[INFOGRAPHICS] ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย” ตอนที่ 6/7

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 6/7

“ความช่วยเหลือและสนับสนุนของพ่อแม่ และบทบาทด้านต่าง ๆ ของครู” 


อินโฟกราฟิกฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัย “ความช่วยเหลือและสนับสนุนของพ่อแม่ และบทบาทด้านต่าง ๆ ของครู” เพื่อใช้ในการส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย

ปัจจัยด้านความช่วยเหลือและสนับสนุนของพ่อแม่

นักเรียนที่รายงานว่าได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากพ่อแม่ในด้านต่าง ๆ จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่ได้รับการสนับสนุน

โดยนักเรียนที่รายงานว่า “พ่อแม่ให้การสนับสนุนในความพยายามและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียน” จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวถึง 49 คะแนน

นอกจากนี้นักเรียนที่รายงานว่า “พ่อแม่ให้ความช่วยเหลือเมื่อนักเรียนพบปัญหาที่โรงเรียน” จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวถึง 31 คะแนน

บทบาทการสอนของครูด้านการสอนที่เน้นครูเป็นผู้นำการสอน

การสอนที่เน้นครูเป็นผู้นำการสอนก็สามารถส่งเสริมคะแนนการอ่านของนักเรียนได้ด้วยเช่นกัน หากในการสอนดังกล่าว ครูมีการชี้นำเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งที่ได้เรียน ได้แก่ ครูได้ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างชัดเจน ครูใช้คำถามเพื่อตรวจสอบว่านักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ครูสอนหรือไม่ ครูบอกให้นักเรียนรู้ว่าต้องเรียนรู้สิ่งใดบ้าง

จากการรายงานของนักเรียน พบว่า นักเรียนที่รายงานว่าครูได้ปฏิบัติเช่นนั้นบ่อยครั้งในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทยจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น

บทบาทการสอนของครูด้านการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน

อีกบทบาทหนึ่งของครูที่จะช่วยพัฒนาความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ก็คือ การที่ครูกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน

ซึ่งครูสามารถทำได้โดยกระตุ้นให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเรื่องที่อ่านกับชีวิตจริง แสดงให้นักเรียนเห็นว่าสาระที่อยู่ในเรื่องที่อ่านเพิ่มเติมจากสิ่งที่นักเรียนรู้แล้วอย่างไร และตั้งคำถามที่กระตุ้นนักเรียนให้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างกระตือรือร้น

จากการรายงานของนักเรียน พบว่า นักเรียนที่รายงานว่าครูได้ปฏิบัติเช่นนั้นบ่อยครั้งในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทยจะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าไม่เคยหรือเกือบไม่เคยได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น

ตัวอย่างแนวทางในการส่งเสริมให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียน

ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากพ่อแม่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่านของนักเรียนค่อนข้างมาก สำหรับตัวอย่างแนวทางในการส่งเสริมให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียน เช่น

– สนับสนุนในความพยายามและความสำเร็จทางการเรียนของนักเรียน
– เสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักเรียน
– ให้คำปรึกษา พูดคุย หรือการช่วยเหลือเมื่อนักเรียนพบปัญหาที่โรงเรียน

ตัวอย่างบทบาทของครูในห้องเรียนที่ช่วยส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียน

บาทของครูที่ช่วยส่งเสริมความสามารถในการอ่านของนักเรียน ได้แก่ วิธีการในการสอนของครู การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนนักเรียนของครู และการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่านของครู สามารถศึกษาตัวอย่างบทบาทของครูในแต่ละด้านที่กล่าวมาได้ทาง https://pisathailand.ipst.ac.th/pisa2018-reading-success-factor/

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์เหล่านี้ได้มุ่งเน้นไปที่บทบาทของครูในห้องเรียนวิชาภาษาไทย เนื่องจาก PISA 2018 เน้นประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านเป็นด้านหลัก PISA จึงมีการสอบถามนักเรียนถึงการเรียนการสอนในวิชาภาษาหลักที่นักเรียนใช้ในการเรียนการสอน สำหรับประเทศไทยจึงเป็นการเรียนการสอนในชั่วโมงเรียนวิชาภาษาไทย

อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนในวิชาอื่นก็สามารถส่งเสริมให้ครูมีบทบาทในการช่วยพัฒนาความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนได้ในลักษณะเดียวกัน


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/100064706947347/posts/347411004092462/?d=n