอะไรมาจูงใจให้ผู้ใช้ใช้งานแอปพลิเคชันนี้อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ เรื่อง “จักรยานแห่งอนาคต”
ข้อสอบเรื่อง “จักรยานแห่งอนาคต” ใช้สถานการณ์จำลองที่ให้นักเรียนสร้างนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ให้กับจักรยานแบบมาตรฐาน
ภาระงานแรกของข้อสอบเรื่องนี้ ให้นักเรียนระบุวิธีการที่เป็นนวัตกรรม 3 วิธีการ ที่อาจเปลี่ยนแปลงให้จักรยานธรรมดากลายเป็นจักรยานแห่งอนาคต ภาระงานนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดที่หลากหลาย”

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ เรื่อง “จักรยานแห่งอนาคต” (ต่อ)
ในภาระงานที่สองของข้อสอบเรื่องนี้ นักเรียนจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับคำแนะนำของเพื่อนที่ให้มีกล้องที่มีโปรแกรมตรวจจับใบหน้าติดตั้งบนราวจับเพื่อป้องกันการลักขโมย และนักเรียนจะต้องหาวิธีการที่แปลกใหม่ในการปรับปรุงแนวคิดนี้ ภาระงานนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การประเมินและปรับปรุงแนวคิด”
นักเรียนควรจะสามารถประเมินได้ว่าแนวคิดของเพื่อนนั้นมีข้อบกพร่องอย่างน้อยสองประการ นั่นคือ ขโมยจะสามารถถอดกล้องออกจากจักรยานได้อย่างง่ายดาย และการส่งการแจ้งเตือนไปที่โทรศัพท์มือถือของคนเพียงคนเดียวน่าจะสายเกินกว่าที่จะหยุดขโมยได้

ตัวอย่างข้อสอบการแก้ปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ เรื่อง “จักรยานแห่งอนาคต” (ต่อ)
ภาระงานที่สามซึ่งเป็นภาระงานสุดท้ายของข้อสอบเรื่องนี้ ให้นักเรียนแนะนำวิธีการที่แปลกใหม่ที่จะนำบันไดจักรยานไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เนื่องจากจักรยานนี้มีการให้พลังงานแบบอัตโนมัติแล้ว ข้อสอบข้อนี้เป็นการประเมินกระบวนการคิดในด้าน “การสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์”
จากตัวอย่างข้อสอบความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ จะเห็นได้ว่าข้อสอบเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เนื่องจากเป็นการหาคำตอบให้กับคำถามปลายเปิดที่มีได้หลากหลายคำตอบ ซึ่งต่างจากการหาคำตอบที่มีอยู่เพียงคำตอบเดียวสำหรับปัญหาปลายปิดทั่วไป
ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/100064706947347/posts/pfbid031XLMo85ALPQkLMSsTVfz1G1uAD8uFjZzNQm6ttMd7UnZdxstifXhCM1wis8Q1antl/?d=n