โลกรู้อะไรจากผลการประเมิน PISA

ยกระดับคุณภาพการศึกษา: แม้จะยากและนาน แต่ก็เป็นไปได้

PISA ประเมินผลการศึกษาเปรียบเทียบในระดับนานาชาติทุก ๆ สามปี เพื่อประเมินทักษะของเยาวชนอายุ 15 ปี จากทั่วโลกในสามด้านหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ ซึ่งผลการประเมินได้ให้สาระและข้อมูลที่สามารถเป็นบทเรียนสำหรับระดับนโยบายทั่วโลก จากการประเมิน PISA 2015 มีนักเรียนประมาณ 540,000 คน เป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ที่มีประมาณ 29 ล้านคน ในโรงเรียนจาก 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้รายงานผลการทดสอบเป็นคะแนนมาตรฐานของแต่ละด้านที่มีค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ประมาณ 490 คะแนน และคะแนนที่สูงหรือต่ำกว่ากัน 30 คะแนน สามารถประมาณได้ว่า มีคุณภาพการเรียนรู้แตกต่างกันประมาณหนึ่งปี

ที่ผ่านมา นักเรียนจากสิงคโปร์มีผลการประเมินอยู่ในกลุ่มสูงสุดอย่างต่อเนื่องและใน PISA 2015 มีคะแนนสูงสุดทุกด้าน โดยมีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์ 556 คะแนน ซึ่งประมาณคร่าว ๆ ได้ว่า มีการเรียนรู้ที่สูงกว่านักเรียนสหรัฐอเมริกา (496 คะแนน) ถึงสองปี หรือสูงกว่านักเรียนไทย (421 คะแนน) มากกว่าสี่ปี ประเทศ/เขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง(จีน) หรือจีนไทเป ก็มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ทุกด้าน ส่วนทางฝั่งประเทศตะวันตก เช่น แคนาดา และฟินแลนด์ก็มีคะแนนสูงพอ ๆ กับฮ่องกง(จีน) หรือเอสโตเนียที่มีคะแนนวิทยาศาสตร์ไม่แตกต่างจากญี่ปุ่นและมีคะแนนคณิตศาสตร์ใกล้เคียงกับเกาหลี ในฝั่งสหราชอาณาจักร John Jerrim แห่ง University College London ให้ข้อคิดว่า หนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศตะวันตกมีคะแนนเท่ากับประเทศในเอเชียคือ ต้องเล่นบท “คุณแม่จอมบงการ” และ “เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง” (The Economist, 2016) แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ PISA ก็อ้างว่า การศึกษามีความหมายมากกว่าคะแนนจากการสอบและไม่มีประโยชน์ที่จะให้ความสำคัญกับคะแนนมากเกินไป

แม้จะยอมรับว่า PISA มีจุดอ่อนอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นประโยชน์ในแง่ที่เป็นงานวิจัยที่มีอิทธิพลทางการศึกษามากด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ทำหน้าที่เป็นเสมือนให้เครื่องมือแนะแนวว่า ระดับนโยบายควรทำอย่างไรที่จะเติมเต็มการศึกษาของชาติ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ บอกว่าไม่ควรทำอะไรด้วย

ผลการประเมินยังชี้ว่า ในบรรดาประเทศยากจน ค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียนมีความเกี่ยวโยงกับคะแนนจากการประเมิน แต่ในประเทศร่ำรวย (ที่มีค่าใช้จ่ายเกินกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐต่อนักเรียนหนึ่งคน) ความเกี่ยวโยงนั้นกลับไม่ชัดเจน เป็นต้นว่า นักเรียนโปแลนด์กับเดนมาร์กมีคะแนนไม่แตกต่างกัน ในขณะที่นักเรียนเดนมาร์กมีค่าใช้จ่ายต่อหัวมากกว่านักเรียนโปแลนด์ถึง 50% หรือถ้ามองโรงเรียนเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าโรงเรียนของรัฐ เมื่อมองครั้งแรกก็จะเห็นว่า โรงเรียนเอกชนมีคะแนนสูงกว่า (กรณีนี้ไม่ใช่สำหรับประเทศไทย) แต่ถ้านำสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนและของโรงเรียนมาพิจารณาประกอบกันแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ในกรณีความยากจนมีความเกี่ยวโยงกับคะแนนต่ำก็ไม่เป็นจริงเสมอไป ในขณะที่นักเรียนยากจนของประเทศสมาชิก OECD ที่มีคะแนนไม่ถึงระดับพื้นฐานมีมากกว่านักเรียนร่ำรวยถึงสามเท่า ยิ่งเป็นนักเรียนที่เกิดในประเทศอื่น (นักเรียนที่เป็นผู้อพยพ) ยิ่งมีมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบรรดานักเรียนที่มีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงนั้นมีนักเรียนที่ฐานะยากจนถึง 29% โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเอสโตเนีย มีนักเรียนยากจนแต่มีคะแนนสูงเกือบครึ่งหนึ่ง

เงินไม่ใช่คำตอบทุกอย่างแต่เป็นวิธีการปฏิบัติ

คำกล่าวนี้บอกนัยถึงข้อมูลจากการวิจัยที่พบว่า การที่นักเรียนมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในแคนาดา เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฮ่องกง(จีน) และมาเก๊า(จีน) เกือบจะไม่มีความเกี่ยวโยงกับภูมิหลังด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เหตุผลอย่างหนึ่ง เช่น ในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เอสโตเนียมีจำนวนประชากรเด็กลดลงอย่างรวดเร็วกว่าจำนวนครู ปัจจุบันจึงมีนักเรียน 12 คนต่อครูหนึ่งคน ความจริงไม่ใช่ขนาดชั้นเรียนที่ลดลงทำให้นักเรียนได้คะแนนสูง แต่เป็นความเอาใจใส่ดูแลและช่วยเหลือนักเรียนอย่างทั่วถึงที่เป็นสาเหตุสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นเอสโตเนียยังมีวิธีการอื่นคือ พยายามไม่ให้มีนักเรียนซ้ำชั้นเพราะการให้ซ้ำชั้นจะทำให้ครูไม่สนใจสอนนักเรียนที่เรียนอ่อน และยังสะท้อนถึงความลำเอียงหรือการเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนอีกด้วย อย่างเช่น ในสหพันธรัฐรัสเซีย สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก นักเรียนชายที่เรียนอ่อนมีแนวโน้มที่จะถูกให้ซ้ำชั้นอีกหนึ่งปีแม้ว่าจะมีคะแนนสอบผ่าน

เอสโตเนีย ฟินแลนด์ และแคนาดา พยายามจะไม่ให้มีการแบ่งแยกนักเรียนตามความสามารถ การแยกนักเรียนว่า จะเป็นสายวิชาชีพหรือสายวิชาการจะทำอย่างช้าที่สุด หรืออย่างเร็วก็ต่อเมื่อนักเรียนมีอายุ 15 ปี หรือ 16 ปี เพราะเชื่อว่าการมีวิชาพื้นฐานที่เพียงพอจะทำให้ปรับตัวกับทักษะใหม่ ๆ ในอาชีพการงานได้ดีกว่า

ในทางตรงข้าม ถ้านักเรียนถูกแยกจากสายวิชาการตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะแยกโรงเรียนหรือแยกโปรแกรมในโรงเรียนเดิมพบว่า ช่องว่างระหว่างนักเรียนยากจนกับนักเรียนที่ร่ำรวยจะกว้างขึ้น ในเนเธอร์แลนด์พบว่า นักเรียนอาชีวศึกษามีผลการประเมินต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนทั่วไปถึงสามปี เรื่องนี้ Andreas Schleicher แห่ง OECD กล่าวว่า “ยิ่งนักเรียนถูกแยกจากวิชาการมากเท่าไร นักเรียนยิ่งถูกแยกตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นเท่านั้น” ผลการวิจัยเช่นนี้จึงไม่แนะนำให้ระบบการศึกษาของประเทศใดแยกกลุ่มนักเรียนตามความสามารถแม้จะอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน

เมื่อกลับมามองระบบการศึกษาของไทย ในโรงเรียนทั่วไปจากการตอบแบบสอบถามของครูใหญ่ได้ข้อมูลว่า นักเรียนประมาณ 76% ถูกแยกกลุ่มตามเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง เป็นต้นว่า แยกห้องเรียนตามผลการเรียนทางวิชาการ แยกกลุ่มตามความสามารถในบางวิชา โดยเฉพาะการแยกสายการเรียนไม่ว่าจะไปทางสายวิชาการหรือสายวิชาชีพ เนื่องจากข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างของ PISA (คือ กลุ่มอายุ 15 ปี) พบว่า ประมาณ 75% เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือ ปวช.1 แสดงว่า นักเรียนต้องตัดสินใจเลือกทางเดินตั้งแต่อายุ 14 ปี ซึ่งวุฒิภาวะยังน้อยเกินไปในการตัดสินใจ

ระบบการศึกษาในกลุ่มคะแนนสูงสุดหรือกลุ่มบนสุด (Top performers) เน้นเรื่องความเป็นไปในชั้นเรียนทั้งเรื่องการใช้เวลาและความพยายามต่าง ๆ มากกว่าจะให้ความสำคัญกับโครงสร้างของระบบโรงเรียน ในประเทศเหล่านั้นครูได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมืออาชีพ และครูเองก็ปฏิบัติตนแบบมืออาชีพด้วย ครูใช้เวลาเตรียมการสอน เรียนรู้จากเพื่อนครูด้วยกันและเป็นผู้นำการเรียนการสอนไม่ใช่ตามนักเรียน ครูมีความคาดหวังทางวิชาการสูงกับนักเรียนเกือบทุกคนว่า นักเรียนต้องมีผลการเรียนในมาตรฐานสูง และพฤติกรรมเหล่านี้ถูกตัดสินโดยผลการประเมินนานาชาติไม่ใช่จากสภาหรือหน่วยงานที่ดูแลครู

ประเทศที่กระตือรือร้นใช้ผลการประเมินยกระดับคุณภาพการเรียนรู้

โปรตุเกสเคยมีผลการประเมินเท่ากับไทยในระยะแรก แต่ได้มีความเคลื่อนไหวที่จะยกระดับถึงแม้จะเริ่มช้าตั้งแต่ PISA 2006 แต่ก็เริ่มมีผลการประเมินดีขึ้นเรื่อย ๆ ทุกด้าน เรียกว่า ยกระดับคุณภาพการเรียนได้เท่ากับหนึ่งปีจากที่เคยมีคะแนนต่ำ ขณะนี้มีคะแนนสูงกว่าสหรัฐอเมริกาและสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แล้ว

สาเหตุสามประการที่ทำให้โปรตุเกสสามารถยกระดับขึ้นได้ คือ 1) เริ่มจากความจริงจังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการ (Mr.Nuno Crato) ในขณะนั้นซึ่งไม่พอใจกับผลการประเมินโดยเริ่มให้มีการสอบมาตรฐานใหม่ใช้กับโรงเรียน 2) มีหลักสูตรใหม่ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นซึ่งเริ่มใช้ในปี 2011 และ 3) ลดการแบ่งแยกนักเรียนตามความสามารถ โดยนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนจะได้รับการสอนพิเศษจากครู ซึ่งนักเรียนก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของห้องและได้เรียนรู้กับเพื่อนหรือเรียนรู้จากเพื่อน

การที่โปรตุเกสได้ชื่อว่า เป็นมหาอำนาจทางการศึกษา Mr.Nuno Crato ได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ต้อง “มีครูที่ถูกเตรียมมาอย่างดี” แต่สำหรับในโปรตุเกสไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ครูทำอะไรมากมายเพราะมีสหภาพครูคอยปกป้องสิทธิของสมาชิก เช่น ต่อต้านการที่จะต้องมีการสอบครูก่อนที่จะยอมให้เข้าไปสอนได้ โปรตุเกสสามารถยกระดับได้ทั้ง ๆ ที่ประเทศถูกลดงบประมาณด้านการใช้จ่ายสาธารณะ และ Mr.Nuno Crato ยังกล่าวด้วยว่า “เงินถึงแม้จะสำคัญ แต่ไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมด” (The Economist, 2016)

ความพยายามของเปรู

เปรูเป็นประเทศที่มีคะแนนต่ำมากตั้งแต่การประเมินในครั้งแรก (PISA 2000) แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีประเทศใดสามารถยกระดับขึ้นได้มากกว่าเปรู จนถึง PISA 2015 เปรูมีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่ม 64 คะแนน คะแนนการอ่านเพิ่ม 71 คะแนน และคะแนนคณิตศาสตร์เพิ่ม 95 คะแนน ซึ่งประมาณเท่ากับการเรียนที่สูงขึ้น 2 ถึง 3 ปี เปรูต้องใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะมีชนเผ่ามากมายที่มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน มีความเชื่อและแนวปฏิบัติเฉพาะเผ่า รัฐบาลเปรูต้องออกมาตรการหลายอย่างที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ก่อนอื่นรัฐบาลต้องออกกฎหมายให้พ่อแม่พาลูกเข้าโรงเรียนมิฉะนั้นต้องมีโทษถึงติดคุก แม้ประเทศจะยากจนมากแต่เปรูดำเนินการอบรมครูอย่างหนักทั่วประเทศ โดยครูต้องเสียสละเพราะรัฐบาลไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ให้แม้แต่การเดินทาง และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เปรูเพิ่มเวลาการอ่านในโรงเรียน

นอกจากเปรูแล้ว หลายประเทศก็มีผลการประเมินสูงขึ้นเพราะประเทศเหล่านั้นให้ความสนใจอย่างจริงจังและใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา โปแลนด์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีคะแนนเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญจากคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ปัจจุบันมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD แล้ว โดยเทียบคะแนนใน PISA 2000 กับ PISA 2015 พบว่า มีคะแนนวิทยาศาสตร์เพิ่ม 18 คะแนน คะแนนการอ่านเพิ่ม 27 คะแนน และคะแนนคณิตศาสตร์เพิ่ม 34 คะแนน แต่สำหรับประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบ PISA 2000 กับ PISA 2015 นอกจากคะแนนไม่สูงขึ้นแล้วยังมีคะแนนลดต่ำลงทุกวิชา ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายให้กับผู้รับผิดชอบเชิงนโยบายในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ


รูป 1 การเปลี่ยนแปลงคะแนนการอ่านของประเทศคะแนนต่ำใน PISA 2000 และ PISA 2015

สรุปคะแนนที่เปลี่ยนแปลงของสามด้านหลักใน PISA 2000 และ PISA 2015

ที่มา: OECD, 2016


PISA เปรียบเหมือน X-ray ในระบบการศึกษาของชาติ แม้จะไม่สามารถแสดงภาพได้หมดทั้งระบบแต่ก็สามารถบอกจุดที่เจ็บป่วยได้ แต่น่าเศร้าที่ระดับนโยบายบางประเทศหลบเลี่ยงที่จะมองจุดที่เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วย แต่กลับพยายามกลบเกลื่อนหรือสร้างภาพขึ้นปิดบังจุดที่เจ็บป่วยนั้นแทนที่จะให้การเยียวยารักษา การวิจัยนานาชาตินี้ไม่ได้ให้ผลเฉพาะคะแนนแต่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่างที่ชี้แนะถึงการยกระดับคุณภาพการศึกษา แต่ยังถูกเพิกเฉยจากระดับนโยบายทางการศึกษาหลายระบบ

อ่านเพิ่มเติม


 ดาวน์โหลด (PDF, 943KB)