Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของรายงาน ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสามารถด้านการอ่านและแนวทางในการยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ตอนที่ 3/7
“การรู้กลวิธีในการอ่าน”
การยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดจากการส่งเสริมปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องส่งเสริมปัจจัยต่าง ๆ ควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพัฒนาทักษะและความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทยบรรลุผลสำเร็จได้ในที่สุด
สำหรับอินโฟกราฟฟิกฉบับนี้ ขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัย “การรู้กลวิธีในการอ่าน” เพื่อใช้ในการส่งเสริมความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวประกอบด้วย การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจและจดจำ เพื่อสรุปความ และเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจและจดจำ
นักเรียนที่ทราบวิธีที่เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจและจดจำสิ่งที่ได้อ่าน รวมถึงนักเรียนที่ทราบวิธีที่เป็นประโยชน์ในการสรุปความ จะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่ไม่ทราบว่าวิธีเหล่านั้นมีประโยชน์
กล่าวคือ นักเรียนที่รายงานว่า “การสรุปเนื้อเรื่องด้วยคำพูดของตัวเอง” “การขีดเส้นใต้ส่วนที่สำคัญ” และ “การอภิปรายเนื้อหาของเรื่องหลังจากอ่านเนื้อเรื่องแล้ว” เป็นวิธีที่มีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจและจดจำ จะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าวิธีเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์
การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อสรุปความ
สำหรับกลวิธีในการอ่านเพื่อสรุปความ พบว่า นักเรียนที่รายงานว่า “เมื่ออ่านบทความจะมีการขีดเส้นใต้ประโยคที่สำคัญแล้วเขียนสรุปด้วยถ้อยคำของตัวเอง” “มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบว่าข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดในบทความได้ถูกนำมาเขียนในบทสรุปแล้วหรือไม่” และ “ก่อนเขียนบทสรุป จะอ่านบทความหลาย ๆ รอบเท่าที่ทำได้” เป็นวิธีที่มีประโยชน์ต่อการสรุปความ จะมีคะแนนการอ่านสูงกว่านักเรียนที่รายงานว่าวิธีเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์
แต่สำหรับนักเรียนที่รายงานว่า “การคัดลอกประโยคมาตรง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้” เป็นวิธีที่มีประโยชน์ต่อการสรุปความจะมีคะแนนการอ่านน้อยกว่านักเรียนที่รายงานว่าวิธีนี้ไม่มีประโยชน์ ซึ่งค่อนข้างเห็นได้ชัดเจนว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการสรุปความ
การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล
หากนักเรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม นั่นคือ การตรวจสอบความน่าเชื่อถือเมื่อได้รับข้อมูลทางอีเมลก่อนที่จะตอบสนองต่อข้อมูลนั้น นักเรียนกลุ่มนี้ก็จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้คำนึงถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ
จากรายงาน PISA 2018 แสดงให้เห็นว่านักเรียนส่วนใหญ่ของไทยทั้งกลุ่มเก่งและกลุ่มอ่อนยังไม่ทราบวิธีที่เหมาะสมในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการจัดการกับข้อมูลที่เป็นลักษณะของข่าวปลอมหรือการหลอกลวง ดังนั้น จึงควรมีการสอนที่ช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แก่นักเรียน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูล การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น เป็นต้น
การรู้กลวิธีในการอ่านทั้งสามด้าน ได้แก่ การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อทำความเข้าใจและจดจำ การรู้กลวิธีในการอ่านเพื่อสรุปความ และการรู้กลวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่นักเรียนจะสามารถนำไปใช้เพื่อทำให้การอ่านเกิดประสิทธิภาพได้ ดังนั้น นักเรียนไทยจึงควรได้รับการปลูกฝังให้รู้ถึงกลวิธีในการอ่านเหล่านี้ให้มากขึ้น
กลวิธีสำหรับใช้ในการอ่านเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ
1. กลวิธีในการสร้างความเข้าใจและจดจำสิ่งที่อ่าน
• สรุปเนื้อเรื่องด้วยคำพูดของตนเอง
• ขีดเส้นใต้ส่วนที่สำคัญในเนื้อเรื่องที่อ่าน
• อภิปรายเนื้อหาของเรื่องที่อ่านกับผู้อื่น
2. กลวิธีในการสรุปใจความสำคัญของสิ่งที่อ่าน
• ขีดเส้นใต้ประโยคที่สำคัญแล้วเขียนสรุปด้วยถ้อยคำของตนเอง
• ตรวจสอบว่าได้นำข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดมาเขียนอยู่ในบทสรุปแล้วหรือไม่
• อ่านหลาย ๆ รอบเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงเขียนบทสรุป
3. กลวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน
• สร้างทักษะและรู้ถึงวิธีตรวจสอบแหล่งที่มาของเรื่องที่อ่าน
• สร้างทักษะและรู้ถึงวิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็น
ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง
https://www.facebook.com/145276782175385/posts/4740307076005643/?d=n