Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics นำเสนอการมีกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียนไทย ผลจากการประเมิน PISA 2018
PISA 2018 ได้ให้ความสำคัญในการวิเคราะห์เชิงลึกของปัจจัยด้านกรอบความคิดแบบเติบโต เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พลเมืองในสังคมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งบางครั้งก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลว
ทั้งนี้ หากพลเมืองมองว่าสิ่งที่เผชิญนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย หรือมองว่าความล้มเหลวที่พบเจอนั้นคือโอกาสในการพัฒนาตนเองพลเมืองเหล่านั้นก็จะสามารถเผชิญหน้ากับความยากลำบากและจัดการกับความพ่ายแพ้เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จได้
กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คือ ความเชื่อว่าความสามารถหรือสติปัญญาของบุคคลสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา โดยบุคคลที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะเป็นคนที่ชอบความท้าทาย มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีความมุมานะที่จะแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค ไม่ท้อถอยหรือกลัวความล้มเหลว และมีความคิดสร้างสรรค์
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูลสำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติการสอนที่ดีขึ้น และให้ข้อมูลจากประสบการณ์ของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้สนใจทั่วไป และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการศึกษาที่นำไปสู่การยกระดับความสามารถของนักเรียนไทยอย่างเป็นรูปธรรม
กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset)
คือ ความเชื่อว่าความสามารถหรือสติปัญญาของบุคคลสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา โดยบุคคลที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะเป็นคนที่ชอบความท้าทาย มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ มีความมุมานะที่จะแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค ไม่ท้อถอยหรือกลัวความล้มเหลว และมีความคิดสร้างสรรค์
ใน PISA 2018 ได้ให้นักเรียนรายงานว่าเห็นด้วยมากน้อยเพียงใดกับข้อความ “สติปัญญาของนักเรียนเป็นสิ่งหนึ่งในตัวของนักเรียนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้มากนัก”
นักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวจะเลือกตอบว่า “ไม่เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” นั่นแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า สติปัญญาของตนเองเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือกล่าวได้ว่า นักเรียนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อความดังกล่าวมีกรอบความคิดแบบเติบโตมากกว่านักเรียนที่เห็นด้วย
นักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโตมากน้อยเพียงใด
ข้อมูลจาก PISA 2018 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีกรอบความคิดแบบเติบโต นั่นคือ ใน 53 ประเทศ/
เขตเศรษฐกิจมีนักเรียนมากกว่า 50% ที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต ในขณะที่ประเทศไทยมีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43%
กลุ่มนักเรียนด้อยเปรียบของไทยมีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 36% ส่วนกลุ่มนักเรียนได้เปรียบมีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตถึง 56% ซึ่งนักเรียนสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตแตกต่างกันถึง 20%
กรอบความคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์กับผลการประเมิน PISA อย่างไร
ในเกือบทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมิน นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมีคะแนนการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว
สำหรับประเทศไทย นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีคะแนนการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัวอยู่ 47, 53 และ 51 คะแนน ตามลำดับ
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก OECD การมีกรอบความคิดแบบเติบโตส่งผลต่อกลุ่มนักเรียนด้อยเปรียบมากกว่ากลุ่มนักเรียนได้เปรียบ แต่สำหรับประเทศไทย การมีกรอบความคิดแบบเติบโตของนักเรียน ส่งผลต่อกลุ่มนักเรียนได้เปรียบมากกว่ากลุ่มนักเรียนด้อยเปรียบ ซึ่งทำให้ระหว่างนักเรียนด้อยเปรียบและได้เปรียบของไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมีช่องว่างความแตกต่างของคะแนนสูงมากทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
กรอบความคิดแบบเติบโตทำให้ผลการเรียนรู้ดีขึ้นได้อย่างไร
ใน PISA 2018 ได้สอบถามนักเรียนเกี่ยวกับเจตคติทั่วไป ได้แก่ การมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน การรับรู้ถึงความสามารถและศักยภาพของตนเอง และการกลัวความล้มเหลว นอกจากนี้ ยังได้สอบถามเกี่ยวกับเจตคติต่อการเรียนรู้ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ และการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในโรงเรียน
นักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตรายงานว่ามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน มีการรับรู้ถึงความสามารถและศักยภาพของตนเอง มีการตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ และมีการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในโรงเรียนสูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว นอกจากนี้ นักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตยังรายงานว่า มีการกลัวความล้มเหลวน้อยกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีเจตคติของนักเรียนกับคะแนนของนักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต พบว่า การมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในการทำงาน การรับรู้ถึงความสามารถและศักยภาพของตนเอง การตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ การกลัวความล้มเหลว และการเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ในโรงเรียน ส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต
กรอบความคิดแบบเติบโตมีความสัมพันธ์กับการมีชีวิตที่ผาสุกอย่างไร
นักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตรายงานว่ามีความรู้สึกเชิงบวกและมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว แต่นักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตและนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัวรายงานว่ามีการรับรู้ถึงความหมายของชีวิตไม่แตกต่างกัน
การรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนส่งผลเชิงบวกต่อคะแนนของนักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตมากที่สุด รองลงมา คือ ความรู้สึกเชิงบวก และการรับรู้ถึงความหมายของชีวิต ตามลำดับ ส่วนความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตส่งผลเชิงลบกับคะแนนของนักเรียนไทยที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต
นักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตจะมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว และความแตกต่างนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อนักเรียนรับรู้ถึงความหมายของชีวิต มีความรู้สึกเชิงบวก และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน
ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การมีกรอบความคิดแบบเติบโตส่งผลทั้งต่อผลการประเมินและการมีชีวิตที่ผาสุก ทั้งนี้อาจเป็นผลเนื่องมาจากหากนักเรียนมีกรอบความคิดแบบตายตัวก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการใช้ชีวิตหรืออาจทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตแย่ลงได้
บทบาทของครูมีความสัมพันธ์กับการมีกรอบความคิดแบบเติบโตอย่างไร
ความแตกต่างของคะแนนการอ่านระหว่างนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตและกรอบความคิดแบบตายตัวจะเพิ่มขึ้นเมื่อครูมีการสอนที่ปรับให้เหมาะสมกับผู้เรียน มีการกระตุ้นให้นักเรียนสนใจการอ่าน มีการสะท้อนความเห็นให้แก่นักเรียน ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน และมีการสอนที่เน้นครูเป็นผู้นำการสอน
ผลลัพธ์เหล่านี้บ่งบอกถึงบทบาทที่สำคัญของครูในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต
ข้อค้นพบที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่ช่วยในการเรียนรู้ควบคู่กับการมีกรอบความคิดแบบเติบโต
จากข้อมูลของ PISA พบว่า หากส่งเสริมให้นักเรียนมีกรอบความคิดแบบเติบโตควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้นักเรียนมีเจตคติในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ส่งเสริมให้นักเรียนมีความมุมานะและทุ่มเทในการทำงาน มีความสุขเมื่อทำได้ดีกว่าเดิม มีความภาคภูมิใจเมื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จ มีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ มีการรับรู้และเชื่อมั่นว่าสามารถหาทางออกได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีการตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนในห้องเรียน และเห็นคุณค่าของความพยายามในการเรียนว่าจะช่วยให้มีโอกาสในการศึกษาต่อและมีความมั่นคงในชีวิตและการงาน เป็นต้น ก็อาจช่วยกระตุ้นให้นักเรียนมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้นักเรียนมีโอกาสในการประสบผลสำเร็จทางการเรียนได้มากยิ่งขึ้น
ข้อค้บพบที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่ช่วยในการเรียนรู้ควบคู่กับการมีกรอบความคิดแบบเติบโต (ต่อ)
การมีกรอบความคิดแบบเติบโตจะทำให้นักเรียนมีการปรับตัวและมีสุขภาพจิตที่ดีซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นและอย่างผาสุก โดยนักเรียนอาจมีชีวิตที่ผาสุกมากขึ้นได้จากการได้รับการส่งเสริมหรือชี้แนะในด้านต่าง ๆ
เช่น ให้นักเรียนรับรู้ว่าชีวิตมีความหมายหรือค้นหาจุดประสงค์ของชีวิตที่ชัดเจนของนักเรียนเอง มีการรับรู้ว่าสิ่งใดที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย สามารถค้นหาความหมายที่น่าพึงพอใจของชีวิตได้ สร้างความรู้สึกเชิงบวกในชีวิต รู้จักวิธีหาเพื่อนหรือสร้างมิตรภาพ และสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนให้กับนักเรียน เป็นต้น
เพื่อสร้างความมั่นใจว่านักเรียนจะมีสุขภาพกายและใจที่ดี มีความสุข มีความพอใจกับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิต และมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ๆ
ข้อค้บพบที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่ช่วยในการเรียนรู้ควบคู่กับการมีกรอบความคิดแบบเติบโต (ต่อ)
ครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนากรอบความคิดแบบเติบโต รวมถึงการให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การที่มีครูคุณภาพดีไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับผลการเรียนรู้ให้กับนักเรียน แต่ยังช่วยสนับสนุนสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางด้านอารมณ์และสังคมให้กับนักเรียนด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมหรือพัฒนานักเรียนให้มีกรอบความคิดแบบเติบโตต้องอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการยอมรับที่จะปรับปรุงและแก้ไขระบบความคิดของตัวนักเรียนเองและสังคมรอบตัว รวมถึงการส่งเสริมจากทั้งผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักเรียนมีกรอบความคิดแบบเติบโตและนำไปสู่พฤติกรรมที่ช่วยในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืนต่อไป
เนื่องจากกรอบความคิดแบบเติบโตไม่ใช่ยาวิเศษในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ แต่เป็นองค์ประกอบที่ยึดโยงอยู่กับบริบทต่าง ๆ มากมาย และทำหน้าที่เป็นส่วนเติมเต็มให้กับระบบการศึกษาแต่ไม่สามารถเข้ามาทดแทนตัวระบบการศึกษาได้ ดังนั้น การนำไปใช้จึงเป็นไปในลักษณะที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน
การตัดสินใจในเชิงนโยบายไม่ควรดูผลการวิจัยว่าส่งผลมากน้อยเพียงใดเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงการขยายสู่วงกว้างและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย ซึ่งการส่งเสริมกรอบความคิดแบบเติบโตเป็นหนึ่งในวิธีที่เป็นการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนในวงกว้าง
อ่านรายงานฉบับเต็ม https://pisathailand.ipst.ac.th/pisa2018-growth-mindset/
ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/ipst.thai/posts/pfbid033WCm4br6iqNHi7n1MM3G7LSYNDSQj2FyugdsvGMPPiCLi1CaeWR1Au3scQecQxpWl