[INFOGRAPHICS] การประเมินความคิดสร้างสรรค์ใน PISA 2022

Facebook: IPST Thailand ได้จัดทำ Infographics นำเสนอการประเมินความคิดสร้างสรรค์ใน PISA 2022

ความก้าวหน้าด้านการสร้างสรรค์ผลักดันให้วัฒนธรรมของมนุษย์ก้าวไปข้างหน้าในหลากหลายด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ปรัชญา ศิลปศาสตร์ และมนุษยศาสตร์

การคิดอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นมากกว่าการคิดทั่ว ๆ ไป แต่เป็นสมรรถนะที่จับต้องได้บนพื้นฐานของความรู้และการฝึกฝนที่ช่วยให้บุคคลสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น


การพัฒนาเครื่องมือการประเมินความคิดสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติสามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของนโยบายด้านการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนในทางที่ดีขึ้น 

การประเมินความคิดสร้างสรรค์ใน PISA 2022 จะทำให้ผู้ออกนโยบายมีเครื่องมือการวัดผลที่มีความเหมาะสม และสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลในการตัดสินใจ  

นอกจากนี้ ผลการประเมินยังจะกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านความสำคัญและวิธีการที่ระบบการศึกษาจะช่วยสนับสนุนให้เกิดสมรรถนะที่สำคัญนี้

บทบาทพื้นฐานของการศึกษาคือการทำให้นักเรียนมีสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างราบรื่นในสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความคิดสร้างสรรค์เป็นสมรรถนะหนึ่งที่เยาวชนในวันนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนจึงต้องมีความยืดหยุ่นและมีทักษะของศตวรรษที่ 21 ที่นอกเหนือไปจากการอ่านออกเขียนได้และการคิดคำนวณ   

การศึกษาที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้คนรุ่นใหม่สามารถปรับตัวและพัฒนาความสามารถของตนเองในการทำงานที่ไม่อาจทำแทนได้ง่ายโดยเครื่องจักรกล และรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลกด้วยแนวทางแก้ปัญหาที่ไม่ติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ  

PISA เลือกใช้นิยามของความคิดสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์กับนักเรียนอายุ 15 ปี ทั่วโลก โดยความคิดสร้างสรรค์ใน PISA 2022 มีนิยามว่า ความสามารถในการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้าง ประเมิน และปรับปรุง แนวคิด ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนาองค์ความรู้ และเป็นการแสดงออกถึงจินตนาการที่เกิดประโยชน์

นิยามของความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวเน้นให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ในทุกบริบทและทุกระดับการศึกษา นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลในการสร้างแนวคิด การสะท้อนแนวคิดโดยให้คุณค่าต่อทั้งความสอดคล้องและความแปลกใหม่ และการทบทวนแนวคิดซ้ำ ๆ จนได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ 

การประเมินความคิดสร้างสรรค์ของ PISA 2022 จะเน้นวัดเนื้อหากว้าง ๆ ใน 2 ด้าน คือ “การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์” และ “การสร้างสรรค์องค์ความรู้และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์”

“การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์” หมายถึง เหตุการณ์ที่ต้องใช้การคิดอย่างสร้างสรรค์ในการสื่อสารจากโลกภายในของคนคนหนึ่งไปถึงบุคคลอื่น โดยเนื้อหานี้แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ “การแสดงแนวคิดด้วยการเขียนบรรยาย” และ “การแสดงแนวคิดด้วยภาพ” ซึ่งการทำงานอย่างสร้างสรรค์ในด้านเหล่านี้มีลักษณะเป็นการใส่ใจและการตอบสนองที่แปลกใหม่ มีความเป็นศิลปะ สื่อถึงจินตนาการ และแสดงออกถึงอารมณ์

สำหรับ “การสร้างสรรค์องค์ความรู้และการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์” เป็นการใช้การคิดอย่างสร้างสรรค์ที่เชื่อมโยงกับการสำรวจปัญหาหรือคำถามปลายเปิด (ที่ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว) โดยเนื้อหานี้แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ “การแก้ปัญหาด้านวิทยาศาตร์” และ “การแก้ปัญหาด้านสังคม” ในด้านเหล่านี้ การทำงานอย่างสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือไปสู่ “ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น” และมีลักษณะเป็นการสร้างแนวทางแก้ปัญหาที่แปลกใหม่ เป็นนวัตกรรม ใช้ได้ผล และมีประสิทธิภาพ

โมเดลสมรรถนะนี้แบ่งการประเมินความคิดสร้างสรรค์ออกเป็น 3 ด้าน ตามจุดประสงค์ของการวัดผล ได้แก่ “การสร้างแนวคิดที่หลากหลาย” “การสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์” และ “การประเมินและปรับปรุงแนวคิด”

ข้อสอบจะวัดการคิดอย่างสร้างสรรค์โดยให้นักเรียนใช้กระบวนการทางการคิดอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างแนวคิด (การสร้างแนวคิดที่หลากหลายและการสร้างแนวคิดอย่างสร้างสรรค์) และในการประเมินและปรับปรุงแนวคิด 

ดังนั้น ข้อสอบจึงไม่ได้มีเพียงกระบวนการทางการคิดอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น นักเรียนยังจะต้องประเมินแนวคิดของผู้อื่นและให้คำแนะนำที่แปลกใหม่ในการปรับปรุงแนวคิดเหล่านั้นด้วย

คำว่า “แนวคิด” ที่ใช้ในบริบทของการประเมิน PISA มีได้หลายรูปแบบ เช่น เรื่องราว ภาพวาด แนวทางแก้ปัญหาด้านสังคม และคำถามการวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยชุดข้อสอบจะประกอบด้วยบริบทที่มีความหมายและมีข้อมูลพื้นฐานมากพอที่นักเรียนจะได้แสดงความสามารถในการสร้างแนวคิดหลาย ๆ แบบและคิดนอกกรอบ

ทักษะที่จำเป็นสำหรับกระบวนการทางการคิดเพื่อสร้างแนวคิด และประเมินและปรับปรุงแนวคิด ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับบริบท ตัวอย่างเช่น ทั้งการแต่งบทกลอนและการพิจารณาสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำการสำรวจในห้องทดลองอาจถูกมองว่าเป็นการสร้างแนวคิดที่แปลกใหม่ได้ทั้งคู่ แต่การคิดและทักษะที่เกี่ยวข้องกับด้านนั้น ๆ ที่บุคคลจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการคิดอย่างสร้างสรรค์ในกิจกรรมทั้งสองนี้มีความแตกต่างกัน และขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ในด้านนั้น ๆ ที่ต่างกัน

ในทำนองเดียวกัน การประเมินแนวคิดและการเลือกแนวคิดอาจใช้ทักษะการคิด ความรู้ และประสบการณ์ที่ต่างกันสำหรับการสร้างสรรค์ในด้านที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่น การแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ด้วยงานเขียนจะต้องมีการทบทวนปรับแก้ ซึ่งแสดงถึงความพยายามให้งานเขียนที่มีความชัดเจน คงเส้นคงวา และตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน แต่ในบริบทของวิทยาศาสตร์ การประเมินจะต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบว่าแนวทางแก้ปัญหานั้นมีความเป็นไปได้และมีประสิทธิภาพหรือไม่


ติดตามก่อนใคร กด Like กด Share และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ทาง https://www.facebook.com/100064706947347/posts/pfbid0GZUpYc2kCzrdCwNxjZ6oi77qxH18FxC2Y22RjdjzBvbYCFbFrdTs8g6N2T1WiX3Zl/?d=n