[INFOGRAPHICS] “FAKE News” กับความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics ของบทความ Focus ประเด็นจาก PISA ฉบับที่ 58 “FAKE News กับความฉลาดรู้ด้านการอ่านของ PISA


โลกยุคดิจิทัลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี จึงทำให้ธรรมชาติของการอ่านได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ในทุกวันนี้ หากนักเรียนสืบค้นข้อมูลบนสื่อออนไลน์ก็จะได้คำตอบนับล้านคำตอบซึ่งแล้วแต่ว่านักเรียนจะเลือกเชื่อว่าคำตอบใดถูกต้อง เป็นจริง และข้อมูลใดใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ดังนั้น การอ่านในโลกดิจิทัลจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งขึ้น

บางครั้งจึงดูเหมือนว่าความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลจะมาก่อนคุณภาพของข้อมูล สิ่งนี้จึงก่อให้เกิด “ข่าวปลอม” (FAKE News) หรือข้อมูลที่อาจจะบิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน ที่ความเชื่อหรือความคิดเห็นส่วนบุคคลมีอิทธิพลในการกำหนดความเห็นของสาธารณชน

จากผลการประเมินของ PISA 2018 พบว่า นักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD มีเพียง 9% ที่มีระดับความสามารถด้านการอ่านมากพอในการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น สำหรับประเทศไทยมีนักเรียนที่มีความสามารถดังกล่าวไม่ถึง 1%

ดังนั้น การสอนของครูในปัจจุบันจึงไม่ใช่เพียงแค่การสอนนักเรียนเพื่อให้ความรู้อีกต่อไป แต่ควรเป็นการช่วยให้นักเรียนพัฒนาทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่งข้อมูล การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและความคิดเห็น เป็นต้น



ใน PISA 2018 ได้มีการสอบถามนักเรียนถึงประสบการณ์ที่นักเรียนเคยได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาหรือใช้ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ พบว่า นักเรียนไทยที่รายงานว่าเคยได้รับการสอนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีสัดส่วนมากกว่าค่าเฉลี่ยประเทศสมาชิก OECD ซึ่งถือได้ว่านักเรียนไทยเคยได้รับการสอนทักษะต่าง ๆ มาพอสมควร

เช่น วิธีการใช้คำสำคัญเมื่อต้องใช้เครื่องมือสืบค้นข้อมูล และวิธีการตัดสินใจว่าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งมีนักเรียนไทยประมาณ 88% เคยได้เรียนเรื่องดังกล่าว ในขณะที่ประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนประมาณ 56% และ 69% ตามลำดับ

แต่สำหรับทักษะในการตรวจสอบอีเมลหลอกลวงหรืออีเมลขยะพบว่า เป็นเรื่องที่นักเรียนไทยและนักเรียนจากประเทศสมาชิก OECD เคยได้รับการสอนน้อยที่สุด


PISA ได้สอบถามนักเรียนโดยให้นักเรียนพิจารณาสถานการณ์จำลอง แล้วให้นักเรียนวิเคราะห์ว่าวิธีปฏิบัติแต่ละข้อมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด จากนั้นนำคำตอบของนักเรียนมาสร้างเป็นดัชนีการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล (Index of knowledge of strategies for assessing the credibility of sources)

แล้วถ้าคุณได้รับอีเมลเช่นเดียวกับสถานการณ์จำลองนี้ คุณคิดว่าวิธีการใดบ้างเป็นวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม


นักเรียนประมาณ 40% ของประเทศสมาชิก OECD รายงานว่า การคลิกที่ลิงก์เพื่อกรอกแบบฟอร์มโดยเร็วเป็นวิธีที่เหมาะสมพอสมควรหรือเหมาะสมอย่างยิ่งในการตอบสนองต่ออีเมลลักษณะนี้ สำหรับนักเรียนไทยมีนักเรียนที่รายงานเช่นนี้ถึง 67% ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ววิธีดังกล่าวเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการตอบสนองต่ออีเมลลักษณะดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าวิธีปฏิบัติใดเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สำหรับวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น ตรวจสอบที่อยู่อีเมลของผู้ส่งข้อความ ตรวจสอบเว็ปไซต์ของผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อดูว่ามีการแจกสมาร์ทโฟนหรือไม่ และลบอีเมลโดยไม่คลิกที่ลิงก์ พบว่า ในประเทศสมาชิก OECD มีนักเรียนประมาณ 60 – 80% ที่รายงานว่าวิธีเหล่านี้มีความเหมาะสม สำหรับนักเรียนไทยมีประมาณ 55 – 76%

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนไทยส่วนหนึ่งยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าวิธีปฏิบัติใดเป็นวิธีที่เหมาะสม หรือไม่ทราบถึงวิธีที่ถูกต้องในการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน นั่นคือ การตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน

เมื่อทำการวิเคราะห์เพื่อหาว่าการรู้ถึงวิธีในการประเมินความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อผลการประเมินด้านการอ่านของนักเรียนไทยมากน้อยเพียงใด พบว่า นักเรียนที่รายงานว่า “การตรวจสอบอีเมลของผู้ส่ง” เป็นวิธีที่เหมาะสม จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่รายงานว่าวิธีการปฏิบัติเช่นนั้นไม่เหมาะสมถึง 60 คะแนน

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่รู้ถึงวิธีปฏิบัติตัวที่เหมาะสมในการตรวจสอบความน่าเชื่อถือเมื่อได้รับข้อมูลทางอีเมลก่อนที่จะตอบสนองต่อข้อมูลนั้น จะมีคะแนนการอ่านมากกว่านักเรียนที่ไม่ได้คำนึงถึงการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ


สรุปได้ว่า นักเรียนไทยยังมีความรู้ที่ไม่เพียงพอหรือไม่ทราบถึงวิธีที่ถูกต้องในการประเมินความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่าน ในขณะที่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นทักษะที่จำเป็นมากต่อการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา

ดังนั้น จึงควรมีกิจกรรมหรือการเรียนการสอนที่ช่วยส่งเสริมการรู้ถึงวิธีปฏิบัติหรือวิธีตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้าไปในห้องเรียนด้วย เพื่อให้นักเรียนได้ทราบและฝึกฝนกลยุทธ์หรือวิธีการอ่านในด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะด้านการประเมินความน่าเชื่อถือ

เช่น การสอนให้นักเรียนทราบถึงแนวทางในการประเมินความน่าเชื่อถือสิ่งที่อ่านอย่างถูกต้อง นั่นคือ การตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือของสิ่งที่อ่านเพื่อให้การอ่านของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง

https://www.facebook.com/145276782175385/posts/4075531662483191/